x close

ศาลเลื่อนแถลงคำวินิจฉัยกฎหมายแต่งงาน อีกหนึ่งก้าวใหญ่สู่ สมรสเท่าเทียม


           ศาลรัฐธรรมนูญ เลื่อนวินิจฉัยกฎหมายแพ่ง สมรสเฉพาะชาย - หญิง ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นวันที่ 14 ธันวาคม 2564 หลายฝ่ายจับตา อาจส่งผลกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ยังค้างในสภา

สมรสเท่าเทียม
ภาพจาก Daniel Jedzura / shutterstock.com

            กลายเป็นอีกหนึ่งกฎหมายที่ได้รับความสนใจจากสังคม สำหรับ สมรสเท่าเทียม ซึ่งจะครอบคลุมการสมรสให้กับคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยหนึ่งในสิ่งสำคัญต่อการขับเคลื่อนกฎหมายนี้ คือการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ซึ่งจะมีการอ่านผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 28 กันยายน 2564

            ล่าสุด (28 กันยายน) เพจเฟซบุ๊ก iLaw รายงานว่า มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi) รายงานความคืบหน้าการอ่านผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการวินิจฉัยคดีดังกล่าวไปวันที่ 14 ธันวาคม 2564 จึงยังต้องติดตามต่อไปว่าการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศครั้งนี้จะมีผลเป็นอย่างไร

            ปัจจุบันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ถูกเสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ปี 2563 แต่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการสมรสว่าจะจำกัดแค่เพศ ชาย - หญิง หรือไม่ จึงถูกมองว่าเป็นหนึ่งหนทางสำคัญในการมีสมรสเท่าเทียมในประเทศไทย

            ขณะที่ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เผยถึงแนวทางในการขับเคลื่อนหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

ถ้าคำวินิจฉัยคือ ขัดรัฐธรรมนูญ


            - จะเป็นการต่อสู้สำหรับคู่รักที่จะจดทะเบียนสมรส หากถูกนายทะเบียนปฏิเสธการขอจดทะเบียนสมรส โดยนายทะเบียนควรหารือกับสำนักงานกฤษฎีกา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะมีคำสั่งรับหรือไม่รับจดทะเบียน

ถ้าคำวินิจฉัยคือ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ


            - มูลนิธิฯ และทีมทนาย จะรณรงค์ผลักดันให้รัฐบาลใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ด้วยเหตุว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นและยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนและดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่าย เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

สมรสเท่าเทียม
ภาพจาก kan Sangtong / Shutterstock.com

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับ สมรสเท่าเทียม ประกอบด้วย


            - การแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับการสมรส จากเดิมที่ระบุ ความสัมพันธ์ระหว่างสามี ภริยา เป็น ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส

            - ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา เป็น ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส รวมถึงการแบ่งมรดกของผู้ตายที่มีคู่สมรส โดยได้ขอแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า สามีและภรรยา เป็น คู่สมรส

การหมั้น

            - ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศซึ่งมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ทำการหมั้นกันได้
            - เสนอกำหนดคำศัพท์ขึ้นใหม่เป็น ผู้หมั้น และ ผู้รับหมั้น แทนคำว่า ชาย และ หญิง
            - แบบของการหมั้นให้ผู้หมั้นส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินให้กับผู้รับหมั้น ในส่วนของเรื่องสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่หมั้นยังคงตามหลักการเดิม เพียงแต่ปรับถ้อยคำเป็น ผู้หมั้น และ ผู้รับหมั้น

การสมรส

            - ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศซึ่งมีอายุ 18 บริบูรณ์ สามารถสมรสกันได้ หรือหากมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

            - สำหรับเงื่อนไขการสมรสยังคงหลักการเดิม แต่มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า ชาย หรือ หญิง เป็น บุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล เช่น

            - บุคคลซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา จะทำการสมรสกันมิได้
            - บุคคลจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสไม่ได้
            - การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองยินยอมเป็นคู่สมรส
            - คู่สมรสต้องอยู่กินกันฉันคู่สมรสและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามความสามารถและฐานะของตน
            - การจัดการทรัพย์สิน หนี้สินของคู่สมรส สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส
            - การหย่า เหตุหย่า การฟ้องหย่าระหว่างคู่สมรส สิทธิได้รับค่าทดแทน การแบ่งสินสมรส
            - การเป็นผู้อนุบาลคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง กรณีศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
            - การรับบุตรบุญธรรม
            - การรับมรดก กรณีผู้ตายมีคู่สมรส ต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยให้นำเรื่องส่วนแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส และคู่สมรสที่ร้างกันหรือแยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่ากันตามกฎหมาย ยังคงมีสิทธิโดยธรรมในการสืบมรดกซึ่งกันและกัน

สมรสเท่าเทียม จะเปิดโอกาสให้บุคคลเพศเดียวกันได้รับสิทธิในการสมรส เช่น


            - สิทธิในการใช้นามสกุล
            - สิทธิในการเซ็นยินยอมในการรักษาพยาบาล เช่น การผ่าตัด ให้ยา หรือหยุดรักษาในกรณีเร่งด่วน
            - สิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรักษา
            - สิทธิในการกู้เงินซื้อบ้านและทำประกันชีวิตร่วมกันในฐานะคู่สมรส
            - สิทธิทางมรดก คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกก่อนทายาทลำดับอื่น
            - สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม
            - สิทธิในการจัดการศพ เช่น การรับศพออกจากโรงพยาบาล การรับเงินสงเคราะห์ค่าทำศพ การขอออกใบมรณบัตร
            - สิทธิในการใช้สถานะสมรสเพื่อลดหย่อนภาษี
            - สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน
            - สิทธิเข้าเยี่ยมในเรือนจำกรณีที่นักโทษป่วย ในฐานะคู่สมรส
            - สิทธิในการขอวีซ่าเดินทาง กรณีบางประเทศต้องตรวจสอบยอดเงินในบัญชี คู่สมรสสามารถยื่นบัญชีของอีกฝ่ายเป็นหลักฐานได้ เป็นต้น

สมรสเท่าเทียม
ภาพจาก เฟซบุ๊ก iLaw

ขอบคุณข้อมูลจาก iLaw, มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศาลเลื่อนแถลงคำวินิจฉัยกฎหมายแต่งงาน อีกหนึ่งก้าวใหญ่สู่ สมรสเท่าเทียม อัปเดตล่าสุด 28 กันยายน 2564 เวลา 17:01:03 6,897 อ่าน
TOP