x close

สรุปประเด็น #สมรสเท่าเทียม เมื่อศาลชี้ ชาย-หญิง แต่งงานไม่ขัด รธน. แล้ว LGBTQ ไปยังไงต่อ


         ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยจดทะเบียนสมรสเฉพาะชาย - หญิง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แนะควรตรากฎหมายแยก อาจคนละแนวทางกับสมรสเท่าเทียม ที่จะแก้ไขกฎหมาย โซเชียลผุดแฮชแท็กขึ้นเทรนด์

#สมรสเท่าเทียม
ภาพจาก Daniel Jedzura / shutterstock.com

            จากการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศที่สังคมกำลังจับตามอง โดยเฉพาะร่างกฎหมาย สมรสเท่าเทียม ซึ่งยังคงรอพิจารณาจากสภา รวมทั้งต้องรอความชัดเจนจากการตีความของ ศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ นั้น

            ล่าสุด วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ข่าวช่อง 3 รายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการพิจารณาวินิจฉัย กรณีขอจดทะเบียนสมรสของบุคคลหลากหลายทางเพศ เรื่องการสมรสของชาย - หญิง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อสังเกตว่ารัฐสภาคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สมควรดำเนินการตรากฎหมาย เพื่อรองรับสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป

            กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก น.ส.พวงเพชร และนางเพิ่มทรัพย์ คู่รักซึ่งมีเพศตามทะเบียนราษฎรเป็นเพศหญิง ได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ถูกนายทะเบียนปฏิเสธ ทั้งคู่จึงให้ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรส หากนายทะเบียนปฏิเสธก็ขอให้ศาลส่งคำโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รองรับการสมรสเฉพาะชาย-หญิงขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

            สำหรับมาตรา 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า การสมรสจะทำได้เมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปี บริบูรณ์แล้ว หรือในกรณีมีเหตุสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนหน้านั้นได้ ขณะที่มาตรา 4 และมาตรา 5 เป็นบททั่วไป ที่วางหลักการคุ้มครองเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้

ศาลรัฐธรรมนูญ
ภาพจาก ข่าวช่อง 3

ทวิตเตอร์ดัน #สมรสเท่าเทียม ขึ้นเทรนด์


            ภายหลังคำตัดสินดังกล่าว โลกออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ได้ดันแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม จนขึ้นมาติดอันดับที่ 3 ของไทย โดยเนื้อหานั้นสนับสนุนแนวทางสมรสเท่าเทียม เนื่องจากปัจจุบันคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่สามารถแต่งงานกันได้ มองงว่าการแต่งงานไม่ควรใช้เพศมากำหนด ซึ่งหากจะมีการแก้ไขกฎหมายก็จะสนับสนุนแนวทางของ สมรสเท่าเทียม เพราะมีการให้ความเท่าเทียมทางเพศในการแต่งงานมากกว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต

การวินิจฉัยนี้ มีความหมายอย่างไรกับ สมรสเท่าเทียม


            เกี่ยวกับเรื่องนี้ iLaw มีข้อสังเกตว่า ในข่าวดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญตั้งข้อสังเกตให้ "ตรากฎหมาย" รับรองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่ได้ตั้งข้อสังเกตโดยระบุเจาะจงให้ "แก้ประมวลกฎหมายแพ่งฯ" ซึ่งกำหนดการสมรสเฉพาะชาย - หญิง นี่อาจเป็นหนึ่งสัญญาณที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เลือกผลักดัน "ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต" ที่เป็นกฎหมายแยก ให้เฉพาะคู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต ซึ่งเป็นคนละแนวทางกับการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้ทุกคนจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายเดียวกัน อย่าง สมรสเท่าเทียม

            ทั้งนี้ เมื่อกลางปี 2563 ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรมาเกินหนึ่งปีแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง ก็ต้องจับตาต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้ว แนวทางรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย จะไปทาง สมรสเท่าเทียม คือ แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ออกกฎหมายแยกเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต

#สมรสเท่าเทียม
ภาพจาก ilaw

ข้อแตกต่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับ สมรสเท่าเทียม


บุคคลที่ได้รับรองสิทธิตามกฎหมาย

            ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ได้กำหนดนิยาม คู่ชีวิต ให้หมายถึงบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายคู่ชีวิตเนื่องจากไม่สามารถใช้สิทธิจดทะเบียนสมรสได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ประมวลกฎหมายอาญาแพ่งและพาณิชย์) เพราะเหตุแห่งเพศสภาพ จึงใช้ได้เฉพาะการจดทะเบียนของชายและชาย หญิงและหญิงเท่านั้น ในขณะที่ สมรสเท่าเทียม มุ่งไปที่แก้ไขถ้อยคำเดิมที่ยังสะท้อนถึงฐานความคิดสองเพศ เช่น ชาย หญิง สามี ภรรยา เป็นคำใหม่ที่ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะมีเพศใดได้รับรองสิทธิตามกฎหมาย
 
การหมั้น

            ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการหมั้น ในขณะที่ สมรสเท่าเทียม เปิดโอกาสให้ทุกเพศสามารถทำการหมั้นได้ โดยกำหนดให้บุคคลสามารถทำการหมั้นเพื่อเป็นสัญญาว่าจะแต่งงานกันต่อไปเมื่อมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ โดยทั้งสองฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนของหมั้น และบุคคลทั้งสองฝ่ายต่างส่งมอบสินสอดให้แก่บุพการีของอีกฝ่าย โดยไม่จำกัดให้เฉพาะฝ่ายชายที่ต้องส่งมอบสินสอดให้บิดามารดาของฝ่ายหญิง

อายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนเพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว

            ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กำหนดไว้ที่ 20 ปีบริบูรณ์ ต่างจากการสมรสของชายหญิงตาม ประมวลกฎหมายอาญาแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดไว้ที่ 17 ปีบริบูรณ์โดยต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา และหากมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็สามารถจดทะเบียนสมรสได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม ในขณะที่ สมรสเท่าเทียม อายุขั้นต่ำในการสมรสเริ่มที่ 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ก็ยังคงหลักการเดิมไว้ว่าหากมีกรณีสมควร เช่น เด็กตั้งครรภ์ก่อนอายุที่จะทำการสมรสได้ ก็ให้ศาลอนุญาตให้ทำการสมรสก่อน
 
สิทธิต่าง ๆ ในทางกฎหมาย

            พ.ร.บ.คู่ชีวิต ระบุว่ามีสิทธิทำการต่าง ๆ ในฐานะคู่ชีวิต เช่น ให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล ดำเนินคดีอาญาแทนคู่ชีวิตของตน การจัดการศพ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนการขาดไร้อุปการะกรณีที่มีผู้ทำละเมิดต่อคู่ชีวิตของตน ฯลฯ ในขณะที่ สมรสเท่าเทียม จะทำให้คู่สมรสทุกเพศได้สิทธิตามกลไกปกติของกฎหมาย
 
การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน

            พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาตาม ประมวลกฎหมายอาญาแพ่งและพาณิชย์ มาใช้โดยอนุโลม กล่าวคือทรัพย์สินที่หามาได้ก่อนจดทะเบียนคู่ชีวิตนั้นจะเป็นสินส่วนตัวซึ่งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งสามารถจัดการได้โดยลำพัง และทรัพย์สินที่หามาได้ระหว่างจดทะเบียนคู่ชีวิตจะมีลักษณะเป็นสินสมรส ซึ่งการจัดการสินสมรสบางกรณีต้องได้รับความยินยอมจากคู่ชีวิตอีกฝ่าย เช่น การขาย การจำนองอสังหาริมทรัพย์ ให้กู้ยืมเงิน สำหรับ สมรสเท่าเทียม ก็จะทำให้บุคคลทุกเพศมีสถานะเป็นคู่สมรส และใช้หลักการในการจัดการทรัพย์สินตามกลไกปกติของกฎหมาย
 
การสิ้นสุดความสัมพันธ์ตามกฎหมาย

            พ.ร.บ.คู่ชีวิต ใช้กระบวนการที่คล้ายคลึงกับการหย่าของชายหญิงตาม ประมวลกฎหมายอาญาแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ สามารถใช้วิธีจดทะเบียนเลิกคู่ชีวิตได้ตามความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย หรือใช้กระบวนการศาลโดยต้องมีเหตุที่จะขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนคู่ชีวิต และอีกกรณีหนึ่งคือคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต สำหรับ สมรสเท่าเทียม ก็จะทำให้คู่สมรสทุกเพศสามารถใช้กลไกการหย่าได้ตามปกติ
 
            การรับมรดก นำกฎหมายมรดกตามประมวลกฎหมายอาญาแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวคือเมื่อคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตโดยไม่ได้ทำพินัยกรรม คู่ชีวิตฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ก็สามารถรับมรดกได้ในฐานะทายาทโดยธรรมเหมือนคู่สมรสชายหญิง สำหรับ สมรสเท่าเทียม ก็จะทำให้บุคคลทุกเพศมีสถานะเป็นคู่สมรส อันเป็นทายาทโดยธรรมที่จะได้รับมรดกกรณีที่ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรม
 
การมีบุตร

           พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ได้บัญญัติเรื่องการรับบุตรบุญธรรมไว้เป็นการเฉพาะ คู่ชีวิตที่ต้องการรับบุตรบุญธรรมต้องไปใช้หลักการตามประมวลกฎหมายอาญาแพ่งและพาณิชย์ โดยบุตรบุญธรรมหนึ่งคน จะมีผู้รับบุตรบุญธรรมได้เพียงแค่หนึ่งคนเท่านั้น มีแค่ คู่สมรส ตามประมวลกฎหมายอาญาแพ่งและพาณิชย์ จึงจะสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ ทำให้คู่ชีวิตอาจไม่สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ แต่หลังจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งทางออนไลน์และผ่านงานสาธารณะแล้ว ได้มีปรับเปลี่ยนโดย อนุญาตให้คู่ชีวิตรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ แต่ก็ยังไม่มีการรับรองกลไกการมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีทางชีวภาพ ขณะที่แนวทาง สมรสเท่าเทียม เปิดโอกาสให้ทุกเพศรับบุตรบุญธรรมได้ สำหรับการมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีทางชีวภาพ
 
สิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ

           พ.ร.บ.คู่ชีวิต ได้กำหนดถ้อยคำที่แยกออกมาเป็น คู่ชีวิต ทำให้คู่ชีวิตขาดโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ที่รัฐได้กำหนดไว้ให้ คู่สมรส เช่น การลดหย่อนภาษีของคู่สมรสตามประมวลรัษฎากร สำหรับ สมรสเท่าเทียม จะทำให้คู่สมรสมีโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐที่รับรองแก่ คู่สมรส

#สมรสเท่าเทียม
ภาพจาก ilaw

ขอบคุณข้อมูลจาก ข่าวช่อง 3, ilaw, ilaw


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปประเด็น #สมรสเท่าเทียม เมื่อศาลชี้ ชาย-หญิง แต่งงานไม่ขัด รธน. แล้ว LGBTQ ไปยังไงต่อ อัปเดตล่าสุด 18 พฤศจิกายน 2564 เวลา 12:14:33 3,923 อ่าน
TOP