x close

รู้จักการดริปมอร์ฟีน ส่งผู้ป่วยภาวะสุดท้ายให้จากไปอย่างสงบ จบดราม่า ทำคนไข้เสียชีวิตเร็ว

          รู้จักการดริปมอร์ฟีน ส่งผู้ป่วยภาวะสุดท้ายให้จากไปอย่างทรมานให้น้อยที่สุด หมอยันไม่ใช่การการุณยฆาต เพราะตายจากโรค และนักจริยศาสตร์ให้การยอมรับเรื่องนี้ หลังจากมีดราม่าว่าทำให้ตายเร็วขึ้น

ดริปมอร์ฟีน
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

         จากกรณีที่คุณหมอท่านหนึ่งป่วยเป็นมะเร็งปอดมานานกว่า 3 ปี โดยในช่วงท้ายของชีวิตของเธอทรมานมาก จนทางแพทย์มีการใช้ดริป มอร์ฟีน (drip morphine) เพื่อทำให้เธอเสียชีวิตอย่างสงบ ซึ่งเรื่องนี้ตอนแรกเธอไม่ให้ความยินยอม เพราะรับไม่ได้ ก่อนที่จะเปลี่ยนใจมายินยอมภายหลัง อย่างไรก็ตาม มีคนตั้งข้อสงสัยว่า การดริปมอร์ฟีน คืออะไร และต่างจากการการุณยฆาตหรือไม่ วันนี้มีคนมาให้คำตอบแล้ว

          วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 เฟซบุ๊ก Issarang Nuchprayoon ของ นพ.อิศรางค์ นุชประยูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง มีการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การ drip morphine เป็นปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ใช้กับผู้ป่วยมะเร็งปอดที่กำลังทรมานจากมะเร็งระยะสุดท้าย เนื่องจากตอนนี้มีก้อนอยู่เต็มปอด เนื้อที่ปอดที่ใช้ได้ลดลง จนทำให้เกิดอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก

          สำหรับหลักการการดูแลคนไข้อาการแบบนี้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เรายังสามารถทำให้ผู้ป่วยหายจากความทรมาน เช่น อาการเหนื่อยหอบ แต่ยังมีสติเพื่อที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ วิธีการนั้นก็คือ การมอร์ฟีนในระดับที่สมดุลกับร่างกาย หมายถึง ให้มอร์ฟีนในปริมาณที่มากพอที่จะบำบัดความเหนื่อยและความปวด แต่ก็อย่าให้มากเกินไปจนถึงขั้นคนไข้ไม่ได้สติ

          อย่างไรก็ตาม เมื่อมีก้อนในปอดมากขึ้น ความเหนื่อยหอบก็มากขึ้นด้วย เพราะพื้นที่แลกเปลี่ยนก๊าซลดลง กระทั่งเมื่อไปถึงจุดหนึ่ง เช่น พื้นที่ในปอดเหลือเพียง 10% ของคนปกติ ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา ถ้าไม่อยากให้เหนื่อย ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการให้มอร์ฟีนจำนวนมากพอที่จะช่วยให้หลับตลอดเวลา และผู้ป่วยบางรายก็เลือกที่จะยอมหลับตลอดเวลา หรือเรียกว่า palliative sedation (การดูแลแบบประคับประคอง)

          การให้มอร์ฟีนลักษณะนี้ ผู้ป่วยสามารถพ้นทุกข์จากการเหนื่อยหอบได้ เพราะมอร์ฟีนลดการปล่อยสัญญาณประสาทที่สื่อความรู้สึกเหนื่อย ทำให้หายใจสบายขึ้น คือ ช้าลงจนใกล้เคียงกับคนปกติ จึงไม่เรียกว่าเกินขนาด ดังนั้น การแลกเปลี่ยนก๊าซย่อมน้อยลง ร่างกายจึงถึงแก่ความตายเร็วขึ้นกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับมอร์ฟีน แต่การไม่ให้มอร์ฟีน คนไข้จะอยู่ได้นานกว่า แต่ก็อยู่ด้วยความทรมาน เรียกได้ว่า เหนื่อยจนขาดใจตาย


          ดังนั้น นักจริยศาสตร์จึงเห็นพ้องต้องกันว่า การให้มอร์ฟีน มีทั้งผลดีคือการหายเหนื่อย แต่ก็มีผลเสียคือ ตายเร็วขึ้นเล็กน้อย ทั้งหมดทำไปเพราะประสงค์ดี ถือเป็นสิ่งที่ชอบด้วยจริยศาสตร์ พึงกระทำได้

ความจริงอีกด้านของมอร์ฟีน ไม่ได้ฉีดแล้วทำให้ผู้ป่วยตายเสมอ


          แต่ถึงอย่างไรการดริปมอร์ฟีน ก็มีความเสี่ยงทำให้ถูกมองว่า เป็นการทำให้ผู้ป่วยตาย เพราะผู้ป่วยคนนี้ อาจจะพยายามต่อสู้เพื่อยื้อความตายอยู่ก่อน มีเหตุการณ์ที่ทำใจไม่ได้เมื่อรู้ว่าต้องดริปมอร์ฟีน ก่อนที่จะเปลี่ยนใจให้ใช้ดริปมอร์ฟีน และเมื่อให้มอร์ฟีน ผู้ป่วยก็หลับและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น คนทั่วไปจึงคิดว่า มอร์ฟีนให้เฉพาะก่อนตายหรือให้แล้วตายเสมอ

          ความจริงคือ ตั้งแต่ผู้ป่วยมะเร็งปอดเริ่มมีอาการเหนื่อย เราก็เริ่มให้มอร์ฟีนตั้งแต่ตอนนั้น เพิ่มปริมาณเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ เพราะมะเร็งปอดย่อมเป็นมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งการให้มอร์ฟีน ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ จนเมื่อเป็นก้อนมากขึ้นเต็มปอด การแลกเปลี่ยนก๊าซเริ่มไม่พอ เราสามารถปรับมอร์ฟีนเป็นแผ่นแปะเฟนตานิล สามารถเสียชีวิตได้อย่างสงบที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องมาถึงโรงพยาบาล และผู้ป่วยหลายรายก็เลือกวิธีการนี้

มีคนแย้งว่า นี่คือการการุณยฆาตหรือไม่


          อย่างไรก็ตาม มีคนมาแย้งหมอในเรื่องการดริปมอร์ฟีนว่า เข้าข่ายการุณยฆาตหรือไม่ เพราะเป็นการทำให้หลับและเสียชีวิต ซึ่งเรื่องนี้ นพ.อิศรางค์ ตอบว่า เห็นด้วยว่าวิธีการนี้ล่อแหลมมาก แต่ในที่สุดก็อยู่ที่จุดประสงค์ของหมอผู้ดูแลและครอบครัวว่า ทำไปเพื่ออะไร

          อย่างเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยรายนั้น ทางหมอที่รักษากับญาติมีการระบุชัดเจนแล้วว่า ทำไปเพื่อการบำบัดความทุกข์ ไม่ได้ตั้งใจให้ตาย (แต่คนไข้ตายเองตามธรรมชาติของโรค)

          หมอเชื่อว่า กรณีคล้าย ๆ กันแบบนี้ เราไม่ได้ให้มอร์ฟีนอย่างเดียว การให้ยาอื่นก็เข้าข่าย เพียงแต่ว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นอาจปรากฏแก่ญาติเฉพาะมอร์ฟีนก็ได้



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จักการดริปมอร์ฟีน ส่งผู้ป่วยภาวะสุดท้ายให้จากไปอย่างสงบ จบดราม่า ทำคนไข้เสียชีวิตเร็ว อัปเดตล่าสุด 24 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10:55:49 76,639 อ่าน
TOP