Thailand Web Stat

กล่องสุ่ม ซื้อแล้วได้ไม่คุ้มเสีย-ไม่ตรงปก คนขายผิดไหม เผยข้อกฎหมายส่อคุก 5 ปี

          กล่องสุ่ม กลยุทธ์ขายออนไลน์สุดฮอต ลูกค้าเอฟกันสนั่น เสียเงินแถมต้องลุ้นของข้างใน หากได้ของไม่ตรงปก ไม่คุ้มเงินที่จ่ายไป ทำอย่างไร ? คนขายส่อโดนคุก 5 ปี ปรับ 1 แสน เผยต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง

กล่องสุ่ม ซื้อแล้วได้ไม่คุ้มเสีย-ไม่ตรงปก คนขายผิดไหม

          เป็นกระแสฮอตฮิตอย่างมากในการซื้อ-ขายออนไลน์ในขณะนี้ สำหรับ กล่องสุ่ม โดยมักจะมีบุคคลที่มีชื่อเสียงมารีวิวเปิดกล่องสุ่ม ไม่ว่าจะเป็น กล่องสุ่มโทรศัพท์มือถือ สินค้าแบรนด์เนม เครื่องสำอาง อาหารสด หมูกระทะ เป็นต้น ซึ่งมีหลายคนที่ชอบการซื้อของแบบกล่องสุ่ม เพราะได้ลุ้นและตื่นเต้นตอนเปิดกล่องไปด้วย เพราะไม่รู้ว่าข้างในจะเป็นอย่างไร จุดนี้เองที่ทำให้มีทั้งคนถูกใจและคนผิดหวังที่ได้รับของไม่ตรงปก

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เคยออกมาเตือนว่า อย่าหลงเชื่อโฆษณากล่องสุ่มปริศนา ที่ขายเพื่อเสี่ยงโชคบนเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งเน็ตไอดอล ยูทูบเบอร์ ในการโฆษณาชักชวนผู้บริโภคให้หลงเชื่อว่า เมื่อจ่ายเงินเลือกซื้อกล่องสุ่มปริศนาในแพ็กเกจต่าง ๆ จะได้รับสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่าเงินที่จ่ายไป



กล่องสุ่ม ซื้อแล้วได้ไม่คุ้มเสีย-ไม่ตรงปก คนขายผิดไหม

          ทั้งนี้ สคบ. ขอเตือนว่าอย่าหลง เนื่องจากอาจไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่าเงินที่จ่ายไปได้ ที่ผ่านมาเคยปรากฏคดีลักษณะนี้ และมีการตั้งข้อหา ฉ้อโกงประชาชน  ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยโดนหลอกลวงและนำเขาสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

          ขณะที่ ข่าว Thai PBS รายงานว่า พ.ต.ท. ปริญญา ปาละ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า กล่องสุ่มมีมานานแล้ว อย่างต่างประเทศในบางประเทศถือเป็นการเล่นเกมออนไลน์ สามารถเล่นได้ แต่ต้องมีการกำกับดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กล่องสุ่ม ซื้อแล้วได้ไม่คุ้มเสีย-ไม่ตรงปก คนขายผิดไหม

          ส่วนประเทศไทย การเล่นกล่องสุ่มยังไม่ได้รับการตรวจสอบหรือเข้าไปดูแลมากนัก ต้องพิจารณาก่อนว่าเป็นการพนันหรือไม่ โดยแยกออกเป็น 2 อย่าง คือ

          - หากผู้ประกอบการกล่องสุ่มไปขออนุญาตกับกระทรวงมหาดไทย แล้วมีการเล่น ก็สามารถเล่นได้ ผู้เล่นก็จะถือว่าเป็นผู้บริโภค แต่ต่อมาหากพบว่าสินค้าที่ได้ไม่คุ้มหรือไม่ตรงปก ก็จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย แต่หากขายกล่องสุ่มโดยไม่ขออนุญาต จะนับว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจเข้าข่ายการพนันที่ผิดกฎหมาย ผู้บริโภคก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง

          - สินค้าไม่เหมือนกับที่รีวิวหรือโฆษณา ได้สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่าราคาที่จ่ายไปอาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกงประชาชนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากมีการก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด ความคุ้มค่า การโฆษณา ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง และอาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย


กล่องสุ่ม ซื้อแล้วได้ไม่คุ้มเสีย-ไม่ตรงปก คนขายผิดไหม

          ทั้งนี้ เมื่อสั่งกล่องสุ่มมาแล้วลูกค้าถ้ารู้สึกไม่เป็นธรรม สามารถร้องทุกข์ต่อตำรวจในพื้นที่ได้ หรือใช้สิทธิฟ้องคดีคุ้มครองผู้บริโภคต่อศาลด้วยตัวเอง และสามารถร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ โดยพยานหลักฐานเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกค้าต้องเก็บไว้เพื่อสู้คดี อาทิ

          คลิปการรีวิว

          การโฆษณา

          สลิปการโอนเงิน เพื่อสืบถึงผู้รับเงิน

          ข้อความสนทนาทางออนไลน์เกี่ยวกับตัวสินค้าหรือตัวเงิน ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการต่อสู้คดีหรือร้องเรียน

กล่องสุ่ม ซื้อแล้วได้ไม่คุ้มเสีย-ไม่ตรงปก คนขายผิดไหม

          ในกรณีกล่องสุ่มหากมีการหลอกลวงโดยเจตนามา กระทำความผิดบ่อยครั้ง หรือสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง มีความผิดที่เข้าข่ายหลายข้อ ได้แก่...

          1. ฉ้อโกงประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

          2. เข้าข่าย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          3. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

          4. หากเป็นการพนันจะเป็น พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 อาจจะถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและการฟอกเงินด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, ข่าว Thai PBS


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กล่องสุ่ม ซื้อแล้วได้ไม่คุ้มเสีย-ไม่ตรงปก คนขายผิดไหม เผยข้อกฎหมายส่อคุก 5 ปี อัปเดตล่าสุด 2 ธันวาคม 2564 เวลา 20:27:38 9,871 อ่าน
TOP
x close