x close

สรุป #saveจะนะ ที่มาชาวบ้านค้านนิคม - ขึ้น กทม. มาทวงสัญญา กลับโดนสลายม็อบ


         สรุปประเด็น #saveจะนะ ชาวจะนะ เดินทางไกลจากสงขลา ทวงสัญญาจากรัฐบาล หลังเคยรับปากจะยกเลิกโครงการเมืองต้นแบบ สร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และศึกษาผลกระทบของสิ่งแวดล้อม ผ่านมาเป็นปียังไร้วี่แวว จนต้องมาชุมนุม ม็อบ 6 ธันวา สังคมตั้งคำถามทำไม คฝ. ต้องสลายชุมนุม


          วันที่ 7 ธันวาคม 2564 สังคมกำลังให้ความสนใจอย่างมากจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ แฮชแท็ก #Saveจะนะ เนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมา (6 ธันวาคม 2564) เกิดเหตุการณ์ที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านเครือข่าย "จะนะรักษ์ถิ่น" ที่เดินทางมาไกลจาก จ.สงขลา เพื่อมาชุมนุมที่ข้างทำเนียบรัฐบาล การชุมนุมมีต่อเนื่องหลายวัน เพื่อทวงสัญญาที่รัฐบาลบอกว่าจะหยุดการแก้ไขผังเมืองและหยุดโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมใน อ.จะนะ

          ทั้งนี้ ภาพการสลายชุมนุมที่เกิดขึ้นนั้นหลายฝ่ายต่างรับไม่ได้ และตั้งคำถามว่าทำไมต้องสลายการชุมนุม เนื่องจากกลุ่มชาวบ้านที่มาปักหลักอยู่บริเวณทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ มาชุมนุมอย่างสันติ แต่กลับนำกำลังเจ้าหน้าที่กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (อคฝ.) จำนวน 1 กองร้อย พร้อมรถควบคุมผู้ต้องหา เข้าสลายการชุมนุม


          โดยผู้ชุมนุมมีการโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ประมาณ 10 นาที แต่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง แต่มีผู้ชุมนุมจำนวนประมาณ 36 คน ถูกจับขึ้นรถไปควบคุมตัวที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต

          ระหว่างการสลายชุมนุม เจ้าหน้าที่กั้นสื่อมวลชนไม่ให้ถ่ายรูประหว่างปฏิบัติการ โดยมีการตั้งแถวกั้นสื่อมวลชนและใช้ไฟฉายหรือแฟลชจากโทรศัพท์มือถือส่องมาที่สื่อมวลชน ทำให้ไม่สามารถเก็บภาพได้


          มาถึงตรงนี้.. หลายคนทราบว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง แต่ไม่ทราบที่มาที่ไปว่าทำไมเดินทางมาถึงจุดนี้ กลุ่มเครือข่าย จะนะรักษ์ถิ่น เกิดขึ้นเพราะอะไร ไปติดตามรายละเอียดกันเลย !!

#saveจะนะ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก iLaw

รู้จัก อ.จะนะ จ.สงขลา

          จะนะ เป็นอำเภอหนึ่งของ จ.สงขลา มีสัดส่วนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก มีความอุดมสมบูรณ์จากระบบนิเวศทั้งทางทะเลและทางบก โดยงานวิจัยของ สกว. ระบุว่า ฐานทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ อ.จะนะ มีมูลค่า 19 ล้านบาทต่อเดือน

จุดเริ่มต้น โครงการเมืองต้นแบบของรัฐบาล คสช.

          ในปี 2558 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งใจยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาหลัก ๆ ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ได้ประกาศในปี 2558 และพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ที่มีมติตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2559 โดยมีแผนพัฒนา 3 เมืองหลัก ได้แก่

          1. อ.หนองจิก จ.ปัตตานี สามารถร่วมในการลงทุนและพัฒนาระหว่างไทยกับมาเลเซียได้ในอนาคต ภาคการท่องเที่ยวครอบคลุม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึง จ.สงขลาและสตูล

          2. อ.เบตง จ.ยะลา เป็นเมืองต้นแบบนำร่องที่มีการพัฒนาการท่องเที่ยว

          3. อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส สร้างความก้าวหน้าเมืองการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาความร่วมมือร่วมกันอย่างแน่นอน


มาเหนือเมฆ อ.จะนะ โผล่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

          จากเดิมที่มี 3 เมือง ในแผนของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองที่ 4 เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ทั้งที่ไม่มีแผนในโครงการมาก่อน

          โครงการดังกล่าวจะมีทั้งอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเบา ท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ดำเนินการ แต่ก็เกิดปัญหาการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากมติดังกล่าวปราศจากการศึกษาผลประโยชน์ ต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง ตลอดจนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น

          สำหรับผลประโยชน์ของโครงการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ชี้แจงว่า นิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมรายใหญ่ประมาณ 50 ราย และจะทำให้เกิดการจ้างงานโดยตรงประมาณ 25,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้คนในพื้นที่มีงานทำ

          ขณะที่ประชาชนต่างตั้งคำถามว่า ทักษะคนสงขลาส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรและการประมง ทำให้หลายคนมองไม่ออกว่าคนในท้องถิ่นจะยกไปผลิตกังหันลม ผลิตหัวรถจักร หรือทำงานท่าเรือน้ำลึกได้อย่างไร


การแก้ไขผังเมือง จ.สงขลา ลดพื้นที่สีเขียว

          จากเดิมที่ จ.สงขลา เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่สงวนไว้สำหรับการทำเกษตรกรรม ซึ่งหากในอนาคตจะมีการสร้างอุตสาหกรรมต้องมีการเปลี่ยนผังเมือง โดยต้องเปลี่ยนจากผังสีเขียวเป็นสีม่วง สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรม นำมาซึ่งการตั้งคำถามว่า ศอ.บต. จะใช้อำนาจใดในการเปลี่ยนแปลงผังเมือง เนื่องจากการกระทำดังกล่าวขัดกฎหมายผังเมือง

#saveจะนะ
ภาพจาก sarakadee.com

#saveจะนะ
ภาพจาก sarakadee.com

รัฐบาลสัญญาว่าจะหยุดโครงการไว้ก่อน

          โครงการดังกล่าวทำให้ประชาชนในพื้นที่กังวลใจอย่างมาก ท่ามกลางการคัดค้านของภาคประชาชน ต่อมาเกิดบันทึกข้อตกลงระหว่างประชาชนในพื้นที่กับทางรัฐบาล

          โดยในวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ตำแหน่งขณะนั้นคือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจาก พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนของรัฐบาลในการเจรจากับชาวจะนะ โดยมีข้อยุติร่วมกัน 2 ประเด็นใหญ่ ได้แก่...

          1. รัฐบาลต้องมีมติยกเลิกโครงการต้นแบบอุตสาหกรรมจะนะ ทุกฉบับ และการแก้ไขผังเมือง รวมถึงต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในทันที

          2. รัฐบาลจะจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment) ซึ่งต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

#saveจะนะ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล

#saveจะนะ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล

รัฐบาลไร้วี่แววการทำตามสัญญา

          เวลาล่วงเลยมา 1 ปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เรื่องการศึกษาและประเมินผลกระทบในพื้นที่ อ.จะนะ กระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ชาวจะนะได้ส่ง ไครียะห์ ระหมันยะ อายุ 19 ปี หรือสมญานามว่า "ลูกสาวแห่งท้องทะเลจะนะ" มายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ผ่านมา น้องไครียะห์ก็เคยมายื่นเรื่องดังกล่าวถึงรัฐสภาหลายครั้ง แต่ไม่มีการตอบรับใด ๆ


ม็อบ 6 ธันวา ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล

          วันที่ 6 ธันวาคม 2564 กลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา เดินทางมาทวงถามความคืบหน้าและสัญญาที่ให้ไว้ โดยได้ปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ช่วงเย็น และมีมวลชนประมาณ 40 คน ประกาศค้างคืน และปิดทางเข้าทำเนียบ มีการตั้งเต็นท์ ขนข้าวของเครื่องใช้และเครื่องนอนมาวางอยู่เต็มพื้นที่ คาดว่าจะอยู่กินนอนหลายวัน จนกว่าจะได้ข้อเรียกร้องที่พอใจจากการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการจะนะ

#saveจะนะ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก iLaw

สลายการชุมนุม

          ม็อบ 6 ธันวา เวลา 19.30 น. ตำรวจเริ่มปิดการจราจร และเจรจากับตัวแทนขอให้ย้ายพื้นที่ชุมนุม แต่ชาวบ้านยืนยันว่าไม่ย้าย กระทั่งเวลาประมาณ 21.00 น. ตำรวจตั้งแถวยืนกั้นไม่ให้ผู้สื่อข่าวและคนที่จะมาสมทบเข้าไปรวมกับผู้ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมประกาศให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ และให้สื่อไปยืนบริเวณทางเท้าฝั่งตรงข้าม

          ต่อมา ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ประมาณ 100 นาย เดินแถวออกมาจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และยืนตั้งแถวปิดถนนหน้าอาคาร ก.พ.ร. และในเวลาเดียวกัน ไฟบนถนนพิษณุโลกดับลง ทำให้บริเวณที่สื่อมวลชนยืนอยู่ค่อนข้างมืด แทบมองไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมกำลังทำอะไร

          จากนั้นเวลา 21.18 น. รถผู้ต้องขัง 2 คัน เข้ามาจอดหน้าเต็นท์ผู้ชุมนุม สื่อมวลชนพยายามถ่ายภาพ แต่ตำรวจหลายนายที่ยืนอยู่ด้านหลังถือไฟฉายอย่างน้อย 5 กระบอก ส่องไฟวูบวาบจนไม่สามารถถ่ายภาพได้

          กระบวนการจับกุมใช้เวลาไม่นาน ผู้ชุมนุมถูกจับกุมไปทั้งหมด 36 คน เป็นผู้หญิง 31 คน และเป็นผู้ชาย 5 คน ไปยังสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต

          อย่างไรก็ตาม สังคมต่างตั้งคำถามถึงเหตุผลที่ต้องสลายการชุมนุม เนื่องจากผู้ชุมนุมดำเนินการอย่างสันติ อีกทั้งเป็นการเรียกร้องเพื่อสิ่งแวดล้มของคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติของไทยที่ควรอนุรักษ์และหวงแหน


ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ออนไลน์, สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์, เฟซบุ๊ก Saraj Sindhuprama, เฟซบุ๊ก ติดตามแผนพัฒนาสงขลา-สตูล, เฟซบุ๊ก iLaw

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุป #saveจะนะ ที่มาชาวบ้านค้านนิคม - ขึ้น กทม. มาทวงสัญญา กลับโดนสลายม็อบ อัปเดตล่าสุด 13 ธันวาคม 2564 เวลา 14:00:21 13,681 อ่าน
TOP