x close

ดราม่าสนามบินเบตง ทุ่มงบ 1.9 พันล้าน สร้างเสร็จ 2 ปีใช้งานจริงไม่ได้ ชี้เกิดจากอะไรกันแน่

           ส่องกระแสวิจารณ์ สนามบินเบตง ใช้งบ 1.9 พันล้าน สร้างเสร็จกว่า 2 ปี ยังไม่เปิดใช้งาน พบรองรับได้แค่เครื่องบินขนาดเล็ก ส่วนเครื่องบินขนาดใหญ่ต้องรอไปก่อน เพราะต้องขยายรันเวย์เพิ่ม อีกด้านเผยสาเหตุที่จำเป็นต้องเลื่อนเปิด จนเกิดคำถามสำคัญ สนามบิน หรือจุดเช็กอินถ่ายรูป ?!


           กำลังกลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจเกี่ยวกับ สนามบินเบตง จ.ยะลา ซึ่งก่อสร้างด้วยงบ 1,900 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2560 ก่อสร้างเสร็จแล้วในปี 2562 แต่จนถึงปัจจุบันยังคงไม่ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ จนเกิดเสียงวิจารณ์บางส่วนสะท้อนถึงความล่าช้าในการเปิดใช้งาน รวมทั้งยังไม่ครอบคลุมในการใช้งานเท่าที่ควรหรือไม่ โดยมีหลายแง่มุมที่น่าสนใจดังนี้

การก่อสร้างใช้งานได้คุ้มค่าหรือไม่ - ปัญหาที่ยังติดขัด


           หนึ่งในประเด็นใหญ่ที่ถูกวิจารณ์ กรณีสนามบินเบตง คือการมีรันเวย์ความยาว 1,800 เมตร ไม่สามารถรองรับเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ รองรับได้แค่เฉพาะอากาศยานขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังไม่มีคลังน้ำมันสำหรับเติมเครื่องบิน ทำให้เกิดคำถามอีกว่า กรณีเที่ยวบิน กรุงเทพฯ- เบตง หากใช้ได้แค่อากาศยานขนาดเล็ก เครื่องจะไม่สามารถบินไปกลับได้ทันทีเพราะต้องแวะเติมน้ำมันที่สนามบินอื่น

           ขณะเดียวกัน หากจะเปิดให้มีเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ ทางผู้ประกอบการได้ขอการสนับสนุนในเรื่องผู้โดยสารที่สายการบินต้องการให้มีการรับประกันจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวไม่ต่ำกว่า 75% และขอให้ลดค่าธรรมเนียมสนามบิน อีกด้วย

           จากกรณีดังกล่าว ส่งผลให้ต้องมีการสร้างรันเวย์เพิ่มเติมเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ อาจต้องเสียงบประมาณเพิ่มจากการก่อสร้างครั้งแรก รวมทั้งหากจะเปิดให้มีเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ ก็ต้องเตรียมงบในการอุดหนุนสายการบินเพิ่มเติม ซึ่งการเจรจานั้นยังไม่ชัดว่าได้ข้อสรุปอย่างไร และยังไม่แน่ชัดว่าจะเปิดใช้งานได้จริงเมื่อไหร่
         

เกี่ยวกับโครงการสร้าง ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง


           สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติเบตงจังหวัดยะลา ตั้งอยู่บนพื้นที่ 920 ไร่กลางหุบเขา ใน ต.ยะรม อ.เบตง ซึ่งห่างจากตัวเมืองราว 12 กิโลเมตร ใช้วงเงินก่อสร้างกว่า 1,900 ล้านบาท ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2560 แล้วเสร็จเมื่อปี 2562 อาคารที่พักผู้โดยสาร มีพื้นที่ประมาณ 7,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนได้ประมาณ 300 คนต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารได้ 876,000 คนต่อปี ทางวิ่งหรือรันเวย์มีขนาดความยาว 1,800 เมตร รองรับได้เฉพาะอากาศยานขนาดเล็ก เช่น เครื่องบินแบบใบพัด ATR  70-80 ที่นั่ง

           ปัจจุบันท่าอากาศยานเบตง พร้อมทั้งด้านสถานที่ และบุคลากร ซึ่งแม้ยังไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์มาให้บริการ แต่ก็มีอากาศยานของหน่วยงานภาครัฐ และเครื่องบินส่วนบุคคล มาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

ยังคงไม่เปิดให้บริการจริง


           จากข้อมูลจาก ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเบตง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เบื้องต้นคาดว่าท่าอากาศยานเบตงจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปลายเดือน เมษายน 2564 แต่จากข้อมูลล่าสุด (13 ธันวาคม 2564) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ระบุว่า จะสามารถเปิดให้บริการท่าอากาศยานเบตงได้อย่างเต็มรูปแบบในต้นปี 2565

สนามบินเบตง
ภาพจาก สวท.เบตง News

เกี่ยวกับแผนการขยายความยาวรันเวย์


           เบื้องต้นแผนงานในการพัฒนาท่าอากาศยานเบตง ประกอบด้วย การขยายความยาวทางวิ่ง (รันเวย์) จากปัจจุบัน 1,800 เมตร เป็น 2,500 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับอากาศยานขนาด 180 ที่นั่งได้ นอกจากนี้จะขยายพื้นที่ปลอดภัยปลายทางรันเวย์ทั้งทิศตะวันออก และตะวันตก ทิศละ 240 เมตรตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งขยายทางขับ (แท็กซี่เวย์) จากความกว้าง 18 เมตรเป็น 23 เมตร และขยายลานจอดเครื่องบิน จากเดิมที่มีขนาด 94X180 เมตร เป็นขนาด 94X240 เมตร เพื่อทำให้ท่าอากาศยานเบตง สามารถจอดเครื่องบินขนาด 180 ที่นั่งได้ 3 ลำ

           ขณะเดียวกันยังมีการออกแบบงานระบบต่าง ๆ อาทิ ระบบเครื่องช่วยการเดินอากาศ และระบบระบายน้ำ ตลอดจนมีการปรับปรุงลานจอดรถยนต์ ถนนเข้า-ออก และรั้วสนามบิน เป็นต้น คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2565

           จากข้อมูล จากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เกี่ยวกับสาเหตุเมื่อครั้งสร้างสนามบินเบตง ไม่สร้างรันเวย์ให้ยาว 2,500 เมตรไปในคราวเดียว ชี้แจงว่าการออกแบบรันเวย์ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ซึ่งการศึกษาในขณะนั้นเมื่อปี 2550 ก็พบว่า จะมีปริมาณผู้โดยสาร และเที่ยวบินในขนาดรันเวย์ที่ 1,800 เมตร รองรับได้อย่างเพียงพอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร และเที่ยวบินก็เปลี่ยนไป จึงทำให้ต้องมีการขยายเพิ่มในคราวหลัง


เส้นทางการบินที่คาด


           เบื้องต้นสายการบินนกแอร์ เตรียมให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ ในเส้นทาง ดอนเมือง-เบตง และหาดใหญ่-เบตง ใช้เครื่องบินแบบใบพัด รุ่น Q400  ขนาด 86 ที่นั่ง นอกจากนี้ ยังมีสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส อยู่ระหว่างการศึกษาการเปิดเส้นทาง เบื้องต้น อาจจะเปิดทำการบิน 2 เส้นทาง ได้แก่ หาดใหญ่-เบตง ทำการบินโดยเครื่องบินแบบ ATR 86 ที่นั่ง และ เส้นทาง ภูเก็ต-เบตง ซึ่งจะพิจารณาการตอบรับจากผู้โดยสารในเส้นทางเบตง-หาดใหญ่

แนวทางการแก้ปัญหา


           ข้อมูลจาก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม วันที่ 14 ธันวาคม 2564 ระบุ พร้อมเปิดให้บริการท่าอากาศยานเบตง หากการดำเนินการใน 2 เรื่องนี้ คือ การออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะเพื่อเปิดบริการเที่ยวบินพาณิชย์ได้ และการออกประกาศเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างพิจารณา คาดว่าจะออกใบรับรองการดำเนินงานฯ ให้กับท่าอากาศยานเบตง ได้ในเร็ว ๆ นี้

           การเปิดให้บริการ ได้มอบให้กรมท่าอากาศยานเร่งเจรจากับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เพื่อขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) เนื่องจากในการเปิดให้บริการท่าอากาศยานนั้น ต้องมีค่าบริหารจัดการและการบำรุงรักษา ในส่วนของสายการบินที่จะมาเปิดทำการบินที่ท่าอากาศยานนานาชาติเบตงนั้น ทางกรมท่าอากาศยานมีมาตรการให้การสนับสนุนสายการบินตามมติคณะรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็น การลดค่าธรรมเนียมค่าขึ้นลงอากาศยาน 50% และยกเว้นค่าธรรมเนียมจอดอากาศยาน ส่วนเรื่องเงื่อนไขการรับประกันที่นั่งผู้โดยสาร 75% ตามที่ผู้ประกอบการสายการบินเสนอมานั้น ได้เร่งรัดการเจรจาให้จบโดยเร็ว  

สนามบินเบตง
ภาพจาก สวท.เบตง News

สนามบินเบตง
ภาพจาก สวท.เบตง News

สนามบินเบตง
ภาพจาก สวท.เบตง News

สนามบินเบตง
ภาพจาก สวท.เบตง News

สนามบินเบตง
ภาพจาก สวท.เบตง News

สนามบินเบตง
ภาพจาก สวท.เบตง News

สนามบินเบตง
ภาพจาก สวท.เบตง News

ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์, สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์, สวท.เบตง News, ฐานเศรษฐกิจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดราม่าสนามบินเบตง ทุ่มงบ 1.9 พันล้าน สร้างเสร็จ 2 ปีใช้งานจริงไม่ได้ ชี้เกิดจากอะไรกันแน่ โพสต์เมื่อ 4 มกราคม 2565 เวลา 10:53:43 35,742 อ่าน
TOP