x close

ปศุสัตว์ รับแล้ว ! เจอ ASF ในฟาร์มหมู ต้นเหตุหมูแพง - ประกาศเขตโรคระบาดสัตว์


          อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผย พบโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ASF ในพื้นที่ จ.นครปฐม หลังสุ่มตรวจ 309 ตัวอย่าง พบผลบวกเชื้อ ASF จำนวน 1 ตัวอย่าง ล่าสุดประกาศพื้นที่เขตโรคระบาดสัตว์รัศมี 5 กิโลเมตร แนะประชาชนอย่าแตกตื่น ยังกินได้ ไม่อันตราย - ครม. อนุมัติงบกลาง 574.11 ล้านบาท เพื่อจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายเพราะโรคระบาด

หมู
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

          วันที่ 11 มกราคม 2565 ไทยพีบีเอส รายงานว่า นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านวิชาการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) กล่าวว่า จากกรณีที่โลกออนไลน์มีการเผยข้อมูลว่า พบสถานการณ์การเกิดโรค ASF จึงได้ส่งชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเลี้ยงหมูหนาแน่นในวันที่ 8-9 มกราคม 2565 รวม 10 ฟาร์ม 305 ตัวอย่าง และโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง 4 ตัวอย่างในพื้นที่ จ.ราชบุรี และนครปฐม

          จากการเก็บตัวอย่างเลือดหมูในฟาร์ม และจากพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์ เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ พบว่า จาก 309 ตัวอย่าง มี 308 ตัวอย่างผลเป็นลบ และมี 1 ตัวอย่างพบผลบวกพบเชื้อ ASF ซึ่งเป็นตัวอย่างพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่มาจาก จ.นครปฐม

หมู
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

          นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า ชุดเฉพาะกิจได้ลงพื้นที่เข้าสอบสวนแหล่งที่มาของหมู รวมถึงสาเหตุของการเกิดโรคเพื่อควบคุมโรคโดยเร็วต่อไป เพื่อลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรให้น้อยที่สุด ซึ่งล่าสุดมีการประสานหารือ และความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อขอความร่วมมือในการควบคุมโรคแล้ว ซึ่งกรมปศุสัตว์จะต้องประกาศเป็นเขตโรคระบาด และมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบจุดที่พบโรค ร่วมกับจะต้องพิจารณาทำลายสุกรที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคหรือมีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยากับฟาร์มที่เป็นโรค

          สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในรัศมีการควบคุมโรค การเคลื่อนย้ายสุกรทุกวัตถุประสงค์จะต้องได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ โดยคำนึงถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมทั้ง การขออนุญาตนำสุกรเข้ามาเลี้ยงต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ในขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์จะต้องแจ้งการพบโรคไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทราบ

          นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวอีกว่า ขอความร่วมมือเกษตรกร ปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมโรคให้สงบโดยเร็วเหมือนกับโรคไข้หวัดนก ทั้งนี้ ยืนยันว่าโรค ASF เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คน หรือสัตว์ชนิดอื่น ผู้บริโภคยังสามารถรับประทานเนื้อหมูได้อย่างปลอดภัย โดยจะต้องให้ความร้อนปรุงสุกที่อุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส

          ทั้งนี้ ตามรายงานจากสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า "ครม. อนุมัติงบกลาง 574.11 ล้านบาท เพื่อจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายเพราะโรคระบาดตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2564 - 15 ตุลาคม 2564 ในพื้นที่ 56 จังหวัด มีเกษตรกรที่กรมปศุสัตว์ได้ทำลายสุกรไปแล้ว 4,941 ราย และจำนวนสุกร 159,453 ตัว"

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปศุสัตว์ รับแล้ว ! เจอ ASF ในฟาร์มหมู ต้นเหตุหมูแพง - ประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ อัปเดตล่าสุด 11 มกราคม 2565 เวลา 17:33:34 5,747 อ่าน
TOP