นักวิทย์นิวซีแลนด์ พบลูกฉลามผี สัตว์ลึกลับหายากมากเป็นพิเศษ อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก ใช้ชีวิตแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ จึงพบเจอได้น้อยมาก
ภาพจาก ทวิตเตอร์ @BritFinucci
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 เว็บไซต์บีบีซี รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์การประมง ของประเทศนิวซีแลนด์ พบสิ่งมีชีวิตลึกลับหายาก ที่เรียกว่า ปลาคิเมียรา (Chimaera) หรือที่รู้จักในชื่อ ฉลามผี (Ghost shark) ซึ่งเป็นลูกปลาที่เพิ่งฟักใหม่ ถูกนำขึ้นมาจากใต้มหาสมุทรที่ความลึกประมาณ 1.2 กิโลเมตร บริเวณนอกชายฝั่ง ใกล้กับเกาะใต้
ดร.บริต ฟินุชชี สมาชิกในทีมสำรวจ เปิดเผยถึงการค้นพบที่น่าทึ่ง ระบุว่า เกิดขึ้นโดยบังเอิญขณะกำลังใช้อวนลาก เพื่อวิจัยประชากรใต้น้ำ โดยฉลามผีเป็นหนึ่งในสัตว์ลึกลับใต้ทะเลลึก ซึ่งปกติก็หาพบได้ยากอยู่แล้ว ยิ่งเป็นลูกปลาชนิดนี้ ยิ่งหาพบได้ยากมากขึ้น
"พวกมัน (ฉลามผี) มักจะมีชีวิตลึกลับ อยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ตัว ก็เลยไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยนัก" ดร.ฟินุชชี กล่าว ทั้งนี้ยังเชื่อว่า การค้นพบครั้งสำคัญนี้จะเป็นโยชน์ ช่วยให้เข้าใจสิ่งมีชีวิตลึกลับสายพันธุ์นี้ในระยะวัยเยาว์ได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากลูกฉลามผี มีความแตกต่างกับตัวเต็มวัยมาก ทั้งแหล่งที่อาศัยและอาหาร รวมทั้งด้านชีววิทยาและระบบนิเวศ
ด้านนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยน้ำและบรรยากาศแห่งชาติของนิวซีแลนด์ เชื่อว่า ลูกฉลามผีตัวนี้น่าจะเพิ่งฟักออกจากไข่ เนื่องจากยังมีไข่แดงอยู่เต็มในท้องของมัน ซึ่งโดยปกติแล้ว ตัวอ่อนของฉลามผีจะเจริญเติบโตในเปลือกหุ้มไข่ที่แม่ของมันวางไว้ใต้พื้นทะเล และพวกมันจะกินไข่แดงไปจนกว่าจะพร้อมที่จะฟักออกมา
สำหรับ ฉลามผี เป็นปลากระดูกอ่อน โครงกระดูกของพวกมัน ประกอบด้วยกระดูกอ่อนเป็นหลัก แม้จะมีชื่อว่าฉลาม แต่ไม่ใช่ฉลามจริง ๆ เป็นปลาสายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับฉลามและปลากระเบน หรือจะเรียกว่า เป็นญาติห่าง ๆ ของฉลามก็ว่าได้ เนื่องจากพวกมันได้วิวัฒนการแยกตัวออกมาจากฉลามตั้งแต่ 400 ล้านปีที่แล้ว และมีสายพันธุ์แยกย่อยมากกว่า 50 สายพันธุ์
ส่วนที่มาของคำว่า ฉลามผี เนื่องจากรูปลักษณ์ของมันที่ชวนให้น่าสะพรึงและขนลุกไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อลองจินตนาการนึกภาพนักวิจัยลงไปสำรวจในมหาสมุทร แล้วเห็นสิ่งนี้จากความมืดมิดใต้ท้องทะเลลึก ก็น่าจะเข้าใจได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
ติดตามอ่าน ข่าวต่างประเทศ ที่น่าสนใจได้ที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจาก bbc, sciencealert