อ.เจษฎา ฟันธงตรงนี้ ขวดน้ำพลาสติกแช่แข็ง อันตรายหรือไม่ หลังมีรายการทีวีชี้ มีสารก่อมะเร็ง



          รายการทีวีเตือนระวังสารไดออกซิน จากขวดน้ำแช่แข็ง หรือถุงพลาสติกแช่แข็ง ด้าน ดร.เจษฎา โต้ไม่เป็นความจริง ย้ำข้อมูลทั้งไทยและต่างประเทศยืนยันไม่พบสารก่อมะเร็ง

ขวดน้ำพลาสติกแช่แข็ง
ภาพจาก ThaiPBS

          กำลังกลายเป็นคลิปที่ถูกแชร์อย่างมาก กรณีรายการ ปังหรือพัง ฟังรีวิว ช่อง ThaiPBS วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ช่วงหนึ่งมีกล่าวเตือนเรื่องทำน้ำแข็งด้วยการเติมน้ำใส่ขวดพลาสติกแล้วแช่ช่องฟรีซ โดยระบุว่าเมื่อน้ำเป็นน้ำแข็งแล้วไปแปะติดกับขวดจะไปดูดสารไดออกซิน (Dioxins) จากขวดออกมาด้วย ซึ่งสารนี้คือสารก่อมะเร็งที่สำคัญที่สุด

          โดยมีการยกตัวอย่างน้ำที่เป็นน้ำแข็งในขวดพลาสติก แนะนำว่าอย่ากินเพราะน้ำกับขวดนั้นแปะติดกัน เมื่อน้ำแข็งคลายความร้อนก็จะมาโดนพลาสติกทำให้ไดออกซินละลายออกมา เช่นเดียวกันกับถุงพลาสติกใส่น้ำ หากเป็นน้ำแข็งแล้วละลายออกมาจะมีไดออกซินออกมาด้วย เนื่องจากสารพลาสติกทุกอย่างถ้าเจอความเย็นจนเป็นน้ำแข็งมันจะดูดไดออกซินออกมา

ขวดน้ำพลาสติกแช่แข็ง
ภาพจาก ThaiPBS

          ในช่วงท้าย เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า อย่านำพลาสติกหรือถุงพลาสติกที่ไม่ใช่ฟู้ดเกรด หรือใช้สำหรับอาหาร ไปแช่แข็ง อาจจะทำให้ผู้บริโภคได้รับสารอันตรายต่อสุขภาพได้



ดร.เจษฎา โต้ข้อมูล ยืนยัน ขวด PET ไร้สารอันตราย


          อย่างไรก็ดี ล่าสุด (18 กุมภาพันธ์) ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ หัวข้อว่า "ขวดน้ำดื่ม ไม่ได้มีสารไดออกซิน และเมื่อแช่แข็ง ก็ไม่ได้จะทำให้ละลายออกมาด้วย" ระบุว่า เท่าที่ทราบนั้น ขวด PET ที่ใช้ใส่น้ำดื่มแบบบรรจุขวด ไม่ได้มีส่วนผสมของสารอันตรายอย่างไดออกซิน และการแช่แข็งขวดในตู้เย็นนั้น ก็ไม่ได้จะทำให้สารไดออกซินหรือสารอันตรายอื่น ๆ ละลายออกมาจากขวด หรือ น้ำแข็งจะดูดไดออกซินออกมา


          เรื่องนี้น่าจะมาจากความเชื่อตามกันในโลกอินเทอร์เน็ตตั้งแต่สมัยฟอร์เวิร์ดเมลที่บอกว่า "ห้ามดื่มน้ำจากขวดน้ำดื่มในรถที่จอดตากแดดจะทำให้ได้รับสารไดออกซินก่อมะเร็ง" ซึ่งไม่เป็นความจริง มีการอธิบายหลายครั้งจากตน นักวิชาการหลายคน และจากสถาบันพลาสติก จนกระทั่งมีการทดสอบวิเคราะห์ และแถลงจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ. 2557 ว่า ขวดน้ำดื่มตากแดด ไม่ได้จะเป็นอันตรายอย่างที่กล่าวกัน กล่าวคือ ไม่พบสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง รวมถึงไม่พบสารพิษไดออกซิน (Dioxins) สาร Bisphenol A (BPA) หรือสาร PCB (Polychlorinated biphenyl) ในขวดน้ำที่ถูกทิ้งไว้ในรถอุณหภูมิสูงแต่อย่างใด

          ก่อนหน้านี้ นายแพทย์อภิชัย มงคล อดีตอธิบดีกรมวิทย์ฯ สรุปไว้ว่า "ไม่เคยมีรายงานการตรวจพบไดออกซินในพลาสติก และสารเคมีต่าง ๆ ที่มีการกล่าวอ้างว่าละลายออกมาจากขวดพลาสติกทั้งในสภาวะอุณหภูมิสูงหรือสภาวะการแช่แข็ง ซึ่งไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าเกิดขึ้นได้"

ขวดน้ำพลาสติกแช่แข็ง

          เรื่องนี้ตรงกับความรู้พื้นฐานเรื่องพลาสติก การแช่แข็งขวดน้ำพลาสติกไม่ได้ทำให้ขวดปล่อยสารเคมีออกมา ในทางกลับกันน่าจะช่วยชะลอและป้องกันการปล่อยสารเคมีออกมาอีกด้วย ตามหลักปฏิกิริยาเคมีทั่วไป เนื่องจากความร้อนที่ลดลงในขวด ดังนั้นตนจึงขอแย้งไว้ว่าไม่น่าจะเป็นความจริง  

          ป.ล. ในต่างประเทศ ก็เคยมีการแก้ข่าวปลอมเรื่องที่ "ห้ามแช่แข็งขวดน้ำ" กันมาแล้ว โดย FDA องค์การอาหารและยา สหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข้อกล่าวอ้างต่าง ๆ ว่าจะมีสารเคมีจากพลาสติกแพร่ออกมาสู่อาหารให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และบอกว่าไม่มีหลักฐานว่าขวดพลาสติกหรือภาชนะพลาสติกต่าง ๆ จะมีสารไดออกซิน

ขวดน้ำพลาสติกแช่แข็ง
ภาพจาก ThaiPBS

ขวดน้ำพลาสติกแช่แข็ง
ภาพจาก ThaiPBS

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

           
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อ.เจษฎา ฟันธงตรงนี้ ขวดน้ำพลาสติกแช่แข็ง อันตรายหรือไม่ หลังมีรายการทีวีชี้ มีสารก่อมะเร็ง อัปเดตล่าสุด 18 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 16:35:46 102,835 อ่าน
TOP
x close