x close

วิเคราะห์ร้านบวก VAT 7% ทิพย์ อ้างเป็นใบชั่วคราว ร้านทำได้ไหม ส่อทุจริตเต็ม ๆ


          เปิดบทวิเคราะห์ ร้านบุฟเฟ่ต์ออกบิล VAT 7% ทิพย์ เขียนเองด้วยลายมือไม่ต้องง้อเอกสาร ร้านแจงเป็นแบบชั่วคราว เนื่องจากเครื่องเสีย เผยตามหลักกฎหมายมีความผิดทันที สาเหตุเพราะอะไรบ้าง…

ร้านบวก VAT 7% ทิพย์

          จากกรณีโลกออนไลน์ มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีร้านอาหารบุฟเฟ่ต์แห่งหนึ่งออกบิลเงินสดคิดเงินลูกค้าที่มารับประทาน โดยช่วงท้ายบิลมีการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7% จนลูกค้าสงสัยว่าทำแบบนี้ก็ได้เหรอ พร้อมแนบบิลดังกล่าวซึ่งมีรายละเอียดคือ ค่าบุฟเฟ่ต์ต่อหัวและค่าเครื่องดื่มต่าง ๆ รวมแล้ว 932 บาท และมีการเขียนเพิ่มอีก 1 รายการคือ VAT 7% ซึ่งเขียนด้วยลายมือจำนวน 65.24 บาท รวมทั้งหมดเป็น 997.24 บาท สังคมเกิดข้อสงสัยว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะต้องเป็นร้านที่จดทะเบียน และมีใบกำกับภาษี ไม่ใช่จู่ ๆ เขียนเพิ่มเองแบบนี้


ร้านบวก VAT 7% ทิพย์

          ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 5 เมษายน 2565 มีรายงานข่าวระบุว่า ทางร้านได้ชี้แจงเรื่องบิลดังกล่าว ซึ่งกำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักนั้น เป็นการออกใบกำกับภาษีแบบชั่วคราว เนื่องจากเครื่องออกใบกำกับภาษีของที่ร้านเสีย อยู่ระหว่างกำลังส่งซ่อม จึงต้องเขียนแบบชั่วคราวให้ลูกค้าไปก่อน ซึ่งทางร้านมีการจดทะเบียนร้านค้า และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

          ภายหลังทางร้านออกมาชี้แจงแล้ว เรื่องเหมือนจะจบ แต่ไม่จบง่าย ๆ เพราะชาวเน็ตยังคงมีข้อถกเถียงประเด็นอื่นอีก มองว่าการออกใบกำกับภาษีแบบชั่วคราว ทางร้านจะอ้างแบบนั้นก็ไม่ได้ เพราะรายละเอียดไม่ครบตามข้อกำหนด ไม่มีชื่อร้าน ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่บิล วันที่ออกบิล และอื่น ๆ อีก

          รวมถึงมีการสงสัยว่า ออกแบบชั่วคราวไปก่อน แล้วตอนนำส่งค่อยแนบใบจริงไปด้วยอย่างนั้นหรือ การทำแบบนี้เท่ากับออกใบกำกับภาษีย้อนหลังหรือไม่ ซึ่งก็เข้าข่ายผิดกฎหมายอีก เพราะต้องออกใบทันทีที่ส่งมอบสินค้าหรือบริการ ส่วนผู้ซื้อก็จะเอาใบนี้ไปลดหย่อนภาษีไม่ได้

          ขณะที่ ทวิตเตอร์ @TAXBugnoms ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การออกเอกสารแบบนี้ผิดตรงไหนอย่างไรบ้าง โดยต้องทำความเข้าใจและแยก 2 ประเด็นนี้ให้ชัดเจน คือ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT กับ การออกใบกำกับภาษี

ร้านบวก VAT 7% ทิพย์

การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT


          หากธุรกิจไหนจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องมีการคิดภาษีส่วนนี้ในการขายสินค้าหรือให้บริการตามที่กฎหมายกำหนด โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีนี้จะเรียกว่า "ภาษีขาย" ทางเลือกคือ

          1. คิดเงินเพิ่ม 7% ในราคาสินค้าหรือบริการ เช่น ขายอาหารราคา 100 + 7 = 107 บาท แบบนี้จะมีรายได้ 100 เท่าเดิม หรืออาจเรียกว่าเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค ทำให้เราเห็นว่าบางร้านจะเขียนในเมนู ว่าราคานี้ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

          2. คิดราคาเดิม แล้วคิดยอด VAT ออกมาด้วย เช่น ราคาอาหาร 100 บาท (รวม VAT 7%) นั่นเท่ากับว่าทางร้านจะมีรายได้เพียง 93.46 บาท ซึ่ง 6.54 บาท คือยอด VAT 7%

ร้านบวก VAT 7% ทิพย์

ใบกำกับภาษี


          เป็นเอกสารที่ผู้ขายมีหน้าที่ออกให้กับผู้ซื้อ ซึ่งมี 2 ประเภท คือ ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบข้อมูลครบ กับใบกำกับภาษีย่อที่ออกให้กับรายย่อย ส่วนที่แตกต่างกันสังเกตได้
คือ ใบกำกับภาษีเต็มรูป จะมีชื่อและที่อยู่ผู้ซื้อ แยกจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้ชัดเจน ขณะที่ใบกำกับภาษีอย่างย่อ จะไม่มีชื่อและที่อยู่ผู้ซื้อ ส่วนราคามักจะรวมจำนวนภาษีไว้แล้ว

          โดยคนที่สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ จะเป็นร้านค้าที่มีการให้บริการกับรายย่อยทั่วไป เช่น ร้านสะดวกซื้อ หรือ ร้านอาหารเครื่องดื่ม ผู้บริโภคมักจะได้รับใบกำกับภาษีอย่างย่อแทน แต่ถ้าต้องการใบกำกับภาษีเต็มรูปก็สามารถขอได้ ดังนั้น หากจะวิเคราะห์อาจต้องแยกเป็น 2 เรื่อง ดังนี้...

          1. ถ้าร้านอาหารดังกล่าวจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการ แปลว่าต้องคิด VAT 7% เพิ่มในราคาอาหาร ซึ่งต้องมาดูว่าปกติแล้วคิดรวมในราคาอาหาร หรือแยกภาษีออกมาคิดต่างหากจากราคา

          2. เอกสารที่ออกไม่ใช่ใบกำกับภาษี ซึ่งจะมีความผิดทันที ถ้าร้านไม่ออกให้ลูกค้าเมื่อมีการร้องขอใบกำกับภาษีที่ถูกต้อง

          อย่างไรก็ตาม หากเจอธุรกิจที่ออกใบกำกับภาษีไม่ถูกต้อง สามารถแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ระบบแจ้งเบาะแสของกรมสรรพากร ระบบแจ้งเบาะแสหลีกเลี่ยงภาษี

ขอบคุณข้อมูลจาก ทวิตเตอร์ @TAXBugnoms, ทวิตเตอร์ @CasterGTroy1
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิเคราะห์ร้านบวก VAT 7% ทิพย์ อ้างเป็นใบชั่วคราว ร้านทำได้ไหม ส่อทุจริตเต็ม ๆ โพสต์เมื่อ 5 เมษายน 2565 เวลา 11:29:27 15,752 อ่าน
TOP