x close

สรุปดราม่า UDDC - เอิร์ธ - The Mettad โดนแหกออกแบบคลองช่องนนทรี ฟ้องไม่ละเว้นใด ๆ


          ศูนย์ออกแบบผังเมือง UDDC แหก เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - The Mettad ยันชัดไม่มีเอี่ยวการออกแบบสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ด้าน The Mettad จ่อโดนฟ้องหนัก ขณะที่ เอิร์ธ พงศกร ยังยืนยันข้อมูลเดิม

ดราม่า คลองช่องนนทรี

          กำลังเป็นดราม่าคุกรุ่นเลยทีเดียว สำหรับกรณีโครงการพัฒนาคลองช่องนนทรี ที่ก่อนหน้านี้มีการเผยว่าเป็นคลองระดับ "พันล้าน" แต่ไม่คุ้มค่าที่จะทำ ก่อนที่เอิร์ธ พงศกร อดีตโฆษก กทม. จะออกมาชี้แจงความจริง แต่ยิ่งพูดยิ่งไปกันใหญ่ เมื่อพบว่า UDDC ศูนย์ออกแบบฯ ของจุฬา ก็โดนถูกพาดพิงไปด้วย จนทำให้ลูกเพจทัวร์ไปลงที่ UDDC และทำให้ทาง UDDC เตรียมฟ้องโดย "ไม่ประนีประนอมใด ๆ"

สำนักข่าวอิศรา เผย คลองช่องนนทรี ขึ้นชื่อเป็นคลองพันล้าน ระบบน้ำอย่างเดียว 500 กว่าล้าน


          วันที่ 28 มกราคม 2565 สำนักข่าวอิศรา ได้ออกมาเผยถึงงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ที่พบว่ามีงบประมาณถึง 980 ล้านบาท นอกจากนี้ยังหนังสือไปถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ ที่ของบอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อขอก่อสร้าระบบไหลเวียนน้ำและปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณคลองช่องนนทรี ที่มีวงเงินกว่า 576.69 ล้านบาท และทำให้งบประมาณในการปรับปรุงภูมิทัศน์คอลงช่องนนทรีทั้งหมด พุ่งสูงถึง 1,556 ล้านบาท

เอิร์ธ พงศกร แจง 9 ข้อ พร้อมส่วนหนึ่งพาดพิง UDDC จับมือ TDRI ผลักดันพัฒนาคลองช่องนนทรี


ดราม่า คลองช่องนนทรี

ดราม่า คลองช่องนนทรี

          จากนั้น ที่ ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง อดีตโฆษกกรุงเทพมหานคร มีการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณที่ใช้ในการสร้างสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ที่ใช้เพียงแค่ 80 ล้านบาท ไม่ใช่ 980 ล้านบาท ตามที่ถูกกล่าวหา พร้อมกับชี้แจงประเด็นเข้าใจผิด 10 ประเด็นอื่น ๆ เช่น การใช้ราวเหล็กกันตก, คนออกแบบเป็นใคร มีความสามารถหรือไม่, คลองแห่งนี้ทำให้รถติด และมีตอนหนึ่งที่พูดถึงผลการศึกษาจาก UDDC หรือ Urban Design and Development Center จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกลายเป็นเรื่องดราม่า

          โดยในส่วนของการชี้แจงเรื่องผลการศึกษา ทาง ร.ต.อ. พงศกร ระบุถึงที่มาของโครงการพัฒนาสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ว่า โครงการพัฒนาคลองช่องนนทรี มีการพูดถึงมานานกว่า 14 ปี โดยมีจุดศูนย์กลางคือ กรุงเทพฯ ควรมีการพัฒนาคลองช่องนนทรีและคลองสาทร เนื่องจากเป็นคลองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ย่านสีลม-สาทร-บางรัก ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ฉะนั้น จุดดังกล่าวควรมีภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อให้ไปแข่งกับเมืองอื่น ๆ ในต่างประเทศได้

          และแผนการพัฒนาคลองช่องนนทรี ส่วนหนึ่งเกิดจากการจ้างศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC) ร่วมกับสำนักงานผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร (TDRI) ตั้งแต่ปี 2558 และ กทม. ก็นำแผนนี้มาดำเนินการจนสำเร็จ

ดราม่า คลองช่องนนทรี
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Mettad

ดราม่า คลองช่องนนทรี

เพจ The Mettad รับลูก ขยายความต่อ บอก ออกแบบเอง ด้อยค่าเอง นักเลงพอ


          นอกจากนี้ ยังมีเฟซบุ๊ก The Mettad ที่ออกมาพาดพิงถึงโครงการดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยอ้างว่า "ออกแบบเอง ด้อยค่าเอง นักเลงพอ" และกล่าวอ้างว่า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI และ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ UDDC ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและฟื้นฟูเมือง

          โดยที่ทางเพจกล่าวอ้างชัดเจนว่า "การจ้างในครั้งนั้น UDDC เป็นผู้ออกแบบและเสนอแนะให้ กทม. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558" และ พ.ต.ท. อัศวิน เล็งเห็นถึงประโยชน์ จึงให้มีการปรับปรุงคลองช่องนนทรีขึ้น จนทำให้เกิดการผลักดันโครงการนี้ แต่สุดท้าย ผศ. ดร.นิรมล เสรีสกุล เป็นผู้อำนวยการ UDDC กลับลาออกจากตำแหน่งไป จากนั้น  ผศ. ดร.นิรมล ร่วมทีมนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และพลิกลิ้นกล่าวหาว่า โครงการนี้ไม่คุ้มค่าที่จะทำ ไม่ตอบโจทย์ชีวิตคนเมือง ควรทำอย่างอื่นดีกว่า ทั้งที่สถาบันของตนเองก็เป็นคนออกแบบ

UDDC ไม่ยอม ยืนยันไม่ได้ออกแบบคลอง พร้อมฟ้องทั้ง 2 เพจแบบ "ไม่ประนีประนอม"


          เริ่มต้นจาก UDDC จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก UDDC - Urban Design and Development Center มีทั้งหมด 3 ข้อด้วยกัน ดังนี้

          1. UDDC ไม่ได้เป็นผู้ออกแบบสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ส่วนใครจะเป็นผู้ออกแบบนั้น สามารถหาข้อมูลจากข่าวในอินเทอร์เน็ต ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 จวบจนปัจจุบันได้เลย เพราะมีชื่อของบุคคลเหล่านี้อยู่ในสำนักข่าว และเพจประชาสัมพันธ์ กทม.

          2. โครงการที่ UDDC ร่วมศึกษา คือโครงการกรุงเทพฯ 250 ในปี 2558 ที่มี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ และมีข้อเสนอคือ การปรับปรุงฟื้นฟูถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ช่วงนั้นมีความซบเซา สู่ย่านเศรษฐกิจศูนย์กลางเมืองที่เชื่อมต่อย่านสีลม-สาทร-บางรัก เข้ากับย่านเศรษฐกิจใหม่พระราม 3 เพื่อช่วยกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจต่อไป

          ส่วนคลองช่องนนทรี อยู่ในบทบาทองค์ประกอบระเบียงสีเขียวรอง ไม่ใช่สวนสาธารณะตามที่ถูกบิดเบือน ดังนั้น เพจทั้งสองมีเจตนาที่จะบิดเบือนให้ผู้อื่นเข้าใจว่า UDDC เป็นผู้ออกแบบสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

          3. คนที่เข้าร่วมทีมนายชัชชาติ คือ คุณชยากรณ์ กำโชค ผู้ช่วย ผอ. UDDC ซึ่งลาออกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ฉะนั้นคำกล่าวหาที่ว่า ผศ. ดร.นิรมล เป็นส่วนหนึ่งของทีมนายชัชชาติ จึงเป็นข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จ

          สุดท้าย การกระทำของเพจทั้งสองเป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและการใช้ถ้อยคำหยาบคายหมิ่นประมาท สร้างความเสื่อมเสียแก่ UDDC ตอนนี้ทีมกฎหมายได้เก็บหลักฐานและพร้อมที่จะฟ้องร้องให้ถึงที่สุดโดยไม่มีการประนีประนอม


ดราม่า คลองช่องนนทรี

          ส่วน TDRI ได้ออกมาชี้แจงด้วยเช่นกันผ่านเฟซบุ๊ก Thailand Development Research Institute (TDRI) ว่า จากการจัดกิจกรรม "ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ เดิม เติมโจทย์ให้ผู้ว่าฯ ใหม่" ที่ TDRI และ UDDC ร่วมกัน จัดทำบทวิเคราะห์ขึ้น และนำเสนอสู่สาธารณะ พร้อมกับการเชิญผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มาร่วมพูดคุยไปเมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา ทำให้มีคนบางกลุ่มระบุว่า เรามีความเกี่ยวข้องกับโครงการปรับปรุงคลองช่องนนทรี

          จากข้อมูลดังกล่าว เราจึงขอชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง TDRI ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับโครงการปรับปรุงคลองช่องนนทรี การจัดทำผังแม่บทดังกล่าวของ กทม. ตลอดจนการจัดทำโครงการศึกษาวิจัยหรือโครงการให้คำปรึกษาใด ๆ ให้แก่ กทม. เลยตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

เพจ Mettad ลบข้อความ แล้วโพสต์ใหม่อีกครั้ง


          ขณะที่ เฟซบุ๊ก Mettad ชี้แจงว่า สาเหตุที่ทำให้เพจเข้าใจผิดเรื่องข้อมูลดังกล่าว นั่นเป็นเพราะว่าได้รับข้อมูลมากจากเพจของ ร.ต.อ. พงศกร จึงเข้าใจว่า UDDC มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ และเมื่อทาง UDDC มีการชี้แจงว่าเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด และทางเพจไม่ได้มีข้อมูลเชิงลึกว่า ใครทำหน้าที่ส่วนไหนบ้าง จึงขอลบข้อมูลดังกล่าวออกไป เพื่อที่จะรอข้อมูลทั้ง 2 ฝั่งจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการนี้ เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น

ร.ต.อ. พงศกร ยืนยันข้อมูลตามที่โพสต์ ลั่นใครใส่ความ จะใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรม


          อย่างไรก็ตามหลังจากที่โพสต์ของ ร.ต.อ. พงศกร ซึ่งเชื่อมโยงว่าแผนการพัฒนาคลองช่องนนทรี เกิดจากผังแม่บทการพัฒนาและฟื้นฟูเมืองซึ่งมีการจ้างศึกษา UDDC ร่วมกับ TDRI ก่อนเสนอแนะให้ กทม. ดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 ตกเป็นดราม่าดังกล่าว ต่อมา เฟซบุ๊ก เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang ก็เข้ามาโพสต์ชี้แจง

          โดย ร.ต.อ. พงศกร ขอยืนยันในข้อเท็จจริงของข้อมูลตามโพสต์ข้างต้น และหากมีผู้ใดทำให้ได้รับความเสียหายจากการใส่ความ หรือบิดเบือนข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเผยแพร่โดยตรง หรือเผยแพร่ซ้ำผ่านการแชร์ ตนขอรักษาสิทธิ์และใช้สิทธิ์ไปตามกระบวนการยุติธรรม 

ดราม่า คลองช่องนนทรี

อัปเดตข้อมูลเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 เวลา 09:00 น.
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปดราม่า UDDC - เอิร์ธ - The Mettad โดนแหกออกแบบคลองช่องนนทรี ฟ้องไม่ละเว้นใด ๆ อัปเดตล่าสุด 25 เมษายน 2565 เวลา 09:55:35 59,902 อ่าน
TOP