เพจอิมแพ็ค เมืองทองธานี เจอลูกทัวร์แวะมาเยี่ยม หลังเผยเอาพื้นที่ 50 ไร่มาปลูกกล้วย 10,000 ต้น อยากสร้างพื้นที่สีเขียว คนไม่ได้มองเป็นเรื่องรักธรรมชาติ แต่เป็นการเลี่ยงภาษี พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 แฟนเพจเฟซบุ๊ก IMPACT Arena, Exhibition and Convention Center มีการประชาสัมพันธ์ข่าวภายในองค์กร ระบุว่า ทางซีอีโอได้นำพื้นที่รกร้าง 50 ไร่ ริมทะเลสาบเมืองทองธานี มาสร้างประโยชน์ทำโครงการเกษตรปลูกต้นกล้วยกว่า 10,000 ต้น เพื่อเป็นวัตถุดิบสนับสนุนครัวอิมแพ็คและแบ่งปันช่วยเหลือสังคมในโอกาสต่าง ๆ รวมถึงการสร้างพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เมืองทองธานีน่าอยู่
ทั้งนี้ ได้มีการเผยภาพพื้นที่รกร้างของอิมแพ็ค ที่เปลี่ยนจากที่ดินแห้ง ๆ ที่ปรับหน้าดินและปลูกกล้วยกันมหาศาล โดยที่ทำตั้งแต่การลงหน่อ จนตอนนี้ต้นกล้วยเริ่มแตกใบเป็นต้นเล็ก ๆ และมีการจ้างคนให้มาดูแลสวนกล้วยอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ตัดหญ้าอย่างดี แม้ตอนนี้จะยังไม่มีผลกล้วย แต่คาดว่าอีกไม่นานอาจจะได้เห็นผลกล้วยอย่างแน่นอน
ชาวเน็ตตั้งข้อสังเกต เหมือนปลูกกล้วยเลี่ยงภาษีมากกว่า
อย่างไรก็ตาม หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ชาวเน็ตต่างพากันตั้งข้อสังเกตว่า วัตถุประสงค์ในการปลูกกล้วยดูเหมือนจะทำไปเพื่อลดหรือเลี่ยงการจ่ายภาษีที่ดินมากกว่า โดยมีคนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตามพ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่ดินแต่ละชนิด จะเสียภาษีแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- ที่ดินเกษตรกรรม 0.01-0.1%
- ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย 0.02-0.1%
- ที่ดินพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม 0.3-0.7%
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ 0.3-0.7%
โดยจะเห็นได้ว่า สำหรับที่ดินรกร้างในเมืองจำนวนมาก ที่รอวันพัฒนาเป็นโครงการต่าง ๆ หรือรอให้มีคนมาซื้อ เศรษฐีหรือเจ้าของที่ดินหลายคน จะเปลี่ยนที่ดินหมื่นล้านกลางเมืองให้กลายเป็นสวนเกษตร เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีที่ดินจำนวนมาก ซึ่งหากเป็นที่ดินเกษตรกรรม จะเสียภาษีร้อยละ 0.01-0.1 แต่หากเป็นที่ดินรกร้าง จะต้องเสียภาษีถึงร้อยละ 0.3-0.7
อย่างไรก็ตาม การจะปลูกพืชผักชนิดใดเพื่อให้เข้าข่ายการทำเกษตรแล้วนั้น จะพบว่ามีหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมกำกับเอาไว้อยู่ ซึ่งหลักเกณฑ์ในการใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมนั้นคือการ ทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ โดยหากต้องการปลูกกล้วยอย่างที่อิมแพ็คฯ ทำ จะต้องปลูกตั้งแต่ 200 ต้นต่อไร่ขึ้นไป และเมื่อรวมกับการลงทุนและเงินทุนในการจ้างคนมาดูแลสวนกล้วยกับภาษีที่เสียไป ก็นับว่าคุ้มค่ากว่าการทิ้งให้เป็นที่ดินรกร้างอยู่มาก
มองเป็นการทำการตลาดแบบ CSR
การตลาดแบบ CSR หรือ Corporate Social Responsibility คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร ซึ่งสามารถสร้างภาพลักษณ์และการประชาสัมพันธ์องค์กรได้อีกวิธีหนึ่ง สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
1. ข้อกำหนดตามกฎหมาย คือ การปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
2. ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คือ การคำนึงถึงการอยู่รอดและให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นโดยไม่เบียดเบียนสังคม
3. จรรยาบรรณทางธุรกิจ คือ สามารถสร้างผลกำไรแก่ผู้ถือหุ้นและผู้ประกอบธุรกิจได้ พร้อมตอบแทนประโยชน์เพื่อสังคมมากขึ้น
4. ความสมัครใจ คือ การดำเนินธุรกิจควบคู่กับการปฏิบัติตามแนวทางของ CSR ด้วยความสมัครใจ เช่น การปลูกป่า การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ก่อตั้งมูลนิธิ การบริจาคของบริษัท เป็นต้น
เกิดข้อโต้แย้งระหว่างชาวเน็ต
ฝ่ายหนึ่งมองว่าที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่ขององค์กร เจ้าของจะทำอะไรก็ได้ การเลี่ยงภาษีแบบถูกกฎหมายไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นหน้าที่ของรัฐต่างหากที่จะต้องออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายให้เป็นธรรม
ส่วนอีกฝ่ายมองว่า ถ้าอยากจะใจบุญช่วยเหลือสังคมขนาดนี้ บริจาคที่ดินให้รัฐเพื่อทำเป็นสวนสาธารณะก็ได้ สร้างพื้นที่สีเขียวให้คนในพื้นที่ จะเป็นประโยชน์กว่า อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ อย่าคุ้นชินกับสิ่งเหล่านี้ ประชาชนต้องตั้งคำถามกับเจ้าของกิจการที่กระทำแบบนี้ เพราะวันหนึ่งคนที่อาจจะต้องรับผลเสียก็คือลูกหลานของประชาชนเอง