เตือน สับปะรดสีชมพู ผิดกฎหมาย หลังโพสต์ขายว่อน ห้ามนำเข้า ห้ามซื้อ-ขายในไทย


          เตือน สับปะรดสีชมพู ผิดกฎหมาย หลังโพสต์ขายว่อนโซเชียล ชี้เป็นพืชผลไม้ GMO อันตรายต่อพืชท้องถิ่น ห้ามนำเข้า ห้ามซื้อ-ขาย ตรวจเจอสามารถยึดและทำลายได้ทันที


          โซเชียลกำลังให้ความสนใจอย่างมาก กรณีมีการโฆษณาขาย สับปะรดสีชมพู หรือ สัปปะรดเนื้อสีชมพู ซึ่งมีการแชร์กันว่าเป็นการลักลอบขายโดยผิดกฎหมาย ด้านศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเป็นข้อมูลจริง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

           เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด (10 มิถุนายน 2565) สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า สับปะรดสีชมพู เป็นผลไม้ที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม หรือเรียกว่าผลไม้จีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms : GMOs) เป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศไทย ซึ่งมาจากประเทศคอสตาริกา

           โดยขณะนี้กำลังเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกประกาศเรื่องผลิตภัณฑ์ จีเอ็มโอ รวมถึงฉลากจีเอ็มโอ เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังการโฆษณาขายบนออนไลน์ ก่อนที่พืชผักผลไม้เหล่านี้จะปนเปื้อนพืชท้องถิ่น สร้างปัญหาการส่งออกและผลกระทบต่อผู้บริโภค เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วตัดต่อพันธุ์เพื่อการค้า ให้ผลผลิตมาก ทนแดด แต่การตัดต่อแบบนี้จะทำให้พืชเป็นหมัน สายพันธุ์ใช้ไม่ได้ ทำให้บริษัทตัดต่อถือกรรมสิทธิ์ในการครอบครองไว้

           ทั้งนี้ พบการนำเข้าสับปะรดสีชมพูในไทยมานานกว่า 9 เดือนแล้ว และยังทะลักเข้าไม่ขาดสาย สับปะรดดังกล่าวใช้ชื่อการค้าว่า Pinkglow pineapple เป็นของบริษัท DEL MONTE ประเทศคอสตาริกา

สับปะรดสีชมพู

           ปัจจุบันยังพบว่ามีการขายและรีวิวสับปะรดสีชมพู สะท้อนให้เห็นถึงความล่าช้าในจัดการปัญหาของหน่วยงานรัฐ ซึ่งส่งผลต่อระบบการคุ้มครองผู้บริโภค อาจเกิดความเสี่ยงจากการบริโภคผลไม้เหล่านี้ มีการโฆษณาว่า สับปะรดสีชมพูมีกลิ่นและรสดีกว่าสับปะรดดั้งเดิม ซึ่งเชื่อว่ามีเกษตรกรในไทยแอบปลูก แม้จะรู้ว่าผิดกฎหมาย ดังนั้น ประชาชนว่าใครพบเห็นให้รีบแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ทันที

           หากปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้าและปลูกในวงกว้าง ระยะยาวอาจส่งผลกระทบกับการส่งออกของอุตสาหกรรมผลไม้ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของไทย และเพิ่มภาระต้นทุนการตรวจสอบของภาคเอกชน จากบทเรียนปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมของมะละกอจีเอ็มโอเมื่อปี 2556 ที่ทำให้การส่งออกลดลง 4-5 เท่า เนื่องจากประเทศคู่ค้า เช่น สหภาพยุโรป ไม่ยอมรับ

สับปะรดสีชมพู

           ดังนั้น หากกรมวิชาการเกษตร ตรวจพบว่ามีการลักลอบซื้อ-ขาย หรือปลูก สามารถยึด อายัด และทำลายได้ทันที โดยผู้ซื้อและผู้ขายไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากใครได้ จึงมีแต่เสียกับเสีย จึงไม่อยากให้พี่น้องประชาชนว่าสนับสนุนพืชดังกล่าว

          ทั้งนี้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ที่ปลูกสับปะรดมากสุดของประเทศ คือ  148,198 ไร่ หรือ 34.95% และยังเป็นพื้นที่ที่มีการแปรรูปสับปะรดกระป๋อง จึงอยากให้รีบจัดการกับการนำเข้าสับปะรดจีเอ็มโอ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรที่ปลูกสับปะรด ที่มีมากกว่า 50,000 ครอบครัว รวมถึงอุตสาหกรรมสับปะรดทั้งระบบ

สับปะรดสีชมพู

สภาองค์กรของผู้บริโภค มีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

          1. ขอให้กรมวิชาการเกษตรเร่ง ดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของสับปะรดดัดแปรพันธุกรรมในประเทศ เนื่องจากมีอำนาจตรวจค้น ยึด อายัด ทำลาย และสั่งไม่ให้นำเข้าอยู่แล้ว ดังนั้น หากจำเป็นต้องมีหมายค้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ ก็ควรเร่งดำเนินการเพื่อออกหมายค้น

          2. ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งออกประกาศว่าด้วยอาหารจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม และประกาศฉลากจีเอ็มโอ ตามที่องค์กรของผู้บริโภคเคยทำข้อเสนอ โดยต้องมีสัญลักษณ์ฉลากจีเอ็มโอที่ชัดเจน และครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์             

          3. ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร และ อย. สร้างกระบวนการเฝ้าระวังและติดตามการโฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์

          4. เสนอให้รัฐนำพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ ฉบับประชาชน ที่เคยเข้าสภาผู้แทนราษฎรก่อนรัฐประหาร มาพิจารณาเป็นกฎหมายและบังคับใช้โดยเร็ว เพื่ออุดช่องว่างาการลักลอบนำเข้าผลไม้จีเอ็มโอ

          ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค จะทำหนังสือติดตามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 256

ขอบคุณข้อมูลจาก สภาองค์กรของผู้บริโภค, ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือน สับปะรดสีชมพู ผิดกฎหมาย หลังโพสต์ขายว่อน ห้ามนำเข้า ห้ามซื้อ-ขายในไทย อัปเดตล่าสุด 10 มิถุนายน 2565 เวลา 12:26:40 30,678 อ่าน
TOP
x close