เมนูกัญชา ย้ำมือใหม่ควรรู้ก่อนลองชิม ไม่งั้นอาจเสี่ยงแพ้รุนแรง จะทำขายต้องทำไง


          เรื่องควรระวังก่อนชิมเมนูกัญชา มือใหม่อาจเสี่ยงเกิดอาการแพ้รุนแรง เผยส่วนไหนใช้ทำอาหารได้บ้าง ควรกินปริมาณเท่าไรถึงปลอดภัย

อาหารกัญชา

          ภายหลังการปลดล็อกกัญชา น่าจะเริ่มเห็นเมนูต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวกับกัญชาผลิตออกมาให้ลองชิมไม่น้อย แต่หลายคนที่ยังไม่เคยลองกัญชามาก่อนอาจจะอยากลองกันดูสักครั้ง แต่ก็ยังจำเป็นต้องระวัง เพราะหากได้รับสาร THC ในกัญชามากไป ก็อาจจะเกิดอาการแพ้และเป็นอันตรายได้เช่นกัน ซึ่งหลายข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำอาหารจากกัญชา มีข้อเท็จจริงดังนี้



ใช้กัญชาปรุงอาหาร


          ส่วนที่นิยมนำมาปรุงอาหารมากที่สุดคือ ใบสดที่เพิ่งเก็บจากต้น ไม่มีสารเมา THC อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เพิ่งเริ่มกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา อาจมีอาการข้างเคียง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน รู้สึกมึนงง ปวดหัว ใจเต้นเร็ว โดยจะแสดงผลหลังกิน 30-60 นาที และอยู่ได้นานถึง 6 ชั่วโมง ดังนั้นผู้ที่เพิ่งเริ่มกินหรือกินครั้งแรก ควรเริ่มกินที่ครึ่งใบ แล้วรอดูผลหลังการกิน 2 ชั่วโมง

          สำหรับการนำกัญชามาใช้ในตำรับอาหารไทย เช่น ใบกัญชานำมาปรุงรสน้ำซุป ยอดกัญชาใส่ผัดเผ็ด แกงเผ็ด ใบอ่อนกัญชา เป็นผักสดนำมาจิ้มน้ำพริง ใส่แกงส้ม แกงกะทิ เมนูผัด ส่วนรากและกิ่งก้านกัญชา บางพื้นที่มีการนำรากมาทำน้ำซุป 

นำกัญชา กัญชง มาใช้ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายได้ไหม


          ถ้าจะนำส่วนของกัญชา กัญชง หรือสารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) มาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเพื่อผลิตจำหน่าย ต้องใช้เฉพาะส่วนของพืชที่กำหนดในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข คือ เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน รากและใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย และต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักแห้ง
 
          ตัวอย่างที่แนะนำสำหรับ การนําใบกัญชามาใช้ในการทํา ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565

          ทอด
           - เมนูน้ำหนัก 51 กรัม ใบกัญชา 1-2 ใบสด THC ร้อยละ 0.11

          ผัด
           - เมนูน้ำหนัก 74 กรัม ใบกัญชา 1 ใบสด THC ร้อยละ 0.006

          แกง
           -  เมนูน้ำหนัก 614 กรัม ใบกัญชา 1 ใบสด THC ร้อยละ 0.02

          ต้ม
           - เมนูน้ำหนัก 614 กรัม ใบกัญชา 1 ใบสด THC ร้อยละ 0.02

          ผสมในเครื่องดื่ม
           - น้ำหนักเมนู 200 มิลลิลิตร ใบกัญชา 1 ใบสด THC ร้อยละ 0.003

อาหารกัญชา
ภาพจาก AChanFoto / Shutterstock.com


อาจารย์อ๊อด เตือนมือใหม่กัญชาระวังอาการแพ้ แนะกินอย่างไรถึงจะไม่เสี่ยง


          รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยกับ TNN ระบุว่า แม้จะมีการปลดล็อกกัญชา แต่สาร THC จากต้นกัญชา ยังเป็นยาเสพติดประเภท 5 ถ้าครอบครองเกินร้อยละ 0.2 ของน้ำหนักจะมีโทษ ดังนั้น ประชาชนจะต้องไม่ดึงสาร THC ออกมาจากต้นกัญชาเด็ดขาด จะใช้ได้ในกรณีที่นำใบ ต้น ราก หรือดอก มาใช้สันทนาการ แต่ถ้านำใบ หรือโดยเฉพาะส่วนที่เป็นดอก นำมาสกัดหรือบีบออกมาจะเป็นยางเหนียว ๆ ซึ่งตัวนี้คือสาร THC จะถือว่าเป็นการครอบครองยาเสพติดประเภท 5 ดังนั้น จึงต้องระมัดระวังในการใช้

          สำหรับสาร THC จากกัญชา บางคนเมื่อรับไปอาจจะเกิดอาการแพ้ บางคนได้รับไปยังไม่เกินปริมาณ 0.2 ก็มีอาการหลับ ล้มทั้งยืน โดยยังมีสติรู้ตัวแต่จะทรงตัวไม่ได้ ซึ่งจุดนี้ถือว่าอันตรายโดยเฉพาะหากมิจฉาชีพนำไปใช้งาน หรือกรณีขับรถแล้วเกิดอาการดังกล่าวก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้ในกลุ่มผู้สูงอายุต้องระวังเรื่องความดันขึ้นเร็ว อาจหัวใจล้มเหลวได้

          เบื้องต้นในการช่วยเหลือผู้ที่มีอาการแพ้กัญชา ควรให้นอนพัก เปิดแอร์ ให้อากาศถ่ายเทสะดวกเพื่อรอให้อาการดีขึ้นมา แต่หากมีอาการตาเหลือก หรือชัก ต้องรีบส่งโรงพยาบาลทันที

          กรณีการใช้กัญชากับอาหารควรจะใช้ใบสดจะดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าไปผ่านความร้อนต้องกะปริมาณที่เหมาะสม ไม่เยอะจนเกินไป รวมทั้งผู้ที่อายุไม่เกิน 20 ปี ไม่ควรใช้เพราะจะส่งผลกระทบต่อสมอง

สรุปแล้วมือใหม่อยากชิมเมนูกัญชาทำอย่างไรจึงปลอดภัย


          - ตรวจสอบว่าตัวเองไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น อายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ผู้มีโรคประจำตัว ตับและไตบกพร่อง โรคหัวใจและหลอดเลือด

          - ทดลองในปริมาณน้อยว่า มีอาการแพ้ หรือไวต่อสาร THC หรือไม่

          - เช็กจากผู้ขายว่าใช้ส่วนใดของกัญชาในการทำอาหาร เช่น ปริมาณกี่ใบ ไม่ควรกินใบกัญชาแบบทั้งใบหรือใบที่ผ่านความร้อนแล้ว เกิน 5-8 ใบต่อวัน และระวังการเรื่องช่อดอกกัญชา เนื่องจากมี THC สูง ถือเป็นยาเสพติดและอาจส่งผลให้เกิดอาการแพ้ได้


อาหารกัญชา
ภาพจาก เฟซบุ๊ก FDA Thai

อาหารกัญชา


ขอบคุณข้อมูลจาก กรมอนามัย, อย., TNN, กัญชาทางการแพทย์, เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมนูกัญชา ย้ำมือใหม่ควรรู้ก่อนลองชิม ไม่งั้นอาจเสี่ยงแพ้รุนแรง จะทำขายต้องทำไง อัปเดตล่าสุด 14 มิถุนายน 2565 เวลา 16:42:13 13,197 อ่าน
TOP
x close