x close

ศาลอุทธรณ์ พิพากษาประหารชีวิต บรรยิน-มืออุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา ที่เหลือจำคุกตลอดชีวิต


           ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้โทษให้ประหารชีวิต บรรยิน กับ ณรงค์ศักดิ์ มืออุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 4 โดนคุกตลอดชีวิต หลังน้องสาวซึ่งเป็นผู้พิพากษา ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ไม่ลดโทษ

บรรยิน ตั้งภากรณ์
ภาพจาก เที่ยงวันทันเหตุการณ์

           เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ข่าวช่องวัน รายงานว่า ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาอดีตเจ้าของสำนวนโอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์ ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 3 น.ส.พนิดา ศกุนตะประเสริฐ เป็นโจทก์และโจทก์ร่วมยื่นฟ้องจำเลยที่ 1-6 ได้แก่

           1. พ.ต.ท. บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

           2. นายมานัส ทับทิม

           3. นายณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์

           4. นายชาติชาย เมณฑ์กูล

           5. นายประชาวิทย์ หรือตูน ศรีทองสุข

           6. ด.ต. ธงชัย หรือ ส.จ. อ๊อด วจีสัจจะ

           ในความผิด 9 ข้อหา ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ เป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไปถึงแก่ความตาย, ร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย, เป็นซ่องโจร โดยสมคบกันเพื่อกระทำผิด, ร่วมกันพยายามข่มขืนใจผู้อื่น ให้กระทำการใดโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ร่วมกันซ่อนเร้น ทำลายศพเพื่อปิดบังการตาย, ร่วมกันกระทำการใด ๆ แก่ศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นเพื่ออำพรางคดี

บรรยิน ตั้งภากรณ์
ภาพจาก เที่ยงวันทันเหตุการณ์

ศาลชั้นต้นลดโทษ บรรยิน จำคุกตลอดชีวิต แต่ศาลอุทธรณ์ ไม่เห็นด้วย แก้โทษให้ประหารชีวิต


           ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 (บรรยิน) ลงโทษประหารชีวิต แต่จำเลยที่ 1 ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 ทุกข้อหาคงจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว และให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีโอนหุ้นของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งให้จำคุก 8 ปี

           ส่วนจำเลยที่ 2 (มานัส) มีความผิดฐานสนับสนุนให้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 33 ปี 4 เดือน

           จำเลยที่ 4-6 (ชาติชาย-ตูน ศรีทองสุข-ส.จ. อ๊อด) มีความผิดฐานร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายฯ (เรียกค่าไถ่) ลงโทษประหารชีวิต แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต

           ขณะที่ จำเลยที่ 3 (ณรงค์ศักดิ์) กระทำผิดฆ่าโดยไตร่ตรอง (คนลงมือ) พิพากษาประหารชีวิต และกักขังหน่วงเหนี่ยวให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ให้พิพากษาประหารชีวิต แต่คำให้การเป็นประโยชน์ลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต

           ต่อมา น.ส.พนิดา โจทก์ โจทก์ร่วมจำเลยที่ 1-2 จำเลยที่ 4-6 ยื่นอุทธรณ์ว่าไม่มีเหตุบรรเทาโทษ ขอให้ไม่ลดโทษ ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่อุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนแล้วเห็นว่า อาศัยพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าว เป็นพยานหลักฐานสำคัญในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงและพิพากษาลงโทษจำเลย 1-6 ได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องอาศัยคำรับสารภาพของจำเลยอีก

           ทั้งจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพหลังจากได้ตรวจพยานหลักฐานของโจทก์แล้วมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ยอมรับข้อเท็จจริง จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ไม่ใช่รับสารภาพเพราะสำนึกในความผิด คำรับสารภาพเช่นนี้ไม่ถือเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษ

           ส่วนที่ศาลชั้นต้นลดโทษให้แก่จำเลย 1-6 นั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้เป็น

           - ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3

           - จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4-6 จำคุกตลอดชีวิต

           เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 แล้วไม่อาจนำโทษกระทงอื่นมารวม หรือนับต่อจากโทษคดีอื่นหรือเพิ่มโทษได้อีก ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3  ไม่ปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาประหารชีวิต บรรยิน-มืออุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา ที่เหลือจำคุกตลอดชีวิต โพสต์เมื่อ 2 กรกฎาคม 2565 เวลา 11:32:09 9,299 อ่าน
TOP