x close

โซเชียลตาแตก ! หลายคนเพิ่งรู้ เจ้าแม่กวนอิม "เป็นผู้ชาย" คิดว่าเป็นผู้หญิงมาตลอด

          โซเชียลตาแตก หลายคนเพิ่งรู้ เจ้าแม่กวนอิม "เป็นผู้ชาย" คิดว่าเป็นผู้หญิงมาตลอด เกิดมา 30 ปี เพิ่งจะรู้ว่ามีตำนานเล่าไว้ว่าเจ้าแม่กวนอิมเป็นผู้ชาย

เจ้าแม่กวนอิม

          เรียกได้ว่าเป็นเรื่องราวที่ใครหลาย ๆ คนต่างก็ค้นหาคำตอบไปตาม ๆ กันเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังอย่าง หนุ่ม ม้าม่วง ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Sitthidet Noom Bunmanee ว่า "เกิดมา 30 ปี เพิ่งจะรู้ว่า เจ้าแม่กวนอิม เป็นผู้ชาย" ซึ่งแค่ข้อความนี้ข้อความเดียว คนแห่กดไลก์นับหมื่นไลก์ คอมเมนต์อีกนับพัน และแชร์ออกไปอีกเกือบครึ่งหมื่น


          งานนี้หลายคนต่างก็คอมเมนต์ว่าไม่รู้เหมือนกัน ที่ผ่านมานึกว่าเจ้าแม่กวนอิมเป็นผู้หญิงมาโดยตลอดหากมองจากรูปลักษณ์ที่เห็นทั่วไป บางคนถึงกับต้องไปค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเลยทีเดียวว่าเรื่องราวของเจ้าแม่กวนอิมที่เป็นผู้ชายมีตำนานว่าอย่างไร

          นอกจากนี้ก็มีหลายคอมเมนต์เช่นเดียวกันที่เข้ามาแซวว่า คนที่ไม่รู้ส่วนใหญ่น่าจะไม่เคยดูซีรีส์จีนเรื่อง ไซอิ๋ว ที่เคยฉายทางช่อง 3 เมื่อหลาย 10 ปีที่แล้ว ซึ่งพระโพธิสัตว์ขอพรให้ตัวเองเป็นผู้หญิง

          สำหรับตำนานของเจ้าแม่กวนอิมซึ่งเป็นหนึ่งในเทพศักดิ์สิทธิ์แห่งศาสตร์พยากรณ์เทวะมันตรานั้นมีหลายตำนาน ซึ่งตามตำนานที่พูดถึงพระโพธิสัตว์กวนอิมในภาคบุรุษเพศ ตามข้อมูลในวิกิพีเดีย เล่าเรื่องราวว่า เมื่อครั้งศาสนาพุทธเผยแผ่มาจากอินเดียสู่จีนนั้น รูปลักษณ์ของพระอวโลกิเตศวร (พระโพธิสัตว์กวนอิม) เป็นภาพของพระโพธิสัตว์เพศชายเช่นเดียวกับในอินเดีย สันนิษฐานว่าคติเกี่ยวกับรูปเคารพพระโพธิสัตว์กวนอิม น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสามก๊กและราชวงค์จิ้น จนกระทั่งถึงสมัยหนานเป่ยเฉา หลักฐานสำคัญก็คือ รูปวาดจิตรกรรมฝาผนังและรูปปฏิมากรรมแกะสลักพระโพธิสัตว์กวนอิมที่ปรากฏอยู่ในถ้ำม่อเกา ที่สร้างขึ้นในช่วงหนานเป่ยเฉานั้น เป็นภาพของพระอวโลกิเตศวร (พระโพธิสัตว์กวนอิม) ที่มีลักษณะแบบเพศชาย มีริมฝีปากหนาและมีหนวดเครา ส่วนเหตุผลของความเปลี่ยนแปลงจากบุคลิกลักษณะของพระอวโลกิเตศวรที่เดิมเป็นเพศชายจนแปรเปลี่ยนเป็นเพศหญิงนั้น นักประติมานวิทยา สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากเหตุผล 2 ประการ คือ

          - พระโพธิสัตว์กวนอิมเป็นผู้ทรงโปรดสัตว์โลก ผู้ตกทุกข์ได้ยาก และในสมัยโบราณนั้น ผู้หญิงมักได้รับการกดขี่ข่มเหงและทุกข์ทรมานมากกว่าเพศชาย จึงเกิดภาพลักษณ์ในด้านที่เป็นเพศหญิง เพื่อช่วยเหลือสตรีให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม

          - ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความอ่อนโยนและมีจิตใจที่ดีงามกว่าเพศชาย โดยเฉพาะความรักของผู้เป็นมารดา อันเป็นสัญลักษณ์ของความเมตตาการุณย์ต่อบุตร

          ดังนั้น จึงเชื่อกันว่า นี้คือเหตุเปลี่ยนแปลงของภาพแห่งลักษณะพระโพธิสัตว์กวนอิมที่แปรเปลี่ยนรูปลักษณ์เป็นเพศหญิงในที่สุด

          ในด้านศิลปกรรมจีน ได้สะท้อนสัญลักษณ์ของพระโพธิสัตว์กวนอิมที่แสดงถึงความเมตตากรุณา อาทิ ภาพพระแม่กวนอิมยืนประทับบนหลังมังกรกลางมหาสมุทร, ภาพพระแม่กวนอิมพรมน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากกิ่งหลิวในแจกัน, ภาพพระแม่กวนอิมประทับนั่งกลางป่าไผ่, ภาพพระแม่กวนอิมปางประทานบุตร และภาพพระแม่กวนอิมพันมือ เป็นต้น

เจ้าแม่กวนอิม





ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โซเชียลตาแตก ! หลายคนเพิ่งรู้ เจ้าแม่กวนอิม "เป็นผู้ชาย" คิดว่าเป็นผู้หญิงมาตลอด อัปเดตล่าสุด 3 สิงหาคม 2566 เวลา 16:28:27 138,545 อ่าน
TOP