ค้นพบ รูปปั้นหินโบราณ มหาสมบัติใต้พระราชวัง ฝังไว้นับร้อยปี คาดมาจากไหน ไม่ได้ใช้ถ่วงเรือ !


          รวมข้อมูลรูปปั้นหินอ่อนโบราณ มหาสมบัติใต้พระบรมมหาราชวัง ถูกฝังไว้นานกว่า 100 ปี มีหลักฐานอยู่มาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 ก่อนหายไร้ร่องรอย วันนี้ถูกขุดขึ้นมาตั้งโชว์อีกครั้งรอบวัดพระแก้ว คาดรูปปั้นเหล่านี้มาจากไหน อาจไม่ได้เอาไว้ถ่วงเรืออย่างที่พูดกัน

รูปปั้นหินโบราณ

          วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 โลกออนไลน์มีการแชร์ภาพ "รูปปั้นตุ๊กตาหินโบราณ" จำนวนมากที่ตั้งอยู่บริเวณรอบนอกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว ฝั่งตรงข้ามกระทรวงกลาโหม มีทั้งรูปปั้นที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของแต่ละชนชาติในสมัยก่อน โดยระบุว่า "มหาสมบัติใต้พระบรมมหาราชวัง ถูกฝังกว่า 100 ปี มูลค่าตีเป็นเงินไม่ได้ วันนี้ถูกขุดขึ้นมาแล้ว"

          โดยเฟซบุ๊ก Bangkok I Love You รายงานว่า ทางสำนักพระราชวัง มีการซ่อมถนนบริเวณกำแพงแก้ววัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฝั่งศาลหลักเมืองและกระทรวงกลาโหม ขณะทำท่อระบายน้ำและขุดถนน ปรากฏว่าขุดพบตุ๊กตาหินโบราณนับร้อยตัว และมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดค้นขึ้นมาทั้งหมด จากนั้นมอบหมายให้กรมศิลปากร ทำการบูรณะให้มีสภาพดีเยี่ยมดังเดิม

รูปปั้นหินโบราณ


คาด รูปปั้นเหล่านี้ไม่ได้มีไว้ถ่วงเรือ แต่เป็นการจ้างจากเชื้อพระวงศ์ เพื่อนำมาจัดแสดงในงานฉลองพระนคร 100 ปี


          ขณะที่ เฟซบุ๊กเพจ ชมวัดชมวา ระบุว่า ตุ๊กตาหินเหล่านี้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งฉลองพระนคร 100 ปี โดย กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร สั่งเข้ามาประดับลานวัดพระแก้ว แต่ไม่มีใครทราบว่าถูกนำออกไปที่ไหน เมื่อไร และทำไมถึงถูกขุดพบใต้ดิน

          ตั้งแต่ต้นกรกฎาคม 2565 มีการนำรูปปั้นตุ๊กตามาตั้งประดับให้ได้ชมกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของวัดบอกว่า ขุดพบบริเวณรอบนอกวัด ฝั่งตรงข้ามกระทรวงกลาโหม ซึ่งยังเป็นบริเวณพระราชวัง จำนวนกว่า 130 ตัว ซึ่งข้อมูลตรงกับแหล่งอื่น ๆ ที่มีการแชร์กัน

รูปปั้นหินโบราณ

          ขณะที่ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2549 สนับสนุนว่ารูปปั้นเหล่านี้ไม่ใช่รูปปั้นที่ใช้ถ่วงเรือสินค้า โดย ไกรฤกษ์ นานา เป็นผู้ค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลเป็นบทความ หลังจากสะดุดตากับภาพถ่ายในการจัดแสดงภาพเก่าเมืองไทย ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2549

          จากการค้นคว้า คาดว่า รูปปั้นดังกล่าวมีมาตั้งแต่ช่วงประมาณรัชกาลที่ 5 และคาดว่าตั้งอยู่เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 8 ในช่วงการปฏิวัติสยาม หลักฐานที่เห็นเด่นชัดคือ ในช่วงงานเฉลิมฉลองพระนคร 100 ปี ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2425 ทางราชการได้จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ ณ ท้องสนามหลวง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตื่นรู้กับความก้าวหน้าของวิชาความรู้ใหม่ ๆ รวมทั้งมีการจัดแสดงของประหลาด ที่ชาวสยามไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งของประหลาดดังกล่าวนั้น รวมไปถึงรูปจำลองหน้าตาของคนทั่วโลก และรูปปั้นหินอ่อนที่สั่งซื้อเข้ามาใหม่นั้น เป็นผลงานของกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร

รูปปั้นหินโบราณ

          จากนั้น นายวิลเลียม เคนเนตต์ ลอฟตัส ช่างภาพหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้บันทึกภาพบรรยากาศรอบ ๆ วัดพระแก้วเอาไว้ นายลอฟตัสได้เริ่มเข้ามารับจ้างถ่ายรูปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2425 ตรงกับช่วงเฉลิมฉลองพระนคร 100 ปี อันปรากฏภาพของรูปปั้นหนึ่ง ที่มีลักษณะคล้ายพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส

          นายลอฟตัสไม่ใช่เพียงคนเดียวที่เห็นรูปปั้นดังกล่าว แต่นักเดินทางคณะราเซวิซต์ เจ้าชายออคทอมสกี้ ผู้ตามเสด็จได้บันทึกสิ่งที่พบเห็นไว้ว่า ตามลานระเบียงรอบวัด มีรูปปั้นหินอ่อนวางไว้ เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ จะเห็นคล้ายกับรูปปั้นฝีมืออิตาเลียนหยาบ ๆ ปั้นเป็นรูปผู้มีชื่อเสียงทั้งชายและหญิง แต่ไม่ได้รับคำชี้แจงว่าเหตุใดรูปปั้นเหล่านี้ จึงมาอยู่ตรงนี้

รูปปั้นหินโบราณ


เปิดความหมายของอักษรจีนที่สลักหลังรูปปั้น คาดเป็นผลงานการแกะสลักหินอ่อนของช่างจีน


          ทั้งนี้ มีการแชร์ความหมายภาษาจีนที่สลักติดรูปปั้น ดังนี้…

          - รูปยืน มีอักษรจีนสลักข้างหลังว่า "粤东顺利造" แปลว่า ผลิตภาคตะวันออกของกวางตุ้ง โดยนายช่างซุนลี่

รูปปั้นหินโบราณ

          - ตัวนั่ง สลักว่า "粤东茂原造" แปลว่า ผลิตภาคตะวันออกของกวางตุ้ง ผลิตโดยช่างเม่าหยวน
ทั้งนี้ ภาคตะวันออกของกวางตุ้ง เช่น เขตแต้จิ๋ว ซัวเถา เป็นต้น ปัจจุบันได้แก่ ซัวเถา เหม่ยโจว ซานเหว่ย เฉาโจว และเจียหยาง ซึ่งมีความนิยมใช้ตุ๊กตาเหล่านี้ประดับสวน เป็นความนิยมของสวนแบบหลิงหนาน เขตกวางตุ้ง เขตอื่น ๆ จะไม่ค่อยพบ

รูปปั้นหินโบราณ

รูปปั้นหินโบราณ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ค้นพบ รูปปั้นหินโบราณ มหาสมบัติใต้พระราชวัง ฝังไว้นับร้อยปี คาดมาจากไหน ไม่ได้ใช้ถ่วงเรือ ! อัปเดตล่าสุด 15 กรกฎาคม 2565 เวลา 15:18:46 104,576 อ่าน
TOP
x close