ตะลึง ! ซื้อขนมโตเกียว เจอถุงห่อเป็นใบมรณบัตร สสจ. ฟันยับ รู้แล้วต้นตอมาจากไหน


          เจอแล้วต้นตอ ถุงขนมโตเกียวใช้ใบประวัติคนไข้ และใบมรณบัตรห่อ เผยให้เห็นทั้งชื่อ ทั้งเลขบัตรประชาชน ฝีมือโรงพยาบาลเอกชน ยันผิดกฎหมาย PDPA ฟ้องร้องเอาผิดได้

ใบมรณบัตร โผล่บนถุงขนมโตเกียว
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          วันที่ 20 กันยายน 2565 ไทยพีบีเอส รายงานกรณีมีผู้ร้องเรียนผ่านสื่อว่า พบเอกสารที่ระบุข้อมูลคนไข้ ถูกนำมาห่อขนมโตเกียวขาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ร้านบริเวณหน้าสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.ชลบุรี โดยพบว่ากระดาษที่นำมาทำเป็นถุงใส่ขนมโตเกียวมีข้อมูลที่ระบุทั้งชื่อ - นามสกุล อายุ หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เบอร์โทร. ญาติ รวมถึงข้อมูลการรักษา ซึ่งผู้ร้องเรียนซื้อขนมมา 4 ห่อ มี 3 ห่อ เป็นเอกสารข้อมูลคนไข้ อีก 1 ห่อ เป็นใบมรณบัตร

          โดย นายแพทย์อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี (สสจ.) เปิดเผยกับไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า ยืนยันว่าการกระทำที่เกิดขึ้นนั้นไม่ถูกต้อง ซึ่งจากการตรวจสอบทราบว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือ โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง จึงเข้าไปตรวจสอบตักเตือนไม่ได้ แต่เบื้องต้น จะมีการตรวจสอบร้านขายขนมรายย่อยว่ามีการใช้ถุงกระดาษลักษณะนี้อีกหรือไม่

          นายแพทย์อภิรัต กล่าวว่า นอกจากจะห่วงเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว อีกเรื่องที่ห่วงคือสุขภาพของผู้บริโภค เพราะเอกสารต่าง ๆ เป็นหมึกพิมพ์ สารตะกั่วอาจปนเปื้อนออกมากับน้ำมันมาโดนขนม อันตรายถ้ากินเข้าไป

          ทั้งนี้ ทางญาติของเจ้าของประวัติสามารถเรียกร้องเอาผิดตามกฎหมายกับโรงพยาบาลได้ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย PDPA มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ใบมรณบัตร โผล่บนถุงขนมโตเกียว
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

รมว.ดีอีเอส ยันเจ้าของข้อมูลฟ้องโรงพยาบาลได้ ผิดกฎหมาย PDPA


          ด้าน เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมจาก นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กรณีนี้ตามกฎหมายถือว่ามีความผิดกฎหมาย PDPA จึงขอฝากไปถึงผู้ประกอบการที่มีข้อมูลของลูกค้าที่อาจไม่ตั้งใจ เช่น กระดาษสำเนาบัตรประชาชน หรือใบสมัครงาน ต้องเก็บรักษาให้ดีอย่าให้รั่วไหล ถ้าหากจะทิ้งต้องทำลายด้วยการฉีกหรือเผาตามกระบวนการที่ถูกต้อง อย่านำไปขายต่อ เพราะข้อมูลเหล่านี้หากรั่วไหลไปถือว่าผิดกฎหมาย ผู้ประกอบการต้องรับทราบข้อกฎหมายตรงนี้ด้วย ข้อมูลส่วนบุคคลไม่สามารถนำไปทิ้งขยะได้ ซึ่งเจ้าของข้อมูลมีสิทธิฟ้องร้องได้ แม้ในช่วงแรกกฎหมายนี้จะอยู่ในช่วงตักเตือนและผ่อนผันอยู่ก็ตาม

ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยพีบีเอส, เดลินิวส์ออนไลน์



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตะลึง ! ซื้อขนมโตเกียว เจอถุงห่อเป็นใบมรณบัตร สสจ. ฟันยับ รู้แล้วต้นตอมาจากไหน อัปเดตล่าสุด 20 กันยายน 2565 เวลา 17:14:36 9,804 อ่าน
TOP
x close