เปิดศูนย์รับมือ พายุโนรู คาดไทยเจอฝนอ่วมตั้งแต่ 27 ก.ย. เตือนรุนแรงกว่า เตี้ยนหมู่ ปี 64 เปิดชื่อจังหวัดระวังฝนตกหนัก ด้าน ดร.ธรณ์ แนะวิธีเฝ้าระวังและเตรียมตัวรับมือ

ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
จากสถานการณ์ พายุไต้ฝุ่น โนรู เตรียมเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามในวันที่ 28 กันยายน 2565 โดยมีเส้นทางจะพัดผ่านประเทศไทย ส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ระหว่างวันที่ 28 กันยายน - 1 ตุลาคม 2565 นั้น
จากการคาดการณ์สถานการณ์ พายุลูกนี้จะขึ้นฝั่งเวียดนามตอนกลาง วันที่ 28 กันยายน และจะเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเช้ามืดของวันที่ 29 กันยายน คาดว่าอาจมีฝนตกหนักมากกว่า 100 มิลลิเมตรในหลายพื้นที่ จนส่งผลทำให้เกิดน้ำไหลหลาก จึงต้องติดตามเพื่อแจ้งเตือน ประชาชนว่าพื้นที่ไหนที่มีปริมาณฝนตกมาก ถ้าจุดไหนรู้ว่าจะมีน้ำท่วมขังสูง รถวิ่งไม่ได้ ก็ต้องรีบแจ้งเตือนประชาชน ซึ่งช่วงนี้ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องน้ำอยู่แล้ว หากมีน้ำเต็มมาอีก ก็อาจจะประสบปัญหาหนักได้ จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากกรมอุตุฯ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผ่านพายุลูกนี้ ไปได้โดยไม่มีประชาชนเสียชีวิต

ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
รองอธิบดีกรมอุตุ เผยพายุโนรู กระทบไทยตั้งแต่ 27 ก.ย. กินพื้นที่ 30 จังหวัด ฝนตกแช่ 3 วัน
ด้าน นายธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันต์ชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ช่วงค่ำของวันที่ 27 กันยายน พายุโนรู จะเริ่มเคลื่อนตัวเข้าประเทศไทย และในวันที่ 28 กันยายน พายุจะเข้ามามากขึ้น โดยบริเวณที่พายุโนรูจะเข้าประเทศไทย คาดว่าจะอยู่ในแนวของ จ.มุกดาหาร จ.อุบลราชธานี ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ปริมาณน้ำเกิน 100 มิลลิเมตรต่อวัน
จากนั้นพายุจะอ่อนกำลังเป็นดีเปรสชัน สำหรับเส้นทางพายุพาดผ่านกินพื้นที่ 30 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือ จาก จ.อุบลราชธานี ไปทาง จ.ตาก โดยมีฝนตกหนัก บางแห่งมีลมแรงช่วงวันที่ 28 กันยายน - 1 ตุลาคม ขณะที่พื้นที่ กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากวันที่ 28 กันยายน - 1 ตุลาคม นี้เช่นกัน
ผลกระทบพายุโนรู จะคล้าย พายุเตี้ยนหมู่ ที่เคลื่อนผ่านไทยเมื่อปี 2564 แต่โนรูมีขนาดและความรุนแรงมากกว่า ทำให้มีฝนและลมแรงมากกว่าเตี้ยนหมู่ คาดการณ์ว่าพายุโนรูเข้าสู่ประเทศไทยจากโซนร้อนกลายเป็นดีเปรสชัน ทำให้การเคลื่อนตัวพายุช้าลง ฝนตกแช่ติดต่อกันประมาณ 3 วัน ดังนั้นพื้นที่มีน้ำจำนวนมากอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ลาดเชิงเขา กรมอุตุนิยมวิทยาจะประเมินพายุโนรูเป็นรายชั่วโมงและแจ้งเตือนประชาชนต่อไป

ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
ดร.ธรณ์ กังวลพายุโนรูทำฝนอ่วมไทย แนะวิธีเฝ้าระวังและเตรียมตัวรับมือ
ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เผยภาพดาวเทียมล่าสุดของไต้ฝุ่นโนรู ยอมรับว่าเริ่มหนักใจ พายุทวีกำลังมากขึ้นในทะเลก่อนเข้าสู่ชายฝั่งเวียดนาม เหตุผลสำคัญคือน้ำทะเลในทะเลจีนใต้ร้อน น้ำร้อนมีผลโดยตรงกับไต้ฝุ่น น้ำยิ่งร้อนยิ่งส่งพลังงานให้พายุแรงขึ้น ทำให้ไอน้ำมากขึ้น ฝนย่อมมีมากขึ้นเป็นธรรมดา เวียดนามเพื่อนบ้านเราเตรียมตัวแล้ว ของเขาเจอเต็ม ๆ ต้องอพยพกันยกใหญ่ แต่เราก็ประมาทไม่ได้เพราะคงเจอฝนหนักในบริเวณกว้าง จะอพยพล่วงหน้านาน ๆ ก็ยาก เพราะเดาไม่ถูกว่าตกกระหน่ำตรงไหน ต้องใช้การเฝ้าระวังและเตือนภัยในช่วงสั้น ๆ
เพราะฉะนั้น จึงอยากให้เตรียมตัวไว้ โดยเฉพาะในพื้นที่คาดว่าฝนหนัก เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่าง ใครอยู่ในที่เสี่ยง เช่น ใกล้แม่น้ำลำคลอง ใกล้ทางน้ำที่ลงมาจากเขา ต้องเตรียมทางหนีทีไล่ไว้ล่วงหน้า น้ำป่ามาเร็ว และต้องระวังดินถล่มกรณีคนอยู่ริมทางชัน ร่องเขา เตรียมตัวให้พร้อม คิดในทางเลวร้ายที่สุดเข้าไว้ น้ำทะลักเข้าบ้าน รถเราจะจมไหม ไฟฟ้าดูดไหม เด็กเล็กคนแก่ไปอยู่ไหน เรามีน้ำกินข้าวกินหลายวันหรือไม่ ไฟดับทำไง มือถือชาร์จเต็มไหม ทางขาดต้องติดอยู่หลายวันเอาไงดี ยังรวมถึงการบอกคนอื่นว่าเราอยู่ไหน เกิดอะไรจะติดต่อกันได้ ช่วยกันทัน โดยเฉพาะคนที่ไม่อยู่บ้าน ไปเที่ยวเข้าป่าต้องบอกให้คนอื่นทราบ เป็นต้น
กรณีเช่นนี้ในยุคโลกร้อน สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว จึงเอาอดีตมาตัดสินปัจจุบันไม่ได้ เพราะหลายครั้งก็ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ในกรณีของภัยพิบัติ มองให้ยิ่งร้ายยิ่งดี และสำคัญสุด ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน รอบคอบไว้ล่วงหน้า ยังพอมีเวลาให้คิดให้เตรียมตัวอีกวันสองวัน เป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ

กรมอุตุฯ เปิดชื่อจังหวัดระวังฝนตกหนัก เริ่มตั้งแต่ 28 กันยายน
วันที่ 27 กันยายน 2565 เวลา 05.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ พายุ โนรู ฉบับที่ 8 คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 กันยายน 2565 และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชันตามลำดับ โดยจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางของประเทศไทยในวันที่ 29 กันยายน 2565 ส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2565 มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งให้ระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย

ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
วันที่ 28 กันยายน 2565
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดสกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก: จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 29 กันยายน 2565
ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก: จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล
วันที่ 30 กันยายน 2565
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย ชัยภูมิ ขอนแก่น และนครราชสีมา
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก: จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต

ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้