x close

รวบผลิตแบงค์ปลอมขายออนไลน์ ออร์เดอร์เป็นสิบ ชี้โทษหนักทั้งคนผลิต - คนไปใช้ต่อ

         รวบสามี-ภรรยา ผลิตธนบัตรปลอม มูลค่ารวมกว่าล้านบาท พบใช้พรินเตอร์พิมพ์ ก่อนนำเทียนไขมาถู ขายออนไลน์ทั่วประเทศ ชี้โทษหนักถึงจำคุก ทั้งคนผลิต - คนไปใช้ต่อ

แบงก์ปลอม
ภาพจาก one31

         วันที่ 29 กันยายน 2565 ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงข่าวจับกุมผู้ต้องหา นางสาวธันวาภรณ์ อายุ 34 ปี, นายพชร อายุ 29 ปี และนายอับดุลมานาฟ อายุ 25 ปี พร้อมยึดธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 1,137 ฉบับ รวมมูลค่า 1,137,000 บาท ธนบัตรปลอมฉบับละ 500 บาท จำนวน 60 ฉบับ มูลค่า 30,000 บาท เครื่อง Printer จำนวน 2 เครื่อง และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อ Honda ในคดีข้อหาร่วมกันมีเพื่อนำออกไปซึ่งสิ่งใด ๆ อันตนรู้ว่าเป็นธนบัตรของปลอมหรือเป็นธนบัตรแปลง

         โดยคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่สามารถเข้าจับกุม นายอับดุลมานาฟ หลังจากนำเงินธนบัตร 1,000 บาท มาซื้อสินค้าที่ร้านสะดวกซื้อใน จ.เชียงราย ซึ่งนายอับดุลมานาฟ ยอมรับว่าสั่งซื้อธนบัตรปลอมมาจากเฟซบุ๊กชื่อ มารูโกะจัง ฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 10 ฉบับ ราคา 1,300 บาท

         จากนั้นตำรวจจึงวางแผนล่อซื้อธบัตรปลอม และขยายผลจับกุมตัว นายพชร และนางสาวธันวาภรณ์ ได้ที่รีสอร์ทหรู จังหวัดชัยนาท พบว่าภายในห้องมีอุปกรณ์การผลิตเงินปลอม เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร เทียนไข และพบเงินปลอมจำนวนมาก

         นางสาวธันวาภรณ์ และนายพรช ซึ่งเป็นสามี-ภรรยากัน ยอมรับว่า ได้ลักลอบผลิตแบงก์ปลอมประมาณ 3 - 4 เดือน โดยใช้กระดาษ A4 พรินต์ธนบัตรจริง จากนั้นจะนำเทียนไขมาถูบริเวณกระดาษ เพื่อให้ธนบัตรดูหนาและเงาเหมือนของจริง ก่อนจะนำมาขายในเพจดังกล่าว ซึ่งขายให้กับลูกค้าไปแล้วกว่า 10 ราย โดยทางเจ้าหน้าที่จะขยายผลหาเครือข่าย และลูกค้าที่สั่งซื้อธนบัตรมาดำเนินคดีด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่กระจายของธนบัตรปลอม ไว้ดังนี้


         1. สังเกตทุกครั้งก่อนรับธนบัตร โดยเฉพาะธนบัตรชนิดราคาสูง ​

         2. ​ไม่นำธนบัตรปลอมที่รับไว้แล้วออกใช้อีก เพราะมีความผิดตามกฎหมาย

         3. ให้เขียนคำว่า "ปลอม" ลงบนธนบัตรเพื่อแยกแยะออกจากธนบัตรฉบับจริง หรือนำไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำส่งเข้าระบบ

         4. หากมีผู้นำธนบัตรปลอมมาใช้กับท่าน ควรสอบถามรายละเอียด เช่น ได้มาอย่างไร จากใคร ที่ใด เป็นต้น รวมถึงจดจำลักษณะรูปพรรณและสิ่งอื่น ๆ เกี่ยวกับผู้นำมาใช้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นข้อมูลในการสืบสวนจับกุม

         5. ​แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ หรือโทรศัพท์แจ้งสถานีตำรวจท้องที่ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ​โทร. 0 2356 7987

สำหรับโทษปลอมแปลงธนบัตรและนำออกใช้นั้น มีโทษทั้งจำคุกและปรับ ทั้งคนนำไปใช้ต่อและคนผลิต ดังนี้


         1. คนใช้แบงก์ปลอม โทษจำคุกสูงสุด 15 ปี และปรับสูงสุด 300,000 บาท

         2. คนที่ไม่เคยรู้ว่าได้ "แบงก์ปลอม" แต่ต่อมา รู้ว่าเป็น "แบงก์ปลอม" แล้วนำไปใช้ต่อ โทษจำคุกสูงสุด 10  ปี และปรับสูงสุด 200,000 บาท

         3. คนผลิตแบงก์ปลอมมีโทษจำคุกสูงสุด ตลอดชีวิต ปรับสูงสุด 400,000 บาท


ขอบคุณข้อมูลจาก one31, ธนาคารแห่งประเทศไทย



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รวบผลิตแบงค์ปลอมขายออนไลน์ ออร์เดอร์เป็นสิบ ชี้โทษหนักทั้งคนผลิต - คนไปใช้ต่อ อัปเดตล่าสุด 29 กันยายน 2565 เวลา 17:03:40 15,540 อ่าน
TOP