กรมอุตุฯ เผย พายุโนรู อ่อนกำลังกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ด้าน ดร.ธรณ์ เผยพายุหมดแรงบน อันนัม ยกเป็นปราการธรรมชาติช่วยไทยพ้นภัยธรรมชาติหลายครั้ง
ความคืบหน้าสถานการณ์ พายุโนรู ล่าสุด (29 กันยายน 2565) เวลา 20.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 24 พายุดีเปรสชัน โนรู ปัจจุบันมีศูนย์กลางอยู่บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้วนั้น
อย่างไรก็ดี ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มต่อไปอีก 1 วัน
ดร.ธรณ์ ส่องเบื้องลึก โนรูอ่อนกำลัง เพราะ เทือกเขาอันนัม คล้ายเกราะคุ้มครองไทย
ขณะที่ ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เกี่ยวกับ "พายุโนรู" ที่พัดเข้าไทยอยู่ในขณะนี้ โดยระบุว่า "พายุหมุนเกิดในทะเล ตายในเทือกเขา" ประโยคนี้ถือว่าสามารถอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยดีสุด พายุโนรูที่รุนแรงตอนขึ้นฝั่ง อ่อนแรงลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยไม่เดือดร้อนมากไปกว่านี้ เพราะ โนรู หมดแรงบน "อันนัม" เทือกเขาที่เป็นเสมือนเกราะคุ้มครองไทย
อันนัม ไม่ได้อยู่ในเมืองไทย แต่เทือกเขานี้อยู่ในเวียดนามและลาว มีส่วนปลายอยู่ที่กัมพูชา แต่เทือกเขายาว 1,100 กิโลเมตร สูงถึง 2,800 เมตร คือปราการธรรมชาติที่ปกป้องประเทศไทยมาหลายครั้งครา อันนัมทอดยาวขนานชายฝั่งเวียดนาม แบ่งเขตชายฝั่งออกจากลุ่มน้ำแม่โขงที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ทุกครั้งที่มีไต้ฝุ่นหรือพายุใหญ่เข้ามาทางเวียดนาม อันนัมหยุดแรงลมไว้ ทำให้พายุที่เกรี้ยวกราดลดความแรงลมเหลือเพียงดีเปรสชัน แม้ฝนจะตกอยู่ แต่แรงลมเบาลงมาก ความชื้นในอากาศส่วนหนึ่งถูกกักเก็บไว้
นอกจากนี้ อันนัม ยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าดิบชื้นเรื่อยจนถึงป่าดิบเขาที่สำคัญในอินโดจีน เป็นถิ่นที่อยู่ของ เสาลา แอนทีโลปหายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก พบเฉพาะแถวอันนัมตอนเหนือ ในลาวและเวียดนาม รวมทั้ง อันนัม ยังป้อนน้ำให้ลำโขง ทำให้ผู้คนในลาวและกัมพูชามีความสุข ดังนั้น อันนัม จึงเปรียบได้กับปราการแห่งอินโดจีน เทือกเขาที่มีความหมายมากมายต่อไทย และจะยิ่งทวีความสำคัญ เมื่อโลกร้อนขึ้น เมื่อสภาพอากาศสุดขั้วแรงขึ้น คนไทยโชคดีเหลือเกินที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เบื้องหลังอันนัม