VISTEC แหล่งผลิตงานวิจัยคุณภาพ สร้างประโยชน์ให้คนไทย

รู้หรือไม่ ? ในประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาที่มุ่งรังสรรค์งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันโดดเด่น สู่การสร้างผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีศักยภาพเทียบเท่าระดับสากล !

VISTEC สถาบันวิทยสิริเมธี

หากจะพูดถึงสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับประเทศ หนึ่งในนั้นจะมีชื่อของ “สถาบันวิทยสิริเมธี” หรือ VISTEC สถาบันการศึกษาที่มาพร้อมจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยคุณภาพเยี่ยมที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ ความสามารถ และความเป็นผู้นำเข้าสู่สังคม อีกทั้งยังต้องการบุกเบิกงานวิจัยที่ทันสมัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ นำไปพัฒนาตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและสอดรับกับทิศทางระดับโลก

VISTEC ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งใหม่ของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi วังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley) จังหวัดระยอง พื้นที่แห่งนี้ถือเป็นพื้นที่สำหรับพัฒนาเมล็ดพันธุ์แห่งความเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยให้เข้มแข็ง ผ่านการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและเอก เปิดสอนใน 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (The school of Molecular Science and Eengineering: MSE), สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (The School of Energy Science and Engineering: ESE), สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (The School of Biomolecular Science and Engineering: BSE) และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (The School of Information Science and Technology: IST)

VISTEC สถาบันวิทยสิริเมธี

ผลงานวิจัยคุณภาพสู่ความสำเร็จที่ได้รับการยกย่องในระดับโลก

สถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC ถือเป็นจุดกำเนิดนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยคุณภาพที่ร่วมกันคิดค้นและสร้างสรรค์งานวิจัยชั้นแนวหน้า (Frontier Research) ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติเป็นอย่างมากจากการเผยแพร่ผลงานวิจัยชั้นแนวหน้าสู่วารสารวิชาการระดับโลก โดยองค์กรจัดอันดับที่ใช้ตัวชี้วัดเฉพาะงานวิจัยคุณภาพสูงอย่าง Nature Index (www.natureindex.com) ได้จัดอันดับให้ VISTEC ขึ้นเป็น “อันดับที่ 1” ของประเทศไทย ในด้านเคมี (Chemical Sciences), วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) และวิทยาศาสตร์รวมทุกสาขา (All Sciences) และเป็นอันดับที่ 2 ในด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) นอกจากนี้ VISTEC ยังได้รับการจัดให้เป็นอันดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN) ในด้านเคมี (Chemical Sciences) และเป็นอันดับที่ 12 ของมหาวิทยาลัยจากทั่วโลกที่ก่อตั้งมาไม่เกิน 30 ปี อีกด้วย (หมายเหตุ : ข้อมูล ณ วันที่ 14 กันยายน 2565)

Nature Index คือ ตัวชี้วัดคุณภาพงานวิจัยที่จัดอันดับสถาบัน หน่วยงาน และประเทศต่าง ๆ ด้วยการพิจารณาการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารที่มีผลกระทบสูงและเป็นที่ยอมรับของแต่ละสาขาในเครือ Nature Research 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences), วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences), เคมี (Chemistry), วิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อม (Earth & Environmental Sciences) และรวมทุกสาขาวิชา – ข้อมูลจาก techsauce.co และ thailibrary.in.th

อีกทั้งในปี 2565 VISTEC ได้มุ่งเน้นการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการหุ่นยนต์ (AI and Robotics) อย่างเต็มที่ ทำให้ VISTEC ก้าวขึ้นสู่ “อันดับที่ 1” ของประเทศไทย โดยการจัดอันดับของเว็บไซต์ CSRankings: Computer Science Rankings (https://csrankings.org/) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลในการจัดอันดับสถาบันการศึกษาทางด้าน Computer Science ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก และในส่วนของการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ นั้น ได้รับการจัดอันดับเป็น “อันดับที่ 1” ของประเทศไทย ด้านมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม (Innovation Rank) จากการจัดอันดับโดย SCImago Institutions Rankings (SIR 2022)

นอกจากนี้ VISTEC ได้ผลิตและพัฒนาผลงานวิจัยที่มีความโดดเด่นและมีความสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมในโลกยุคปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ

A. AI and Robotics จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST)

อาทิ งานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถปรับใช้ในงานสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานด้านระบบ AI ให้ใช้งานได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในการใช้งานที่หลากหลาย โดยใช้ฐานข้อมูลที่น้อยลงมาใช้แก้ปัญหาใหม่ที่ข้อมูลหายากหรือมีค่าใช้จ่ายสูง และการพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนไหวในพื้นที่ซับซ้อน โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการเคลื่อนไหวในธรรมชาติ เช่น แมลงหรือหนอน เป็นต้น งานวิจัยดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่เข้าถึงยากและอันตราย อีกทั้งยังมีงานวิจัยระบบต้นแบบเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริงอัจฉริยะเพื่อใช้ในการศึกษาการควบคุมการทำงานของระบบหุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์ที่มีข้อมูลป้อนกลับจากสัญญาณชีวภาพและชีวกลศาสตร์ ทำให้ระบบสามารถปรับตัวทำงานให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อช่วยสนับสนุนและฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานแต่ละบุคคล

B. Energy, Materials & Environment จากสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (ESE) และสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (MSE)

ซึ่งมุ่งเน้นงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน พัฒนาแบตเตอรี่และวัสดุคุณภาพสูง เช่น การวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ในด้านของวัสดุที่ใช้ทำขั้วบวกและขั้วลบ การสร้างสารละลายอิเล็กโตรไลต์ชนิดใหม่ที่มีความเสถียรและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เป็นต้น งานวิจัยด้านการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยานาโนยุคใหม่จากขยะหรือสารไร้มูลค่าเพื่อประยุกต์ในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมียุคใหม่ รวมทั้งอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและยา นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่สามารถเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารที่มีมูลค่าสูง เช่น การเปลี่ยนให้เป็นพอลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติพิเศษขั้นสูงและสารดูดซับขั้นสูงที่มีรูพรุนพิเศษเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน รวมถึงการพัฒนาวัสดุโปร่งใสที่สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า (Luminescent solar concentrator: LSC) อีกด้วย

C. Biotechnology จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (BSE) 

มุ่งเน้นทางด้านการพัฒนาเซลล์และเอนไซม์ในระดับสูงเพื่อใช้ประโยชนในวงกว้าง อาทิ การพัฒนางานวิจัยด้านชีววิทยาสังเคราะห์ เพื่อออกแบบและสร้างโปรตีน รวมถึงการดัดแปลงยีนเพื่อสร้างเอนไซม์ชนิดใหม่ เพื่อให้ทำงานที่เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดสารมีมูลค่าเพิ่ม เช่น ฮอร์โมนพืชภายใต้ชื่อ BioVis อีกทั้งงานวิจัยด้านการใช้สารชีวภาพ โดยเฉพาะเอนไซม์ที่มีความจำเพาะสูงต่อสารที่ต้องวิเคราะห์ เพื่อวัดปริมาณการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว รวมถึงการศึกษาโครงสร้างของเอนไซม์เฉพาะทาง เพื่อสร้างผลิตผลที่มีมูลค่าสูง เช่น ความสามารถในการเพิ่มผลิตผลน้ำตาลที่เกิดได้ยากและมีราคาสูงในตลาคเคมีภัณฑ์ และการพัฒนาโครงสร้างของอนุพันธ์ไคโตโอลิโกแซคคาไรด์ที่มีฤทธิ์เป็นยาต้านจุลชีพใหม่ เป็นต้น

ต่อยอดงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ใช้งานได้จริง มีคุณค่าต่อสังคม

นอกจากการมุ่งเน้นงานวิจัยคุณภาพที่โดดเด่นในระดับโลกแล้ว VISTEC ยังมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยนั้น ๆ ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ผ่านการจัดตั้ง บริษัท วิสอัพ จำกัด (VISUP Company Limited) ทำหน้าที่หลักคือ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดโครงการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup ด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep technology) โดยมีวิสาหกิจเริ่มต้นที่จัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้ว 1 โครงการ และอยู่ระหว่างการบ่มเพาะอีกจำนวนหนึ่ง

VISTEC สถาบันวิทยสิริเมธี

หากประเทศต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม นักวิจัยที่มีความรู้ความชำนาญถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเข้ามาแปรเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกในกระดาษให้กลายเป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้ นำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า นี่คือหนึ่งในสถาบันที่ประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลกด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ผลิตนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยคุณภาพคืนกลับสู่สังคมเพื่อสร้างประโยชน์และพัฒนาประเทศของเราให้ก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียมกับนานาชาติ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
VISTEC แหล่งผลิตงานวิจัยคุณภาพ สร้างประโยชน์ให้คนไทย อัปเดตล่าสุด 14 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09:09:36 3,968 อ่าน
TOP
x close