เที่ยวสะพานดำ สะพานรถไฟสายประวัติศาสตร์ แลนด์มาร์กใหม่ของลำปาง

          พาทัวร์สะพานดำ ลำปาง สะพานเหล็กที่สร้างตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อข้ามแม่น้ำวัง พร้อมชมสวนสาธารณะรถไฟ สถานที่บรรจุความทรงจำของรถไฟไทย ซึ่งการรถไฟฯ กำลังพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด
สะพานดำ ลำปาง

          ลำปาง เมืองเล็ก ๆ แห่งดินแดนล้านนา ที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยว ประเพณีวัฒนธรรม และยังโดดเด่นด้วยงานหัตถศิลป์อย่างเซรามิก ซึ่งเป็นของดีขึ้นชื่อของจังหวัด วันนี้เราเลยจะพาไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งสถานที่น่าสนใจ นั่นก็คือ สะพานดำ สะพานรถไฟสายประวัติศาสตร์ ที่สร้างขึ้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กใหม่ แหล่งเก็บรวบรวมเรื่องราวของรถไฟไทย และบอกเล่าประวัติของสะพานดำให้คนรุ่นหลังได้รับทราบ พร้อมกับนำสารพัดอุปกรณ์รถไฟชิ้นเก่ามาดัดแปลงเป็นผลงานศิลปะรูปทรงแปลกตา ว่าแล้วอย่ารอช้า ตามไปดูกัน

ความเป็นมาของสะพานดำ ลำปาง

          สะพานดำ หรือ ขัวดำ (ขัว หมายถึง สะพาน) เป็นคำลำลองที่ใช้เรียกสะพานรถไฟที่ทาสีดำทับเนื้อเหล็กเพื่อกันสนิม ตามมาตรฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งปกติจะมีการทาสีทั้งหมด 6 ชั้น ได้แก่ สีน้ำตาล 3 ชั้น ตามด้วยสีขาว สีเทา และชั้นนอกสุดเป็นสีดำ โดยมีลักษณะเป็นสะพานเหล็กแบบโครงสี่เหลี่ยมคางหมู 5 ช่วง ความยาว 296.68 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟนครลำปางเพียง 1 กิโลเมตร ในเส้นทางมุ่งหน้าสถานีรถไฟห้างฉัตร สร้างขึ้นในช่วงเดียวกับการก่อสร้างทางรถไฟจากนครลำปางไปเชียงใหม่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2459 ในการเปิดเดินรถไฟสายเหนือส่วนต่อขยายจากสถานีลำปางไปสถานีปางหัวพง
สะพานดำ ลำปาง

สะพานดำ ลำปาง

สะพานดำ ลำปาง

          ย้อนกลับไปในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เข้ามาเพื่อเคลื่อนพลผ่านประเทศไทย และตั้งกองบัญชาการที่ลำปาง ทั้งยังเข้ายึดอาคารสถานที่ในกิจการของทั้งชาวอังกฤษ อเมริกัน และชนชาติอื่น ๆ ขณะที่ประเทศไทยสมัยนั้นเป็นคู่สงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร (กลุ่มประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน ที่ร่วมรบกับกลุ่มประเทศฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 2) จึงถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีเมืองด้วยการทิ้งระเบิดในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2487 สะพานดำก็ถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดทำให้เสียหายบางส่วน ทุกวันนี้ยังมีร่องรอยของสะเก็ดระเบิดและรอยกระสุนปืนจากเครื่องบินปรากฏอยู่หลายจุด ก่อนจะได้รับการซ่อมแซมในปี พ.ศ. 2507 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2509 โดยบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น
สะพานดำ ลำปาง

สะพานดำ ลำปาง

          ปัจจุบันสะพานดำข้ามแม่น้ำวังที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์น่าสนใจมากมาย และยังคงมีขบวนรถไฟวิ่งผ่านทุกวัน ดังนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จึงร่วมกับจังหวัดลำปางและชุมชนใกล้เคียง เข้าพัฒนาพื้นที่บริเวณสะพานดำ พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และเก็บรักษาสถานที่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด รวมถึงเป็นพื้นที่สันทนาการให้กับชาวลำปางและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือน อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชนให้กระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น ช่วยต่อยอดให้เศรษฐกิจชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย

แนวคิดของการรถไฟฯ ในการเข้าพัฒนาพื้นที่บริเวณสะพานดำ

          การไปเที่ยวชมสะพานดำครั้งนี้ เราได้พูดคุยกับ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย คนที่ 19 ถึงแนวคิดการเข้าบูรณะซ่อมแซมด้วยว่า จริง ๆ แล้วสะพานดำไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งสร้างขึ้น แต่อยู่คู่ลำปางมาเป็นระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำวัง และมีความสำคัญต่อการคมนาคมไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เพียงแต่อาจจะอยู่ในจุดที่คนยังไม่สนใจ แต่ประวัติศาสตร์ของสะพานดำนั้นได้รับใช้การรถไฟฯ รับใช้ประชาชนมายาวนาน ทั้งยังเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความน่าสนใจ ความน่าดูอยู่เยอะ
สะพานดำ ลำปาง

          “การบูรณะในเฟสแรกได้รับการตอบรับจากคนลำปางเยอะมาก บอกว่าเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัด ซึ่งพอเราได้รับการตอบรับอย่างนั้นก็เลยสร้างเพิ่มขึ้นมาให้มีความสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะให้เป็นสมบัติและของขวัญให้กับประชาชนชาวลำปาง และนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวลำปางครับ โดยจะเห็นว่าเรามีการนำเอารถไฟโบราณ รถไฟเก่า ๆ มาสร้างทิวทัศน์และใส่ประวัติศาสตร์ ใส่ความสำคัญของการรถไฟฯ และการเดินทางโดยรถไฟเข้าไปตรงนั้นด้วย รวมทั้งจะเป็นพื้นที่สันทนาการ ออกกำลังกายของคนลำปางได้ด้วย จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาเที่ยวชมกันครับ” ผู้ว่าการรถไฟฯ บอกเล่าถึงที่มาในการเข้าพัฒนาสะพานดำและพื้นที่โดยรอบ
สะพานดำ ลำปาง

สวนสาธารณะรถไฟ สถานที่พักผ่อนและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์

          พื้นที่ภายในสวนสาธารณะที่การรถไฟฯ กำลังพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์อยู่นั้น มีขนาดกว้างขวางประมาณ 10 ไร่ จัดบางส่วนเป็นสวนหย่อมเพื่อทำเป็นจุดพักผ่อน บางส่วนได้ถูกรังสรรค์ด้วยการนำวัสดุอุปกรณ์รถไฟเก่าที่ไม่ใช้แล้ว ผสมผสานระหว่างเรื่องราวในอดีตและของดีจังหวัดลำปาง ประดับตกแต่งเพื่อเพิ่มมูลค่าและความงดงาม ไม่ว่าจะเป็น
 
  • รถจักรไอน้ำหมายเลข 943 ที่ตั้งโดดเด่นเป็นอนุสรณ์อยู่ภายในสวน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2493 โดยบริษัทมิตซิมิชิ ประเทศญี่ปุ่น มีบทบาทสำคัญในการลากจูงขบวนรถโดยสารและสินค้าในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปี และได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นรถจักรประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งมิตรภาพอันยั่งยืนและดีงามระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น
สะพานดำ ลำปาง

  • ตู้รถไฟที่ถูกดัดแปลงเป็นโบกี้ห้องสมุดรถไฟและพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของรถไฟไทย และเป็นห้องสมุดขนาดย่อม
สะพานดำ ลำปาง

  • อุโมงค์ขุนตานจำลองขนาดกะทัดรัด สร้างขึ้นจากชิ้นส่วนรถไฟเก่า
สะพานดำ ลำปาง

  • อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยสร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนที่มาเยี่ยมชมสวนสาธารณะรถไฟและสะพานดำได้สักการบูชา
สะพานดำ ลำปาง

  • พื้นที่ตั้งของงวงเติมน้ำในอดีต โดยใช้สำหรับเติมน้ำรถจักรไอน้ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 และยกเลิกใช้งานเมื่อเปลี่ยนเป็นรถจักรดีเซลช่วงปี พ.ศ. 2507
สะพานดำ ลำปาง

  • หลักกิโลเมตรขนาดใหญ่ ที่บอกระยะทางของจุดหมายปลายทาง ตกแต่งลวดลายด้วยเซรามิกเล็ก ๆ
สะพานดำ ลำปาง

  • ผลงานประติมากรรมจากวัสดุอุปกรณ์รถไฟ เช่น ประติมากรรมที่นำเอาวัสดุเก่าอย่างคันชักกับประแจ ขนาด 50 ปอนด์ และ 60 ปอนด์ ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ออกแบบให้เป็นประติมากรรมไฟ เพื่อบ่งบอกถึงพลังงานความร้อนที่ใช้เป็นพลังงานในการขับเคลื่อนให้รถไฟวิ่งไปได้ในอดีต (ผลงานของนายสุริยา รุ่งกิจเลิศสกุล)
สะพานดำ ลำปาง

เดินเล่นกาดเก๊าจาว สถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงสะพานดำ

          นอกจากสะพานดำและสวนสาธารณะรถไฟแล้ว ใกล้ ๆ กันยังเป็นที่ตั้งของ “กาดเก๊าจาว” หรือ “ตลาดรัตน์ 100 ปี” ตลาดเก่าแก่ที่เปิดคู่กับเส้นทางรถไฟมาอย่างยาวนาน โดยในช่วงปี พ.ศ. 2453 เมื่อรถไฟเดินทางมาถึงจังหวัดลำปาง บริเวณตำบลสบตุ๋ยก็เริ่มมีร้านค้า และผู้คนต่างถิ่นต่างอำเภออพยพมาลงหลักปักฐานมากขึ้น บริเวณลานระหว่างป่าต้นขะจาวและวัดนาก่วมเหนือ มีชาวบ้านพากันนำพืช ผัก ผลไม้ ยาสูบ อาหาร และสินค้าจำเป็นมาขายให้คนงานก่อสร้างทางรถไฟ จนมีการสร้างตลาดขึ้น
          ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลาดสร้างด้วยโครงสร้างไม้มุงหลังคาด้วยใบตองตึง ชาวบ้านจึงเรียกว่ากาดตองตึง ต่อมาเกิดไฟไหม้หมดทั้งหลัง จึงสร้างตลาดขึ้นมาใหม่เป็นโครงสร้างไม้ หลังคามุงด้วยหญ้าคาแต่ก็เกิดไฟไหม้อีกครั้ง กระทั่งปี พ.ศ. 2492 กลุ่มพ่อก่องคำ ไชยวงค์ และ นายสุคำ ชุ่มอินทร์จักร ได้รวบรวมหุ้นที่ส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้อง เพื่อเช่าพื้นที่การรถไฟฯ มาสร้างตลาดและอาคารไม้รอบ ๆ พร้อมตั้งชื่อว่า “ตลาดรัตน” (ตามชื่อหลวงเสรีเริงฤทธิ์รัตนยนต์ ผู้ว่าราชการรถไฟ) แต่คนยังเรียกกันว่า “กาดเก๊าจาว” ปัจจุบันตลาดดำเนินการโดยประชาชนชาวชุมชนรถไฟนครลำปางในรูปแบบสหกรณ์ ชื่อว่า “สหกรณ์เคหสถานชุมชนตลาดเก๊าจาว จำกัด” เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ไปถึงเที่ยงวัน
กาดเก๊าจาว

          บรรยากาศภายในกาดเก๊าจาวจะคึกคักไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอย เสียงร้องเรียกลูกค้าเป็นภาษาคำเมืองลอยให้ได้ยินเป็นระยะ ๆ สินค้าจะมีทั้งผักสด ผลไม้ ของป่า เนื้อสัตว์ ปลาน้ำจืด ขนมหวาน ของกินเล่น อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป ของฝากต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหารพื้นเมืองที่มีให้ลิ้มลองหลากหลาย เช่น แกงแค แกงฮังเล ขนมเส้นน้ำเงี้ยว หรือแคบหมู เป็นต้น อีกทั้งยังมีร้านรวงที่จำหน่ายของใช้จิปาถะ ร้านเสื้อผ้า รวมถึงสตรีตอาร์ตลวดลายน่ารัก บอกเล่าถึงความเป็นลำปางให้ได้เดินถ่ายรูปเช็กอินกันด้วย หากอยากสัมผัสกับวิถีชีวิตยามเช้าของคนลำปางไม่ควรพลาดไปเที่ยวชม เดินจากสะพานดำมาไม่ไกลเลย
กาดเก๊าจาว

กาดเก๊าจาว

กาดเก๊าจาว

กาดเก๊าจาว

กาดเก๊าจาว

กาดเก๊าจาว

กาดเก๊าจาว

กาดเก๊าจาว

          มาถึงตรงนี้ต้องบอกว่านี่เป็นเพียงเรื่องราวส่วนหนึ่งของ “สะพานดำ” เท่านั้น เพราะปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ปรับปรุง และต่อเติมให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัดลำปาง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนปลายปี 2565 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยทุกคน โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้ที่ www.railway.co.th

          อย่างไรก็ตาม หากคุณมีโอกาสได้ไปเยือนเมืองเขลางค์นคร อย่าลืมลิสต์สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ไว้ แล้วไปสัมผัสกับบรรยากาศต่าง ๆ ด้วยตัวเองดูสักครั้งคงจะดี และถ้าอยากไปถ่ายรูปเช็กอินคู่สะพานดำ ขอแนะนำว่าควรเช็กเวลารถไฟวิ่งผ่านข้ามสะพานเหล็กที่ www.railway.co.th หรือสายด่วนของการรถไฟฯ หมายเลข 1690 กันก่อน เพื่อความปลอดภัย ยังไงก็ระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมและปลอดภัยกันด้วยนะ
สะพานดำ ลำปาง

สะพานดำ ลำปาง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวสะพานดำ สะพานรถไฟสายประวัติศาสตร์ แลนด์มาร์กใหม่ของลำปาง อัปเดตล่าสุด 17 พฤษภาคม 2566 เวลา 17:11:53 12,926 อ่าน
TOP