MEA ชี้แจงผลตรวจสอบลักลอบใช้ไฟฟ้าขุดบิตคอยน์ เตือนผิดกฎหมาย เสี่ยงเกิดเพลิงไหม้

          MEA ระดมกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เป้าหมายลักลอบใช้ไฟฟ้าขุดบิตคอยน์จำนวน 3,471 จุด พบการลักลอบใช้ไฟฟ้า 35 จุด ประเมินมูลค่าความเสียหายจากการลักลอบใช้ไฟฟ้าทั้งหมดประมาณ 74.9 ล้านบาท พร้อมย้ำ ผู้ลักลอบมีความผิดทางอาญา และเสี่ยงเกิดไฟฟ้าลัดวงจร อัคคีภัย และไฟดูดไฟช็อต จากการปรับแต่งระบบไฟฟ้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
การไฟฟ้านครหลวง

          จากกรณีการตรวจพบผู้ลักลอบใช้ไฟฟ้าขุดบิตคอยน์จำนวน 38 จุด และยึดเครื่องขุดบิตคอยน์ได้กว่า 3,500 เครื่อง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้น นายพิพัฒน์ ชลอำไพ รองผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง กล่าวถึงความคืบหน้าจากการระดมกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบว่า MEA ได้บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบเพิ่มเติมในสถานที่เป้าหมายที่เข้าข่ายต้องสงสัยในพื้นที่ให้บริการของ MEA รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,471 จุด ดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 1 - 18 ธันวาคม 2565 พบว่า มีการลักลอบใช้ไฟฟ้า 35 จุด โดยแบ่งเป็นการลักลอบในพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้
  • การไฟฟ้านครหลวงเขตบางขุนเทียน 15 จุด
  • การไฟฟ้านครหลวงเขตลาดกระบัง 5 จุด
  • การไฟฟ้านครหลวงเขตนนทบุรี 4 จุด
  • การไฟฟ้านครหลวงเขตนวลจันทร์ 3 จุด
  • การไฟฟ้านครหลวงเขตธนบุรี 3 จุด
  • การไฟฟ้านครหลวงเขตบางบัวทอง 2 จุด
  • การไฟฟ้านครหลวงเขตบางเขน 1 จุด
  • การไฟฟ้านครหลวงเขตมีนบุรี 1 จุด
  • การไฟฟ้านครหลวงเขตราษฎร์บูรณะ 1 จุด

          โดย MEA ได้ประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในขยายผลการจับกุมเพิ่มเติมต่อไป

การไฟฟ้านครหลวง

          รองผู้ว่าการ MEA กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ลักใช้ไฟฟ้าเพื่อขุดบิตคอยน์ทั้งหมด มีลักษณะการเลือกใช้สถานที่เป็นอาคารพาณิชย์ที่อยู่รอบนอกเมือง ประชาชนไม่พลุกพล่าน ปิดบ้านในลักษณะคล้ายไม่มีผู้อยู่อาศัย ทำให้ไม่เป็นจุดสังเกตของผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง และมีการต่อเติมฝ้าด้านหน้าอาคารเพื่อปกปิดจุดเชื่อมต่อสายไฟฟ้าที่มีการลักลอบใช้ไฟฟ้าจาก MEA
การไฟฟ้านครหลวง

          ทั้งนี้ จากจำนวนการตรวจพบการลักลอบใช้ไฟฟ้า 35 จุด แบ่งเป็นการตรวจพบพร้อมกับอุปกรณ์บิตคอยน์ 22 จุด ตรวจไม่พบอุปกรณ์บิตคอยน์แต่มีร่องรอยคล้ายเคยมีการติดตั้ง 8 จุด และตรวจไม่พบอุปกรณ์บิตคอยน์ แต่มีลักษณะการเตรียมพื้นที่รองรับที่จะขุดบิตคอยน์ 5 จุด ประเมินมูลค่าความเสียหายจากการลักลอบใช้ไฟฟ้าทั้งหมดประมาณ 74.9 ล้านบาท
          โดยบางแห่ง MEA ตรวจสอบพบร่องรอยสายไฟฟ้าชำรุด มีคราบรอยไหม้ที่พื้นผิวอาคาร ซึ่งมาจากประกายไฟหรือความร้อนจากจุดต่อเชื่อมสายไฟ รวมถึงพบแคลมป์สำหรับยึดสายไฟเสียหายผิดรูป โดยทั้งหมดเป็นผลที่เกิดจากการเชื่อมต่อสายไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟฟ้าลัดวงจร และเกิดเพลิงไหม้
การไฟฟ้านครหลวง

การไฟฟ้านครหลวง

          MEA ยืนยันว่า จะดำเนินคดีกับผู้ลักลอบใช้ไฟฟ้าทุกรายที่ตรวจสอบพบ โดยจะประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในขยายผลการจับกุมเพิ่มเติม ทั้งนี้ MEA มีการตรวจสอบจากฐานข้อมูลการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง มีการตรวจจับ และเปรียบเทียบจากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า มีการใช้อุปกรณ์ตรวจจับค่ากระแสไฟฟ้า การรับแจ้งจากผู้พบเห็น ไปจนถึงความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในทางกายภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้า
          พร้อมกันนี้ MEA ยังใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าโดยในระยะยาวได้ดำเนินโครงการ Smart Meter และ ระบบบริหารจัดการใช้งานหม้อแปลงจำหน่าย หรือ Transformer Load Monitoring (TLM) ซึ่งจะทำให้ MEA ตรวจสอบการลักลอบใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหากพบการลักลอบใช้ไฟฟ้าจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา ในข้อหาลักทรัพย์ มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี

          นับตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน MEA ดำเนินคดีกับผู้ลักลอบใช้ไฟฟ้าแล้วทั้งสิ้น 1,949 ราย ในจำนวนนี้ มีการลักลอบใช้ไฟฟ้าเพื่อการขุดเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีจำนวนทั้งสิ้น 28 ราย ซึ่งการลักลอบใช้ไฟฟ้านอกจากจะมีความผิดตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ไฟฟ้า เนื่องจากการปรับแต่งระบบไฟฟ้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร อัคคีภัย และไฟดูดไฟช็อต ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ ส่งผลเสียหายต่อทั้งชีวิต และทรัพย์สินผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ใช่ผู้ปรับแต่งระบบไฟฟ้าด้วยตนเอง แต่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในสถานที่ที่มีการลักลอบ ก็จะมีความผิดในข้อหาลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันการติดตั้งสิ่งกีดขวางอุปกรณ์จำหน่ายไฟฟ้าของ MEA ยังเป็นการกีดขวางการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ยากต่อการตรวจสอบและบำรุงรักษา ซึ่งอาจทำให้ ไม่สามารถตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้า และเกิดการชำรุด ลัดวงจรจนเป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้ใช้ไฟฟ้าได้

 

การไฟฟ้านครหลวง

          สำหรับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอาคารปล่อยเช่า ควรตรวจสอบผู้เช่าว่ามีการใช้งานอาคารในลักษณะใด มีการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากผู้ใดพบเห็นการละเมิดการใช้ไฟฟ้าที่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ MEA Smart Life Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนระบบ iOS และ Android ของ MEA ดาวน์โหลดฟรี คลิก
  • หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่
  • Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA
  • Line : MEA Connect
  • Twitter: @mea_news
  • ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
MEA ชี้แจงผลตรวจสอบลักลอบใช้ไฟฟ้าขุดบิตคอยน์ เตือนผิดกฎหมาย เสี่ยงเกิดเพลิงไหม้ อัปเดตล่าสุด 22 ธันวาคม 2565 เวลา 12:16:04 2,438 อ่าน
TOP