การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงเรื่องเปลี่ยนป้ายชื่อแบบละเอียดยิบ ทำไมต้องใช้งบสูงถึง 33 ล้านบาท ชี้ไม่ใช่แค่ 56 ตัวอักษร แต่มากถึง 112 ตัวอักษร
จากกรณีข่าวการรถไฟแห่งประเทศไทย
มีการลงนามจ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่ง โดยใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท
เพื่อเปลี่ยนป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ" มาเป็น
"สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างว่า
ใช้งบประมาณสูงเกินจริงหรือไม่ ซึ่งทางการรถไฟฯ
ก็ออกมาชี้แจงเหตุผลที่ต้องใช้งบประมาณสูงไปแล้ว
อ่านข่าว : เตรียมเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ เป็นชื่อ กรุงเทพอภิวัฒน์ ใช้งบ 33 ล้าน
ถกแพงไปไหม
อ่านข่าว : รฟท. แจงยิบ ทำไมเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ ถึงใช้งบสูงถึง 33 ล้านบาท
ล่าสุด (6 มกราคม 2566)
เฟซบุ๊ก ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย มีการโพสต์ชี้แจงเพิ่มเติมถึงประเด็นดังกล่าว
เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
หลังจากยังมีผู้ที่แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในหลายประเด็น
ดังนี้
ไม่ได้เปลี่ยนป้ายชื่อแค่ 56 ตัวอักษร แต่ปรับปรุงมากถึง 112 ตัวอักษร
กรณีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
โดยใช้งบประมาณปรับปรุงป้ายชื่อสูงถึงตัวอักษรละ 5 แสนบาทนั้น
ถือเป็นเรื่องที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงเป็นอย่างมาก
เนื่องจากโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ดังกล่าว
ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนป้ายชื่อจำนวน 56 อักษร อย่างที่มีการตั้งข้อสังเกต
แต่ในความจริงมีการปรับปรุงป้ายชื่อมากถึง 112 ตัวอักษร (110 ตัวอักษร กับ 2
ตราสัญลักษณ์ฯ) เพราะมีการติดตั้งป้ายชื่อสถานีอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง
ทั้งบริเวณโดมด้านหน้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก
และยังมีจำนวนตัวอักษรที่เพิ่มขึ้นจากป้ายเดิมอีกด้วย
รายละเอียดของการติดตั้งตัวอักษร
- แบ่งเป็นตัวอักษรภาษาไทยฝั่งละ 24 ตัวอักษร
- อักษรภาษาอังกฤษฝั่งละ 31 ตัวอักษร
- ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ ฝั่งละ 1 ตราสัญลักษณ์ ซึ่งหากรวมทั้ง 2 ฝั่ง
จะมีการติดตั้งอักษรภาษาไทยรวมถึง 48 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษรวม 62
ตัวอักษร และ 2 ตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ
- รวมทั้งสิ้น 112 ตัวอักษร (110 ตัวอักษร กับ 2 ตราสัญลักษณ์ฯ)
แจงขอบเขตโครงการในวงเงิน 33 ล้านบาท ไม่ได้ปรับปรุงแค่ป้ายชื่อเพียงอย่างเดียว
สำหรับการกำหนดขอบเขตของงานโครงการฯ ในวงเงิน 33 ล้านบาทนั้น
ไม่ได้มีเพียงแค่ค่าใช้จ่ายการปรับปรุงป้ายชื่อตัวอักษรเพียงอย่างเดียว
แต่ยังรวมถึงงานปรับปรุงต่าง ๆ ดังนี้
- งานรื้อถอน
- การเปลี่ยนผนังกระจก
- โครงผนังกระจกอะลูมิเนียม
- การจัดทำระบบไฟแสงสว่าง
-
ค่าการออกแบบด้านวิศวกรรมโครงสร้างและรูปแบบการติดตั้งที่มีขอบเขตงานที่เกี่ยวกับการรื้อถอนของเดิมและติดตั้งของใหม่ที่กระทบต่อโครงสร้างของอาคารสถานีที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว
- ค่ารับประกันความชำรุดบกพร่องภายในขอบเขตงานอีก 365 วัน
- ค่าบำรุงรักษางานระบบไฟแสงสว่าง
ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจะจ่ายให้
แต่ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบตลอดระยะเวลาการรับประกันผลงาน โดยมีรายละเอียด
ดังต่อไปนี้
งานส่วนที่ 1 งานโครงสร้างวิศวกรรม
-
งานรื้อถอนผนังกระจก 85 ตารางเมตร โครงผนังกระจก 188 ตารางเมตร
และป้ายสถานีเดิม 2 ฝั่ง รวมเป็นเงิน 4,098,329.16 ล้านบาท
- งานโครงสร้างเหล็ก น้ำหนักเหล็ก 13,014 กิโลกรัม รวมเป็นเงิน 1,524,824.35 บาท
- งานกระเช้าไฟฟ้ารองรับการทำงานที่สูง 28 เมตร รวมเป็นเงิน 605,368.00 บาท
งานส่วนที่ 2 งานสถาปัตยกรรม
- การจัดหาและติดตั้งกระจกชุดใหม่
ที่ต้องสั่งหล่อเป็นพิเศษโดยเว้นรูเจาะให้พอดีจุดยึดโครงเหล็กกับตัวอักษรแต่ละตัวไว้ล่วงหน้า
รวมเป็นเงิน 2,657,882.85 บาท
- งานจัดหาและติดตั้งโครงกระจกอะลูมิเนียม รวมเป็นเงิน 2,094,915.02 บาท
- งานจัดหาติดตั้งป้ายที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และสัญลักษณ์การรถไฟฯ
ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก รวม 110 ตัวอักษร และ 2 ตราสัญลักษณ์
รวมเป็นเงิน 19,642,043.52 บาท
งานส่วนที่ 3 งานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ
- งานออกแบบด้านวิศวกรรมโครงสร้าง และรูปแบบการติดตั้ง รวมเป็นเงิน 918,700.89 บาท
งานส่วนที่ 4 งานเผื่อเลือก (Provisional Sum)
- งานติดตั้งและรื้อถอนวัสดุปิดแทนกระจกระหว่างเปิดใช้งาน รวมเป็นเงิน
1,627,662.60 บาท แต่ในส่วนรายการนี้ ได้กำหนดไว้ว่า
จะจ่ายให้ก็ต่อเมื่อผู้ว่าจ้างสั่งให้ดำเนินการ
สำหรับงานติดตั้งและรื้อถอนวัสดุปิดแทนผนังกระจก เช่น แผ่นผนังอะครีลิกใส
เป็นต้น
เพื่อป้องกันไม่ให้ลมหรือฝนสาดเข้าตัวอาคารสถานี
ระหว่างที่รอการผลิตและติดตั้งผนังกระจกใหม่
โดยในกรณีที่ผนังกระจกใหม่สามารถผลิตและติดตั้งให้แล้วเสร็จได้ทันภายใน 90
วัน ยอดเงินเผื่อจ่าย (Provisional Sum)
รายการนี้ผู้ว่าจ้างก็จะไม่ต้องสั่งให้ผู้รับจ้างดำเนินการและผู้รับจ้างก็จะไม่สามารถขอเบิกจ่ายเงินค่าจ้างได้
ซึ่งก็คือ ถ้าไม่ต้องดำเนินการก็จะไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างรายการนี้
การรถไฟฯ ก็จะสามารถประหยัดเงินค่าจ้างลงได้ส่วนหนึ่งด้วย
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการตั้งข้อสังเกตที่ระบุว่า การรถไฟฯ
ใช้งบประมาณในการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ในราคาตัวอักษรละ 5 แสนบาท จึงไม่ใช่ความจริง
เพราะในข้อเท็จจริงมีการติดตั้งตัวอักษรมากถึง 112 ตัวอักษร ไม่ใช่ 56
ตัวอักษร อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอื่น ๆ
เข้าไปรวมอยู่ในเนื้องานอีกจำนวนมากด้วยและที่สำคัญราคาการเปลี่ยนป้ายชื่อดังกล่าวยังสอดคล้องกับราคาประมาณการของชมรมป้าย
ซึ่งประเมินค่าใช้จ่ายตัวอักษร
เนื่องจากขนาดตัวอักษรป้ายชื่อมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ มีความสูงถึง 3 เมตร
กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร มีความยาวของป้ายใหม่รวม 60 เมตร
ตามจำนวนอักษรของชื่อพระราชทาน ในส่วนที่เป็นอักษรภาษาอังกฤษ มีความสูง 2.1
เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร อีกทั้งยังผลิตด้วยวัสดุพิเศษ
เป็นอะคริลิกสีขาวนม ยกขอบ ซึ่งมีความทนทานต่อแดดและฝน
รวมถึงซ่อนไฟแสงสว่างไว้ด้านหลังป้ายด้วย ขณะที่ตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ
ยังมีความสูงถึง 7 เมตรเช่นกัน
ตอบเหตุผลที่ใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง
การรถไฟฯ ขอชี้แจงเหตุผลที่ต้องจ้างโดยวิธีดังกล่าว
เนื่องจากการจ้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
เป็นการจ้างปรับปรุงงานก่อสร้างที่ได้ดำเนินงานก่อสร้างจนแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้วและยังอยู่ระหว่างการรับประกันความชำรุดบกพร่องของกิจการร่วมค้า
เอส ยู ประกอบด้วย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด
(มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด
(มหาชน)
โดยบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์
คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสถานี
ซึ่งงานจ้างปรับปรุงฯ นี้
มีขอบเขตงานที่เกี่ยวกับการรื้อถอนของเดิมและติดตั้งของใหม่ที่กระทบต่อโครงสร้างของอาคารสถานีที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว
ย่อมส่งผลต่อการรับประกันความชำรุดบกพร่องของงาน
การรถไฟฯ จึงได้กำหนดขอบเขตของงานให้ผู้รับจ้างต้องดำเนินงานภายใต้เงื่อนไข
ข้อกำหนด รายการจำเพาะ ตามขอบข่ายวัตถุประสงค์ ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง
(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1 ซึ่งมีเพียงบริษัท ยูนิค
เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข
จึงเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.
2560 มาตรา 56 (2) (ค)
ที่ให้หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการจัดจ้างจากผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว
ซึ่งถือเป็นการดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
และหลักธรรมมาภิบาลทุกประการ ท้ายนี้ การรถไฟฯ
จึงขอเน้นย้ำข้อเท็จจริงเพื่อให้ความมั่นใจอีกครั้งว่า
โครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยในครั้งนี้
ได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส คุ้มค่า เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชน
อีกทั้งยังถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐทุกประการ
พร้อมกับคำนึงถึงความสวยงาม ความปลอดภัย สอดคล้องกับการยกระดับ
สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ให้เป็นศูนย์กลางระบบรางที่ดีที่สุดในประเทศ
และภูมิภาคต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย