นาซา ค้นพบดาวเคราะห์ขนาดพอ ๆ กับโลก อาจมีน้ำอยู่บนพื้นผิว เอื้อต่อการอยู่อาศัย อาจจะมีหรือเคยมีสิ่งมีชีวิต ห่างจากโลก 100 ปีแสง
ภาพจาก NASA/JPL-Caltech/Robert Hurt
วันที่ 10 มกราคม 2566 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ภารกิจขององค์การอวกาศนานาชาติ หรือ นาซา (NASA) ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะขนาดพอ ๆ กับโลก ที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ขนาดเล็ก โดยอยู่ห่างจากโลกไปราว 100 ปีแสง
ดาวเคราะห์ดวงนี้ชื่อ TOI 700 e หรือดาว e มีลักษณะเป็นหินและมีขนาด 95% เมื่อเทียบกับโลกของเรา นับเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 4 ที่พบว่าโคจรอยู่รอบ ดาวแคระ TOI 700 โดยดาวเคราะห์นอกระบบทั้งหมดนี้ถูกพบโดยดาวเทียมสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบ (TESS) หรือดาวเทียมเทสส์
ดาวเคราะห์อีกดวงในระบบนั้นที่มีขนาดเท่าโลก คือ TOI 700 d ซึ่งถูกค้นพบเมื่อปี 2563 ทั้ง 2 ดาวอยู่ในเขตเอื้ออาศัย (habitable zone) หรือมีระยะห่างจากดาวฤกษ์ที่เหมาะสม ซึ่งทำให้อาจจะยังมีน้ำอยู่บนพื้นผิวของดวงดาว โดยการมีน้ำเป็นข้อบ่งชี้ว่าดาวเคราะห์เหล่านี้อาจจะมี หรือเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
การค้นพบดาวเคราะห์ดวงที่ 4 ถูกประกาศในวันอังคารที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา ณ งานประชุม American Astronomical Society ครั้งที่ 241 ในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐฯ
ด้าน เอมิลี่ กิลเบิร์ต หัวหน้าทีมวิจัยจากนาซา เผยว่า เท่าที่เรารู้จัก นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่ระบบที่มีดาวเคราะห์ขนาดเล็กหลายดวงอยู่ในเขตเอื้ออาศัย นั่นทำให้ระบบ TOI 700 เป็นโอกาสน่าตื่นเต้นในการติดตามผลเพิ่มเติม ดาว e เล็กกว่าดาว d แค่ 10% ดังนั้นระบบยังคงแสดงให้เห็นว่าการสังเกตการณ์เพิ่มเติมของดาวเทียมเทสส์ช่วยให้เราค้นพบโลกที่เล็กลง และเล็กลงไปอีกได้อย่างไร
อนึ่ง ดาวแคระที่เล็กและเย็นอย่าง TOI 700 พบได้ทั่วไปในจักรวาล และหลายดวงพบว่ามีดาวเคราะห์นอกระบบ โดยดาวที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากที่สุดคือ TOI 700 b ที่มีขนาด 90% เมื่อเทียบกับโลก และยังมีดาว TOI 700 c ที่ใหญ่กว่าโลกของเรา 2.5 เท่า
สำหรับดาวเคราะห์นอกระบบ 2 ดวงที่อยู่ในเขตเอื้ออาศัย คือดาว d และ e มีรอบโคจรรอบดาวฤกษ์คือ 37 และ 28 วัน โดยดาว e อยู่ระหว่างดาว c และดาว d
ติดตามอ่าน ข่าวต่างประเทศ ที่น่าสนใจได้ที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจาก ซีเอ็นเอ็น