x close

เบรกเอี๊ยด ! กรมประมง สั่งหยุดโปรโมตปลาหยก ชี้เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ ห้ามนำเข้า !

 
           กรมประมง สั่งหยุดโปรโมต ปลาหยก หรือ วากิวแห่งสายน้ำ ภายใน 3 วัน หลังพบขออนุญาตศึกษาวิจัย แต่กลับเปิดตัวเชิงพาณิชย์ ชี้ เป็น 1 ใน 13 เอเลี่ยนสปีชีส์ สัตว์น้ำห้ามนำเข้า

            จากกรณีที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดตัว ปลาเก๋าหยก ซึ่งได้ขออนุญาตกรมประมงนำเข้าลูกปลาจากประเทศจีน เพื่อทดลองเพาะเลี้ยงที่ฟาร์มปลา ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยชูระบบการเลี้ยงที่ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

            พร้อมทำการตลาด ปั้นเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ จนเกิดเป็นกระแสดราม่าการแพร่กระจายของสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของไทยในอนาคต นั้น

            ล่าสุด (3 กุมภาพันธ์ 2566) นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เผยว่า กรณี CPF ได้ขออนุญาตกรมประมงนำเข้าปลาเก๋าหยกเมื่อปี 2561 เพื่อการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยง ซึ่งหลังจากระยะทดลองได้มีการชำแหละปลาทั้งหมดเป็นเนื้อปลา เหลือเพียงพ่อแม่พันธุ์ จำนวน 40 คู่


            ต่อมาช่วงเดือน เมษายน 2565 ทาง CPF ได้ขออนุญาตดำเนินการศึกษาวิจัยการเพาะพันธุ์ การเลี้ยง และการตลาดผลิตภัณฑ์ปลา Jade perch ในระบบปิดน้ำหมุนเวียนเชิงพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ ซึ่งกรมประมงได้อนุญาตให้ศึกษาวิจัยดังกล่าว

            โดยผ่านมติของคณะกรรมการด้านความหลากหลายและด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) ซึ่งต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กรมประมงกำหนด คือเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น โดยต้องดำเนินการในพื้นที่ที่กรมประมงอนุญาตเท่านั้น และห้ามเคลื่อนย้ายปลามีชีวิตออกจากบริเวณที่อนุญาตโดยเด็ดขาด

            ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทดลองเพื่อศึกษาวิจัยด้านการตลาด กรมประมงอนุญาตให้จำหน่ายเป็นผลผลิตแบบที่ไม่มีชีวิตเท่านั้น เช่น ปลาแช่แข็ง และอนุญาตให้จำหน่ายในช่องทางของบริษัทในเครือ ตามที่บริษัทเสนอแผนการศึกษามา เช่น ซีพีเฟรชมาร์ท โลตัส แม็คโคร เท่านั้น

            ทั้งนี้ การดำเนินการศึกษาวิจัยต้องรายงานให้กรมประมงรับทราบทุกขั้นตอน ตลอดจนต้องส่งผลการศึกษาวิจัยฉบับสมบูรณ์แก่กรมประมง

            ทว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบการออกข่าวประชาสัมพันธ์ของ CPF ได้ดำเนินการนอกเหนือจากกรอบโครงการวิจัยที่บริษัทเสนอต่อกรมประมง โดยจำหน่ายปลาเก๋าหยกในเชิงพาณิชย์ ก่อนที่จะรายงานให้กรมประมงทราบ


            ทางกรมประมงจึงได้แจ้ง CPF ให้ระงับการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวภายใน 3 วัน มิฉะนั้น กรมประมงจะดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนี้ ซึ่งหมายความว่า CPF จะไม่สามารถดำเนินการในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปลาเก๋าหยกได้ต่อไป

ปลาหยก

            สำหรับ ปลาหยก หรือ ปลาเก๋าหยก (Jade perch) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scortum barcoo เป็นปลาน้ำจืด มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย และมีการนำเข้ามาเพาะเลี้ยงเชิงเศรษฐกิจในประเทศจีนและมาเลเซีย

            โดยปลาเก๋าหยก จัดเป็น 1 ใน13 สัตว์น้ำต่างถิ่นที่ห้ามเพาะเลี้ยงในประเทศไทย ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นหายาก หรือป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ โดยผู้จะทำการเพาะเลี้ยงต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย

            หากผู้ใดฝ่าฝืนตามมาตรา 65 วรรคสอง ต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง นำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปลาหยก




ขอบคุณขอมูลจาก เฟซบุ๊ก กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เบรกเอี๊ยด ! กรมประมง สั่งหยุดโปรโมตปลาหยก ชี้เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ ห้ามนำเข้า ! อัปเดตล่าสุด 4 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 21:58:05 6,681 อ่าน
TOP