อวัยวะเพศชายทั่วโลกยาวขึ้น 24% ในรอบเกือบ 30 ปี แต่อาจไม่ใช่ข่าวดีอย่างที่คิด นักวิจัยแสดงความกังวลต่อการเจริญพันธุ์ คาดสารเคมีในสิ่งแวดล้อมและอาหาร อาจเป็นปัจจัย
ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับข้อมูล
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เว็บไซต์นิวยอร์กโพสต์ รายงานว่า ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เปิดเผยผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสาร World Journal of Men’s Health พบว่าความยาวเฉลี่ยของอวัยวะเพศชายขณะแข็งตัว มีความยาวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นถึง 24% จากค่าเฉลี่ยเดิม 4.8 นิ้ว มาเป็น 6 นิ้ว
ผลที่ได้เป็นการเก็บข้อมูลจากประชากรชายทั่วโลกกว่า 55,000 คน ในการสำรวจระหว่างปี 2535 - 2564 ซึ่งมุ่งเป้าไปยังความยาวของอวัยวะเพศชายขณะแข็งตัว
แม้การค้นพบดังกล่าวอาจสร้างความยินดีแก่ผู้ชายหลาย ๆ คน แต่นักวิจัยกลับเตือนว่านี่ไม่ใช่ข่าวดีอย่างที่คิด ทั้งยังแสดงความกังวลว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้อาจเกิดจากการใช้ชีวิตที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เช่น การบริโภคอาหารขยะ การนั่งนิ่ง ๆ เป็นส่วนใหญ่ หรือแม้กระทั่งเรื่องมลพิษ
ดร.ไมเคิล ไอเซนเบิร์ก ศาสตราจารย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้นำทีมวิจัย ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงใด ๆ เป็นเรื่องน่ากังวล เพราะระบบสืบพันธุ์ของเราเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของชีววิทยามนุษย์ หากได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเช่นนี้ นั่นหมายถึงกำลังมีบางอย่างที่ทรงพลังเกิดขึ้นกับร่างกายของเรา
ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับข้อมูล
ดร.ไอเซนเบิร์ก ชี้ว่า อาจมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขนาด เช่น การสัมผัสสารเคมีอย่างยาฆ่าแมลงหรือผลิตภัณฑ์สุขอนามัย ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับระบบฮอร์โมนของเรา สารเคมีที่เข้ามาทำลายต่อมไร้ท่อเหล่านี้มีอยู่มากมายทั้งในสิ่งแวดล้อมหรือแม้แต่ในอาหาร การสัมผัสสารเคมียังส่งผลให้เด็กชายและเด็กหญิงเข้าสู่วัยแรกรุ่นเร็วขึ้น ซึ่งสามารถส่งผลต่อการพัฒนาของอวัยวะเพศได้เช่นกัน
ขณะที่ข้อมูลด้านสุขภาพการเจริญพันธุ์ของผู้ชาย พบว่า คุณภาพของสเปิร์มและระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนลดลงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา นั่นจึงกลายเป็นสัญญาณเตือนให้ ดร.ไอเซนเบิร์ก พยายามค้นหาว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาคเกิดขึ้นด้วยหรือไม่ นำมาสู่การวิจัยและค้นพบเรื่องขนาดอวัยวะเพศชายที่เพิ่มขึ้น
ติดตามอ่าน ข่าวต่างประเทศ ที่น่าสนใจได้ที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจาก New York Post, Scope