ครอบครัวปล่อยโฮ... ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม อ้างผลย้อนหลัง 5 ชม. สู้มาเกือบ 2 ปี !

 

              ครอบครัวปล่อยโฮ ฟาดบริษัทประกันภัย สู้คดีมา 2 ปี สุดทุกข์ทรมาน ไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน ทั้งที่ทำประกันชั้น 1 อ้างผลแล็ปคำนวณย้อนหลัง 5 ชม. หาเมาแล้วขับ

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

              จากกรณีครอบครัวหนึ่งขับรถประสบอุบัติเหตุ อาการสาหัสทั้งครอบครัว แต่ถูกประกันชั้น 1 ปฏิเสธจ่ายค่าสินไหมทดแทน อ้างผลตรวจแอลกอฮอล์ออกมาจากแล็ป 2.9 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อนำมาคำนวณย้อนหลัง 5 ชั่วโมง ประกันอ้างว่าคนขับรถเมา ทั้งที่ผู้เสียหายยืนยันไม่ได้เมา และไม่ได้ดื่มเหล้าดื่มเบียร์ สู้คดีเกือบ 2 ปี ศาลชั้นต้นตัดสินให้ประกันจ่ายค่าสินไหมทดแทน แต่ถึงตอนนี้ครอบครัวยังไม่ได้รับการเยียวยา  

              ล่าสุด รายการโหนกระแส ออกอากาศวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ดำเนินรายการโดย "หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย" ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ กานต์ - เดือน ผู้เสียหาย, ทนายจอมพล เต่าทอง ทนายความประจำสำนักงานวงศกรณ์, นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ, ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ชุติวงศ์ อาจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์, ณัฐวิทย์ ศรีเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ.เขตท่าพระ

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

- เรื่องราวทั้งหมดเกิดเมื่อไหร่ ?

              เดือน : วันที่ 7 พ.ย. 64 ปีกว่าค่ะ วันนั้นเดินทางกลับจากพาคุณแม่ไปทำบุญ กำลังไปส่งคุณแม่ที่บ้าน เป็นเส้นเขตบางขุนเทียน เป็นถนนสองเลน ก่อนหน้านั้นฝนตกมีน้ำท่วมขัง เราขับมาช้า ๆ จังหวะจะเบี่ยงออก มีรถอยู่ข้างหน้า เราจะแซงขวาขึ้นไป ถนนลื่น รถก็เลยปัด และเสียหลักเลยค่ะ แล้วก็ตกหลุมค่ะ

              กานต์ : เหมือนล้อถูกตะแคง แล้วล้อมันฟรี พอล้อลงพื้นก็เหมือนยิงหนังสติ๊กหมุนไปเลย กระแทกเสาไฟฟ้า ตอนนั้นผมพอมีสติ แต่แฟนสลบ แม่ยายเลือดเต็มหน้ากะโหลกแตก ลูก 9 ขวบ ขาหัก ผมถลอกนิดหน่อย

- คุณพูดเหมือนจะร้องไห้ มันต่อสู้อัดอั้นตันใจเพราะอะไร ?


              กานต์ : มันเดือดร้อนไปหมดเลยครับ (ร้องไห้) เดือดร้อนทุกอย่าง ส่งผลต่อครอบครัวผมหนักมากครับ

- ด้วยสาเหตุรถชนแล้วประกันไม่จ่าย ?

              กานต์ : ใช่ครับ ผมไม่มีรถทำงาน ผมต้องไปขายของตลาดนัด ทุกวันนี้ใช้มอเตอร์ไซค์แบกของ แบกเครื่องใช้ไฟฟ้า บางทีก็จักรยานเอาไปขายครับ (เสียงสั่นเครือ)

- พอรถตบขวาออกไป ใช้ความเร็ว 49-55 กิโลเมตรต่อชม. จริง ๆ ก็ไม่ถึงขั้นเร็วมาก เพราะกล้องจับได้ มันบอกทั้งหมด วันนั้นมีการดื่มมั้ย ?

              กานต์ : ผมเป็นคนไม่ดื่มเหล้าครับ

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

- เหตุการณ์พลิกชีวิตคุณคืออะไร ?

              กานต์ : ตอนผมนำใบแอลกอฮอล์ให้กับทางประกัน

              เดือน : หลังจากรถชนก็ไม่ได้จัดการหาทนาย พอได้รับผลตรวจแอลกอฮอล์ก็เอาให้เจ้าหน้าที่ ตร. เซ็นรับทราบ แล้วให้ประกันสาขาย่อย เพื่อส่งบริษัทใหญ่ ไม่กี่วันก็มีเอกสารส่งมาที่บ้าน เป็นหนังสือปฏิเสธการรับผิดชอบค่ะ

- วันนั้นที่ชนมีการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์มั้ย ?

              เดือน : ทั้งหมดบาดเจ็บสาหัสอยู่ในห้องฉุกเฉินรักษาตัวกัน ตอนนั้นหนูสลบไปฟื้นที่ รพ. แม่ก็บาดเจ็บสาหัสผ่าตัดคืนนั้นเลย ลูกสาวก็ขาหัก พอแฟนบอกว่ามีพยาบาลให้ใบมาจาก ตร. บอกว่าขอตรวจแอลกอฮอล์โดยการเจาะเลือด

- เวลาเจาะห่างจากที่ชนแค่ไหน ?

              กานต์ : 5 ชม. ครับ ตอนนั้นผมก็บาดเจ็บ ถูกแอดมิตครับ

- บาดเจ็บสาหัสกันทุกคน หลัง 5 ชม. หลังจากชน พยาบาลขอตรวจเลือดคุณ แล้วผลออกมาเป็นยังไง ?

              กานต์ : 2.920 เปอร์เซ็นต์

- ประกันว่ายังไง ?

              กานต์ : ประกันส่งหนังสือปฏิเสธมา บอกว่าไม่รับผิดชอบครับ

              เดือน : สิทธิ์รักษาที่ รพ. ทั้งหมด ทางบริษัทได้รับผิดชอบไปแล้วค่ะ

- เขาส่งหนังสือมาว่าจากการตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอล์ เขาตีเลยว่าตอนคุณชน มีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ที่ 80.7 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งคุณยืนยันว่าไม่ได้ดื่มเหล้า ประกันเอาไปตีย้อนกลับมา 5 ชม. แล้วเอาเรื่องทางนิติเวช รพ.ตร. ที่บอกว่าจะลดลงไป 15 มิลลิกรัมทุก 1 ชม. ประกันบอกไม่รับผิดชอบแล้ว ง่าย ๆ อย่างนี้เลย ?

              กานต์ :  ครับ

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

- แล้วทนายทำไง ?

              ทนาย :  พอได้รับเรื่องจากตัวลูกความ ก็มีการยื่นร้องเรียนต่อสำนักงาน คภป. เขตบางนา เขาก็มีการนำส่งหนังสือของทางคุณหมอที่ยืนยันว่าค่าปริมาณแอลกอฮอล์ระดับนี้ไม่สามารถวัดค่าได้ ไม่สามารถมาคำนวณย้อนหลังได้ ให้กับทางประกันทราบ ประกันก็ปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเหมือนเดิม ซึ่งทาง คภป. ต้องยุติเรื่อง โดยอ้างว่าประกันปฏิเสธตามข้อยกเว้น ว่ามีการคำนวณนับแอลกอฮอล์ย้อนหลังได้ ก็เลยไม่จ่ายเหมือนเดิมครับ

- สิ่งที่คุณเจอ คือไม่มีตังค์ซ่อมรถเท่าไหร่ ?


              กานต์ : 3 แสนครับ

- คุณแอดมิต ตอนนั้นทำยังไง ?

              กานต์ : ใช้สิทธิ์ประกันกับ พ.ร.บ. ครับ เขาปฏิเสธมาต้องไปรักษาเองครับ พาลูกไปผ่าตัด 30 บาท เอาเหล็กออกครับ

              เดือน : ตอนเกิดเหตุน้องอายุ 8 ขวบค่ะ ผ่านมาปีกว่าค่ะ

- ลูกสาวขาหัก ต้องหาเงินไปจ่ายรักษาลูก ?

               กานต์ : ใช้เงิน 30 บาท ของเด็กครับ ผมต้องแบกลูกสองเดือนเข้าห้องน้ำ เพราะเขาเดินไม่ได้ (ร้องไห้)

- จ่ายประกันเท่าไหร่ ?

              เดือน : ประกันชั้น 1 หมื่นกว่าค่ะ รถคันนี้ประมาณ 2 ปีกว่า

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

- ผ่อนมั้ย ?

              กานต์ : ผ่อนทุกเดือน เดือนละ 1.3 หมื่นครับ ตอนนี้ไม่มีรถใช้ครับ ก่อนหน้านั้นเป็นประกันอื่น ปีนี้เพิ่งทำของทิพยฯ ครับ

- ไปรู้จักทิพยฯ ได้ไง ?

               กานต์ : เขามีโบรกเกอร์มาขายให้ เขาคุยสวยหรูว่าเบี้ยประกันเท่านี้ ๆ บอกตัวเลข ว่าดูแลยังไงบ้าง

- หนังสือฉบับนี้ มีความสำคัญยังไง ?

              นพ.แท้จริง : แพทยสภามีหนังสือใหม่บอกว่าการที่เอาปริมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์มาคำนวณกลับ ใช้ไม่ได้แล้ว เมื่อก่อนแพทยสภาเคยบอกว่าอันนี้ใช้ได้ แต่ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปที่ออกหนังสือไม่ให้ใช้ เพราะว่าการคำนวณกลับอยู่ที่บุคคล ไม่ได้อยู่ที่จำนวนตรงนี้ อันนี้เป็นแค่ค่าเฉลี่ย

              นพ.ภาณุวัฒน์ : ทางหลักการแพทย์ แอลกอฮอล์ เลข 15-20 มีอ้างอิงอยู่ในตำราเยอะมาก ซึ่งเขามักใช้ค่านี้ในการคำนวณ แต่แพทย์สภาออกมาเพราะว่าจะใช้อย่างนั้นอย่างเดียวไม่ได้ เช่นคนกินเหล้าจัด ๆ บางทีลดลง 35 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อ ชม. ก็ได้ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัย คุณกินตอนนั้นมีกับแกล้มด้วยหรือเปล่า ท้องว่างหรือเปล่า อ้วนหรือเปล่า ฉะนั้นมันไม่สามารถเอาค่าตัวนี้มาตัดสินคนนึงได้ เขาเลยประกาศยกเลิกว่าต้องมีปัจจัยอย่างอื่นช่วยคำนวณด้วย อย่าใช้ตัวเลขเปล่า ๆ ในการคิดครับ

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

- แล้ว 2 กว่า ๆ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ที่อาจารย์ตรวจสอบครั้งแรกที่พยาบาลไปเจาะมาแล้วฝั่งนี้ยื่นให้อาจารย์ดู อาจารย์มองยังไง?

              นพ.ภาณุวัฒน์ : สองคนนี้หลังออกจาก รพ. ก็เข้ามาหาผม ผมในฐานะหมอนิติเวชประจำ รพ. พอเห็นว่าบริษัทประกันปฏิเสธการจ่ายและขอเงินคืนทั้งหมด ผมก็มาดูค่าแอลกอฮอล์ ผมว่าเป็นการใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ไม่ถูกต้อง ในการแปรผล ก็เลยทำจดหมายชี้แจงและช่วยเขามาตลอด แต่ผมไม่เคยบอกนะครับว่าคนขับไม่ได้เมา หรือเมา หรือกินอะไร แต่ว่าค่าที่ขึ้นมา 2.92 ทางนิติเวช สถาบันฝึกอบรมหลาย ๆ ที่ ผมอยู่จุฬาฯ ศิริราช รามาฯ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จริง ๆ เราเคยพูดเรื่องนี้กันอยู่เสมอ ค่าส่วนใหญ่ที่เขาแปรผลแล็ปในแอลกอฮอล์ มีเรื่องขีดจำกัดในการบอกสารในเชิงปริมาณของเครื่องนั้น ๆ ได้ แอลกอฮอล์ก็เป็นตัวนึง ปกติอยู่ที่ประมาณ 5-10 ส่วนใหญ่เป็น 10 อย่าง รพ.จุฬาฯ ค่าเอทานอล หรือแอลกอฮอล์ในเลือดเขาจะบอกว่าน้อยกว่า 10 เขาจะไม่บอกว่า 2.9 หรือบอกว่าอะไร ถ้าน้อยกว่า 10 ส่วนใหญ่จะแปรผลไม่ได้ แปลว่าเขาอาจจะเมาก็ได้นะครับ แล้วแอลกอฮอล์มันลดลงมา หรือเขาอาจไม่ได้กินอะไรเลยก็ได้ มันเกิดจากความค่าคลาดเคลื่อนของเครื่องมือในการวัด เราต้องเข้าใจว่าข้อจำกัดของเครื่องมือทางการแพทย์ ไม่ใช่ศูนย์ ถึงร้อยถึงพันถึงหมื่น ที่จะบอกได้ทั้งหมด พอน้อยจัด ๆ ก็เริ่มลำบากในการตีความ ผมถึงได้บอกว่ามันมีความไม่ถูกต้องในเรื่องการนำผลไปใช้

- การเอา 2.9 กว่า ๆ ไปแปรผลผิด ?

              นพ.ภาณุวัฒน์ : ตัวเลขที่เกิดจากกราฟ มันเชื่อไม่ได้ เขาเลยบอกว่าน้อยกว่า 10 ถ้าใช้ 15-20 ในการคำนวณกลับ บอกว่าน้อยกว่า 10 สี่ ชม. คูณยังไงก็เกิน 50 เพราะคุณใช้ 15 เป็นตัวตั้ง ถ้าบอกว่าน้อยกว่า 10 มันเอาไปใช้อะไรไม่ได้

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

- เรื่องนี้ทนายที่ดูแลเรื่องนี้ให้ นำเรื่องนี้ขึ้นศาล ในศาลชั้นต้นตัดสินว่า ?

              ทนาย : ตัดสินให้จำเลยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับตัวโจทก์ แต่ถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่จ่าย เขาอ้างว่าเขาจะอุทธรณ์ เขาไม่เชื่อสิ่งที่แพทย์ได้กล่าวมาเมื่อกี้นี้ แต่ตัวเขาก็ไม่มีหลักฐานพิสูจน์นะครับ

- คนที่ฉิบคือทางนี้ ?

              ทนาย :  ถูกต้องครับ

              นพ.ภาณุวัฒน์ : ผมก็เข้าใจนะครับ ถ้าเลข 2 เป็นตัวกำกับ แล้วคุณไปหาตำรามาคูณกลับ ยังไงก็ทำได้ แต่ถ้าคุณเข้าใจเรื่องหลักการ แอลกอฮอล์จากการตรวจของเครื่องว่าถ้าน้อยกว่าระดับแบบนี้ ชาวบ้านทั่วโลกไม่ใช้กันหรอกในการคำนวณ คุณก็จะเข้าใจและคุณก็จะแปรผลถูกครับ

- คุณหมอเป็นพยานในคดีด้วย ?

              นพ.ภาณุวัฒน์ : ผมไปขึ้นศาลมาแล้ว จะเป็นครอบครัวเดียวกันแล้วครับ โทร. มาตลอดครับ

- แต่เขาไม่เชื่อหมอนะ ?

              นพ.ภาณุวัฒน์ : ศาลเชื่อ แต่บริษัทประกันขออุทธรณ์

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

- อาจารย์มองเรื่องนี้ยังไง ?

              นพ.แท้จริง : นี่คือช่องว่างกฎหมาย ถามคุณหมอสิ เขาออกมาแบบนี้เราไม่สามารถบอกได้เลยว่าคนนี้เมาหรือไม่เมา บอกไม่ได้นะ ทางที่ดีที่สุด เมื่อเกิดอุบัติเหตุรีบบอก ตร. เลยขอเช็กแอลกอฮอล์ก่อนเลย อย่างคนนี้ถ้าวันนั้นขอเช็กแอลกอฮอล์ ขอเป่ารับรองไม่มี เขาสาหัสแต่เขายังเป่าได้ ถึงเข้า รพ. ก็เป่าได้ จริง ๆ ตร. ตามหลักการ ถ้าเป่าได้ต้องให้เป่าก่อน ถ้าเป่าไม่ได้ สาหัส เข้า รพ. ถึงบอกให้หมอเจาะเลือด กฎหมายตรงนี้ยังมีช่องว่าง เรากำลังผลักดันกฎหมายว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ต้องตรวจแอลกอฮอล์ทันที ตอนนี้จะตรวจหรือไม่ตรวจก็ได้ มาตรวจทีหลังก็ได้ เป็นช่องว่าง

- กรณีแบบนี้จะทำยังไงกันต่อไป ปริมาณ 2.9 กว่า ๆ เขาเอาค่าตรงนี้ไปตรวจย้อนหลัง ?

              นพ.แท้จริง : ผมเคยบอกแล้วว่าการย้อนหลังตรงนี้มันใช้ไม่ได้กับกรณีคนคนนี้นะ เพราะเป็นเพียงค่าเฉลี่ย สมมติถ้าค่าเฉลี่ยชายไทยสูง 167 คุณหนุ่มสูงเท่าไหร่ มันก็ไม่ได้ แต่เอาทั้งหมดมาเฉลี่ย ถ้าคนนี้อยากรู้ว่าลดเท่าไหร่ต้องเอาไปพิสูจน์เอง หรือรีบตรวจแอลกอฮอล์ตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุเลย อย่ารอช้า เพราะถ้ารอช้า กฎหมายยังมีปัญหาอย่างนี้ เป็นผลเสียกับผู้เสียหาย

              นพ.ภาณุวัฒน์ : วันนี้ผมบอกไม่ได้หรอกจะเป็น 15 17 18 หรืออะไรก็ตาม ถ้าอยากรู้เอาเขามาดื่มเหล้าแล้ววัดทุก ชม. คราวนี้เราจะรู้ว่ามันลดกี่เปอร์เซ็นต์ ก็จะเป็นค่าของคนคนนี้ การแก้ไข เนื่องจากบริษัทประกันเอาค่าแล็ปที่เป็นตัวเลขเอาไปใช้ ปกติถ้าเป็นเคสทั่ว ๆ ไป ตร. มาขอผม เขาไม่ได้มาขอผลแล็ป ผมจะออกรายงานรีพอร์ตอีกตัว อย่างบางที่บอกเลยน้อยกว่า 10 บอกไปเลยว่าไม่พบ มันจะได้จบ แต่บางคนน้อยกว่า 10 ก็มีค่า บอกไม่ได้หรอกว่ามันมีหรือไม่มี

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

- คุณหมอพยายามบอกว่าเขาอาจไม่ได้ดื่มก็ได้ อาจเออเร่อร์ก็ได้ ?

              นพ.ภาณุวัฒน์ : ถ้ารายนี้บริษัทประกันมาขอผ่านหมอก็จบเลยครับ เพราะหมอจะเขียนไปเลยว่ารายนี้ตรวจไม่พบแอลกอฮอล์ในเลือด จบเลย ค่าเดียวกันเลย แต่แปรผลคนละแบบ เพราะที่คุณเอาไปให้ประกันเป็นผลจากแล็ปเอาไปให้เขาเลย แต่ถ้าเป็นผลจากการวินิจฉัยจากแพทย์ก็จะเป็นอีกแบบ

- ประกันได้ผลจากแล็ปไป โดยไม่ผ่านคุณหมอ พอผลแล็ปอยู่ในมือประกัน ประกันก็ดูว่า 2. กว่าก็มีอยู่นี่กว่า ก็ไปไล่เช็ก ซึ่งเครื่องอาจเออเร่อร์ก็ได้ แต่มุมกลับกัน ถ้าผลแล็ปนี้ไม่ได้ส่งให้ ตร. หรือประกัน ส่งให้หมอก่อน หมอจะตีไปเลยว่าไม่พบแอลกอฮอล์ในเลือด เพราะมันตีไม่ได้ 2. กว่าเปอร์เซ็นต์นี้ แล้วขึ้นศาลแล้ว ศาลเชื่อคุณหมอแบบนี้ด้วย ศาลให้ชนะชั้นต้น แต่ประกันไม่เชื่อหมอ เป็นหมอจริง ๆ ใช่มั้ย ?

              นพ.ภาณุวัฒน์ : ครับ (หัวเราะ)

- คุณกานต์ต่อสู้มาตลอด ชีวิตทุกวันนี้ลำบากมากจริง ๆ แกก็ร้องไห้ ?

              กานต์ :  (ร้องไห้) เจ็บใจครับ 2 ปี ไม่เคย โทร. หาผมเลย แต่พอจะมาออกรายการพี่หนุ่ม โทร. มาบอกว่าจะรับผิดชอบ

- โทร. มาเมื่อไหร่ ?

                กานต์ : เมื่อวานกับเมื่อเช้าครับ ติดต่อมาจะรับผิดชอบ แล้ว 2 ปีนั้นหายไปไหน ปล่อยให้ผมทุกข์ทรมาน

- พี่ให้ลูกมานั่งอยู่ข้างล่าง ?

              กานต์ :  ผมมา 3 คน พ่อแม่ลูกครับ ผมไปทำเนียบมาก่อน ไปชูป้ายที่ทำเนียบแต่เขาไม่ให้ผมชู ผมไปสะพานอนุเชษฐ์ครับ

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

- ไปกับลูกสาวแล้วเขาไล่กลับ เลยมาที่ช่อง 3 ?

              กานต์ :  ใช่ครับ ผมไม่มีหนทางอะไรแล้ว อยากให้ผู้มีอำนาจช่วยผมหน่อยครับ ผมแค่ประชาชนตัวเล็ก ๆ ไม่สามารถสู้เขาได้ครับ (ร้องไห้)

- ระหว่างพักเบรกไป มีอาจารย์หมอคิว สราวุธ ตรวจศพคุณแตงโม คุณหมอจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม แกส่งข้อความมาหาผมระหว่างพักเบรก 13.15 น. แกบอกว่าแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 10 ไม่เอามาคำนวณครับ การคำนวณย้อนกลับกรณีแบบนี้ไม่ถูกต้องครับ ยืนยันครับ เขียนมาแบบนี้เลยนะ คปภ. ยังไงกันดี ?

              ณัฐวิทย์ : ประเด็นแรก ตัวเงื่อนไขกรมธรรม์ กรณีเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ในเงื่อนไขเขาใช้คำว่าปริมาณแอลกอฮอล์ ณ ขณะเกิดเหตุ พอใช้คำว่า ณ ขณะเกิดเหตุปุ๊บ ข้อเท็จจริงหลายอย่าง อาจตรวจหลังจากนั้น อาจห่างเป็นนาที เป็น ชม. หลายชม. ฉะนั้นตัวเงื่อนไขกรมธรรม์ต้องรับผิดชอบหรือไม่ มันเลยจำเป็นต้องมีกรอบหรือหลักวิชาการมาคำนวณหรือดูว่าปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ ณ ขณะนั้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเงื่อนไขกรมธรรม์กำหนดหรือไม่ เหมือนที่ทางคุณหมอทั้งสองท่านพูดในเบื้องต้น ว่า ณ ขณะเราออกคู่มือตีความกับเงื่อนไขกรมธรรม์ เราก็ใช้หลักวิชาการทางการแพทย์ ของแพทยสภากับสมาคมแพทย์ว่าปริมาณแอลกอฮอล์จะลดลงทุก ๆ 15 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อ ชม. ฉะนั้นเราก็เลยเอาหลักวิชาการเป็นหลัก ต้องใช้คำว่าเป็นกรอบในการเอามาอยู่ในเงื่อนไขกรมธรรม์

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

- เพราะงั้นจะไม่รู้เลยว่าเขาเมาหรือไม่เมาเพราะเหตุการณ์มันผ่านไป ก็ต้องเอากรอบที่เขาเคยตีไว้ให้มาอยู่ตรงนี้ ?

              ณัฐวิทย์ :  ยกตัวอย่างเคสร้องเรียนที่ คปภ. มีบริษัทนึงปฏิเสธ เขาตรวจแอลกอฮอล์หลังเกิดเหตุ 1 ชม. ตรวจปุ๊บอยู่ที่ 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ บริษัทปฏิเสธ ผมมีความเห็นให้จ่าย เนื่องจากคู่มือตีความกับเงื่อนไขกรมธรรม์ มีการกำหนดว่าตรวจปุ๊บย้อนกลับไป ณ ขณะเกิดเหตุ ลดลง 15 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ในกรณีนี้ถือว่ายังไม่เกินที่กฎหมาย เงื่อนไขกรมธรรม์กำหนด อันนั้นบริษัทจ่ายครับ

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม



- อยู่ในสายกับ "คุณโกสนธ์ พิศภา" ผู้อำนวยการฝ่ายสินไหมรถยนต์ บมจ.ทิพยประกันภัย เรื่องนี้ทิพยฯ มีความคิดเห็นยังไง ขึ้นศาลชั้นต้นไปแล้ว ทิพยฯ อุทธรณ์และบอกว่าไม่เชื่อในสิ่งที่คุณหมอพูด และจะไม่จ่ายทางนี้เพราะคิดว่าเขาเมา ?

              โกสนธ์ : ต้องเรียนก่อนว่าในส่วนทิพยประกันภัยเอง เรายึดถือหลักเกณฑ์ คปภ. เราปฏิบัติตามคู่มือตีความตามเงื่อนไขกรมธรรม์ แต่มีข้อเท็จจริงที่คุณหมอทั้งสองท่านได้พูดออกมาเรื่องการเป่าแอลกอฮอล์ เรื่องระยะเวลาถดถอย มันจะมีช่องว่างของกฎหมายตัวนี้อยู่ มุมทิพยประกันภัยเอง เคสนี้เรามองแล้วผู้เสียหายเหมือนเขาได้รับความเสียหาย มุมทิพยประกันภัยเอง เรามองว่าเราอยากหาทางออกยังไงในการช่วยเหลือกับผู้เสียหาย เมื่อกี้ผู้เสียหายบอกว่าอยากให้ผู้มีอำนาจหรือผู้บริหารเข้ามาดูแล เคสนี้เราพร้อมเข้ามาดูแลครับ

- กรณีอุทธรณ์ เป็นไปได้มั้ยที่จะมีการตกลงเจรจาไกล่เกลี่ยแล้วยอมจ่ายในมุมเขาไป ?

              โกสนธ์ : หลังเราเจรจาเสร็จ การอุทธรณ์ในฝั่งทิพยฯ เองเรามองว่าเราต้องเยียวยาช่วยเหลือประชาชน ผมก็จะพิจารณาถอนอุทธรณ์เรื่องนี้ลงไปครับ เป็นการเจรจาเยียวยาเบื้องต้นครับ

              กานต์ :  สองปีกว่าหายไปไหนครับ (ร้องไห้) พอผมออกรายการพี่หนุ่มถึงมาติดต่อผม (ร้องไห้)

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

- เขาน้อยเนื้อต่ำใจว่าที่ผ่านมาอาจอยู่ในขั้นตอนเบื้องต้นไม่ถึงผู้บริหาร เขาน้อยใจว่าสองปีกว่าหายไปไหน ?


              กานต์ :  ผมต้องกู้ยืมเงินเดือนละ 1.3 หมื่น มาจ่ายค่ารถ และต้องส่งรายวันเพื่อให้รถยังอยู่ เพื่อให้ได้รถกลับมาทำงานเหมือนเดิม

              เดือน :  (ร้องไห้)

              กานต์ : เคยเห็นใจเราบ้างมั้ย (ร้องไห้)

              เดือน :  เป็นรถเอาไว้ใช้หากินค้าขายค่ะ

              โกสนธ์ : กรณีเรื่องซ่อมรถ ทิพยประกันภัยจะดำเนินการเรื่องค่าซ่อมรถ ศาลพิพากษามาให้เราจ่าย 3 แสนกว่าบาท เราไม่ติดประเด็น เราจะเร่งดำเนินการ จริง ๆ เรามีเรื่องขั้นตอนรับประกันภัยอยู่แล้ว แต่เคสนี้มี คปภ. เข้ามาดูแล เขาเห็นว่าเคสแบบนี้มีเรื่องข้อกฎหมายบางอย่างเรื่องผลแอลกอฮอล์ เขาเลยโอเค ทิพยประกันภัยจะดูแลยังไง คปภ. ก็อยากให้มีการช่วยเหลือดูแลเยียวยาช่วยประชาชน เราก็เลยติดต่อไปเมื่อวาน เราพร้อมดูแลให้ เมื่อเช้าก็ติดต่ออีก ไม่ใช่มาออกรายการโหนกระแสแล้วจะดูแล ไม่ใช่นะ เราดูแลลูกค้าของเราทุกเคสอยู่แล้ว

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

- นอกเหนือจากตัวซ่อมรถ ยังมีค่าอื่น ๆ ?

              ทนาย : มีค่าเสียหาย ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ตัวน้องด้วย ตัวคุณแม่ของคุณเดือน และค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถด้วย รถผ่านมาปีกว่า ๆ ยังไม่ดำเนินการซ่อมให้ เขาขาดประโยชน์ไประหว่างนั้น ทิพยประกันภัยจะว่ายังไง

              โกสนธ์ : เรื่องค่ารักษาพยาบาลต้องเรียนทุกท่านว่า ทิพยประกันภัยจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปหมดแล้ว

              กานต์ : จ่ายเฉพาะตอนเข้า รพ. ทีแรกครับ แค่นั้นครับ ตอนที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นไม่ได้จ่าย

- รักษาต่อเนื่องเหรอ ?

              กานต์ : พวกผมไม่มีตังค์ไปหาหมอครับ พูดตรง ๆ เลย ก็เลยปล่อยให้หายเอง

              ทนาย : ร่างกายไม่กลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ตัวคุณแม่เองตรงศีรษะยังยุบลงไปอยู่ กะโหลกแตกก็ไม่ได้รักษาต่อเนื่อง ออกจาก รพ. ก็ไม่ได้รักษาตัวต่อเลย ส่วนน้องก็ใช้สิทธิ์ 30 บาท เอาเหล็กที่ขาออก จากนั้นก็ไม่ได้ทำอะไรต่อเลย

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

- ทิพยฯ จะเข้ามาดูแล หรือมีการดูแลส่วนอื่นเพิ่มเติมมั้ย ?

              โกสนธ์ : ยินดีครับ เคสนี้ทิพยประกันภัย ต้องขอโทษกับสิ่งที่ผิดพลาด เราพร้อมดูแลชดใช้ส่วนการเยียวยา หรือค่ารักษาพยาบาลหลังจากนี้ ถ้าครอบครัวไปรักษาพยาบาลก็เอาบิลมาเบิกที่ทิพยประกันภัยได้เลยครับ

- คปภ. มองเรื่องนี้ยังไง ?

              ณัฐวิทย์ : ถ้าเรามองว่าบริษัทเขาไม่ใช้สิทธิ์อุทธรณ์ เราก็เยียวยาทางตัวลูกค้าในทุกสิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไขกรมธรรม์ มันเป็นสิ่งที่ คปภ. ประสงค์ให้เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว

- อาจารย์ล่ะ ?

              นพ.แท้จริง : กว่าจะมาถึงความยุติธรรมเขาลำบากแค่ไหน นี่เป็นช่องว่างของกฎหมาย ว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุควรตรวจแอลกอฮอล์ทันที ถ้าเขาไม่ได้มาหาคุณหนุ่มก็จะทนแบบนี้ไปอีกกี่ปี เราสามารถแก้กฎหมายอะไรบางอย่าง ทำให้สังคมดีขึ้นได้ เราควรบอก ตร. ด้วยซ้ำพอเกิดอุบัติเหตุว่าไม่เมานะ ขอตรวจเลย ไม่ต้องไปตรวจที่ รพ.

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

- อาจารย์ล่ะ ?

              นพ.ภาณุวัฒน์ : จริง ๆ อยากให้เป็นบรรทัดฐานทางสังคมว่าถ้าจะใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ คุณต้องมีความเชี่ยวชาญ หรือไม่ก็ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมา อย่าไปแปรผลกันเอง พอไปขึ้นศาลก็ต้องเสียเวลามานั่งอธิบาย ผมเจอเคสแบบนี้ไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ถ้าไม่มีมาคุยในรายการ ปีหน้าก็มาอีกแล้ว ก็จะวนอยู่อย่างนี้

- ขอให้เป็นบรรทัดฐานสังคมเลย แพทยสภาก็ชี้มาแล้วว่าการนับคำนวณแบบนั้นไม่ถูกต้อง น่าจะต้องเพิ่มข้อกฎหมายเข้าไป ควรมีการตรวจเดี๋ยวนั้นเอง จะเป่า จะเจาะเลือดอะไรก็เดี๋ยวนั้นเลย เพื่อความเป็นธรรมของสังคม ถ้าเขาไม่ได้เมาก็จะได้รอด หรือคนเมาจริง ๆ ตรวจเลยเดี๋ยวนั้นก็จะได้จับเลยว่ามันเมาจริง ๆ ไม่ใช่ทิ้งเอาไว้แล้วมาหาบรรทัดฐานของสังคมว่าจะเอาตรงไหนกันแน่ บางวันคนหนีไป 5 ชม. กลับมาตรวจ แล้วบอกว่าไม่มีหรอก เพราะตรวจแล้ว บางคนไม่ได้เมาแต่ 5 ชม. ไปตรวจแล้วขึ้นมา 2 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็หาว่าเมา อยากบอกอะไร ?

              เดือน : หนูกับครอบครัวขอบคุณพี่หนุ่ม ขอบคุณคุณหมอ ที่เห็นแก่พวกหนู ประชาชนคนธรรมดา (ร้องไห้) ตัวเล็ก ๆ ไม่ได้มีพาวเวอร์อะไร และขอบคุณบริษัทด้วยค่ะ ที่ติดต่อมาจะดูแลชดใช้ให้ครอบครัวหนู

              กานต์ : พวกเราเดือดร้อนกันจริง ๆ ครับ

              ทนาย : ที่อยากฝาก คดีนี้แอลกอฮอล์ไม่เกินกว่าตัวเงื่อนไขกำหนด บริษัทประกันควรซ่อมรถให้เขาก่อน หรือเยียวยาเขาไปก่อน หรือถ้าพิสูจน์ได้ มาฟ้องไล่เบี้ยเอาทีหลังก็ได้

ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ครอบครัวปล่อยโฮ... ประกันชั้น 1 ไม่จ่ายค่าสินไหม อ้างผลย้อนหลัง 5 ชม. สู้มาเกือบ 2 ปี ! โพสต์เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 21:39:24 42,512 อ่าน
TOP
x close