ม.เกษตร เปิดงานวิจัย ทรงซ้อคืออะไร กับคำขวัญ ปากมาสด้า ตาหอยแครง ใส่ทองตีโป่ง มันคืออะไร และทำไมคนทรงซ้อชอบใส่ทอง เขามองตัวเองอย่างไร มาเป็นงานวิจัยเลยทีเดียว
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
ที่ผ่านมา หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า ทรงซ้อ ทรงเอ ซึ่งยุคหลัง ๆ มักจะเห็นเป็นแคปชั่นที่อยู่ตาม TikTok แต่ไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าคืออะไร ซึ่งล่าสุด วันที่ 10 มีนาคม 2566 ฝ่ายกิจการนิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยถึงผลงานวิชาการและวิจัยของนิสิตระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2566 ถึงการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของ "ทรงซ้อ" ในสังคมไทย จากนิสิตชั้นปีที่ 3 สาขามานุษยวิทยา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาอัตลักษณ์ และการประกอบสร้างตัวตนของกลุ่มคนทรงซ้อ, ศึกษามุมมองของกลุ่มคนทรงซ้อที่มีต่อตัวเอง และศึกษามุมมองของคนในสังคมที่มีต่อคนทรงซ้อ งานวิจัยชิ้นนี้ ได้ศึกษาผ่านการเก็บข้อมูล, ลงภาคสนาม รวบรวมเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การศึกษาผ่านกลุ่มออนไลน์
โดยผลการศึกษา พบว่า คนทรงซ้อคือ คือ กลุ่มผู้หญิงที่เน้นการแสดงสถานะของตนผ่านการใส่ทองเป็นหลัก มีรูปแบบและรสนิยมโดยเฉพาะ ที่สามารถเปลี่ยนไปได้ตามบริบทของสังคม รสนิยมของคนทรงซ้อ จะปรากฏผ่านการบริโภค กิจกรรม และรูปแบบการใช้ชีวิต อันสัมพันธ์กับสถานทางเศรษฐกิจและสังคม ตามแนวคิดของ ปิแอร์ บูดิเยอร์ ที่บอกว่า "สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดรสนิยม"
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
ทั้งนี้ ภาพจำของคนทรงซ้อ จะปรากฏขึ้นจากการผลิตซ้ำของสื่อ ก่อให้เกิดแนวความคิดในเชิงลบต่อคนกลุ่มนี้ โดนประทับตราจากสังคม ซึ่งจากการที่ผู้วิจัยได้พูดคุยและอยู่ร่วมกับคนทรงซ้อโดยตรง จะมองว่า รสนิยมของคนทรงซ้อ เป็นเรื่องส่วนบุคคล (ปัจเจกบุคคล)
อย่างไรก็ตาม ได้มีคนเข้ามาบอกว่า ถ้าเรื่องนี้อ่านเอาเนื้อหา ไม่สนระเบียบพอได้ เนื่องจากผลการศึกษาไม่ตอบวัตถุประสงค์ ไม่บอกว่าลักษณะที่เป็นอย่างไร แม้ว่างานวิจัยจะพูดถึงอัตลักษณ์ของคนทรงซ้อ ไม่บอกการประกอบสร้างตัวอย่าง แต่กลับพูดถึงอิทธิพลที่มีต่อคนทรงซ้อ ซึ่งวัตถุประสงค์จริง ๆ น่าจะเป็นการศึกษาอิทธิพลของอัตลักษณ์ทรงซ้อ
นอกจากนี้ ไม่มีการระบุว่าคนทรงซ้อมีมุมมองของตัวเองอย่างไร แต่บอกถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อรสนิยมของคนทรงซ้อ จึงอาจทำให้ผลการศึกษาไม่ชัดเจนและไม่ตอบจุดประสงค์ และต่อมา หนึ่งในผู้วิจัยได้เผยว่า ตนพร้อมรับฟังความคิดเห็นเสมอหากใครมีความคิดเห็นใหม่ ๆ และข้อความในงานวิจัยนี้ไม่ใช่ตัวเต็ม ต้องตัดให้สั้นที่สุดเพื่อที่จะสามารถเอาไปใส่ในรูปได้ และในส่วนของหญิงสาวในรูปนั้น ได้มีการขออนุญาตเรียบร้อยแล้ว