ดราม่าผู้ประกอบการคุยกัน เหตุที่เมืองไทยจ่ายค่าแรงราคาแพงไม่ได้ ไม่อย่างนั้น ทุกอย่างก็ต้องขึ้นราคา ค่าชานมไข่มุกจากแก้วละ 70-80 บาท จะเป็น 300-400 บาท ทัวร์ลงเสียงแตก พูดอะไรไม่ดูค่าครองชีพในปัจจุบัน
เวลาที่จะถึงช่วงเลือกตั้งใหญ่ทีไร หนึ่งในนโยบายที่พรรคการเมืองมักนำมาใช้หาเสียง นั่นคือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งตอนนี้ของไทยอยู่ราวๆ อัตรา 300-400 บาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่จังหวัด และเมื่อพรรคการเมืองนำมาหาเสียง ก็ย่อมเป็นที่สนใจของประชาชน แต่สิ่งที่กำลังเป็นไวรัล 2.1 ล้านครั้งในตอนนี้ เป็นมุมหนึ่งของผู้ประกอบการ จนวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
วันที่ 12 มีนาคม 2566 เจ้าของธุรกิจชานมไข่มุกเจ้าหนึ่ง คุยกันถึงเรื่องดังกล่าว ตั้งปมคำถามว่า "ทำไมประเทศไทยถึงได้เงินเดือนน้อย ?" ซึ่งก็ได้คำตอบว่า มันอยู่ที่ตามแหล่งค่าแรง สมมติเราจ่ายค่าแรงพนักงานขั้นต่ำ 5 หมื่น รับรองธุรกิจเจ๊งเลย แม้กระทั่งลดลงมาเหลือ 3 หมื่นบาทก็เจ๊ง
ทีนี้ คำถามสำคัญคือ ถ้าเราต้องการจ่ายเงินเดือนพนักงานขายของหน้าร้านเดือนละ 3 หมื่น ต้องทำยังไงถึงจะขายได้ คำตอบที่ได้คือ เราต้องขายเครื่องดื่มแก้วละ 300-400 บาท ได้วันละ 1,000 แก้ว แบบนี้เราสามารถจ่ายค่าแรงพนักงาน 5 หมื่นบาทได้แน่ มันขึ้นอยู่กับว่าค่าแรงตลาดมันเท่าไร ประเทศไทย คนจ่ายค่าชานมได้แค่ 60-70 บาท แพงกว่านี้เขาก็ไม่ดื่ม
1. ปลดพนักงานออก
2. ขึ้นราคาสินค้า
สุดท้ายคุณได้เงินเดือนสูงขึ้น แต่ก็ต้องจ่ายค่าสินค้าแพงขึ้น เพราะผู้ประกอบการเขาอยู่ไม่ได้ สิ่งที่ทำถ้าไม่ครบวงจร มันก็เป็นปัญหาอยู่ดี
ภายหลังจากคลิปถูกเผยแพร่ออกมา คนเข้ามาแย้งกันเพียบ เช่น ตอนนี้สินค้าทุกอย่าง ราคาเฟ้อไปมากกว่าค่าแรงแล้ว แต่ฐานเงินเดือนยังเท่าเดิม ยังไงก็ต้องขึ้นค่าแรงเพื่อให้ทันเงินเฟ้อ บางคนก็แซะว่า ดูเหมือนคน ๆ นี้จะมีความรู้ ดูเหมือนจริง ๆ คนมีทัศนคติแบบนี้ ถึงขายชานมแก้วละ 300-400 ได้ จะยอมจ่ายค่าแรงเดือนละ 5 หมื่นหรือ ? สิ่งที่พูดออกมาก็ไม่เห็นใจแรงงานแล้ว แถมมารับบทนางสอนบนกองเงินกองทอง
นอกจากนี้ หากนำเรื่องชานมไข่มุกมาคิด จะพบว่า ชานมไข่มุกไต้หวันแก้วเล็กจะอยู่ที่ราคาประมาณ 95 บาท ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของไต้หวันจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาทต่อเดือน แตกต่างกับไทยที่ชานมไข่มุกแก้วละ 60-70 บาท แต่คนยังกินเงินเดือน 15,000 เรียกได้ว่า ราคาของเท่ากัน แต่ค่าแรงต่างกันลิบ
ทั้งนี้ เจ้าของธุรกิจชานม อธิบายเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ในคลิปจะพูดว่าผู้ประกอบการเดือดร้อน แต่ยังไงก็ต้องขึ้นค่าแรงอยู่ดี ต้องดูแนวทางแต่ละพรรควางแผนกันยังไงให้เป็นจริง เพราะบางพรรคเขาก็หาเสียงเรื่องค่าแรง แต่ทำไม่ได้
ในส่วนคนที่เห็นด้วยก็มี มองว่าปัญหาการขึ้นค่าแรง มันเป็นปัญหาที่คาบเกี่ยวกันหลายส่วน ถ้าไปหักคอผู้ประกอบการขึ้นกันโต้ง ๆ แบบนี้ก็คงไม่ไหวเช่นกัน