เช็กอาการ หากโดน ซีเซียม-137 จะเป็นอย่างไร ไปหาหมอตอนไหน แนะเฝ้าระวัง 5 ปี


           กรมควบคุมโรค เผยอาการหากสัมผัส ซีเซียม-137 พร้อมแนะข้อควรปฏิบัติ ด้าน ดร.สนธิ ชี้หากปนเปื้อนอาจกระทบระยะยาว ต้องเฝ้าระวังอย่างน้อย 5 ปี 

ซีเซียม-137
ภาพจาก ข่าวช่อง 3

           จากกรณีแท่งเหล็กที่บรรจุกัมมันตรังสี ซึ่งหายไปจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งต่อมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแถลงข่าวโดยสรุปว่า ซีเซียม-137 ที่หายไปจากโรงไฟฟ้าอาจถูกส่งไปที่โรงงานหลอมเหล็กที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และถูกหลอมไปแล้ว ทำให้เกิดข้อกังวลในวงกว้างถึงการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีในสภาพแวดล้อมนั้น

           เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 20 มีนาคม 2566 กรมควบคุมโรค ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับ ซีเซียม-137 รวมทั้งเผยอาการที่พบเมื่อสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 รวมทั้ง ข้อควรปฏิบัติหลังการสัมผัส โดยมีข้อมูลดังต่อไปนี้

ซีเซียม-137 คืออะไร


           ซีเซียม-137 เป็นสารกัมมันตรังสี ที่มีลักษณะโลหะอ่อนมาก สีทองเงิน เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง แต่มักจะจับตัวกับคลอไรด์กลายเป็นผงผลึก ปล่อยรังสีเบต้า และแกมมา ใช้ในโรงงาน นอกจากนี้ ยังใช้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์รักษามะเร็ง

อันตรายจากการสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137


           สำหรับอันตรายจากการสัมผัสสารกัมมันตรังสี ขึ้นอยู่กับปริมาณของรังสี ชนิดของรังสีที่ได้รับ

อาการที่พบเมื่อสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137


           - ไข้

           - คลื่นไส้

           - อาเจียน

           - เบื่ออาหาร

           - ถ่ายเหลว

           - ผิวหนังบริเวณที่โดนรังสีจะเกิดแผลไหม้พุพอง

           - ในกรณีสัมผัสปริมาณมาก ส่งผลกระทบต่อระบบเลือด กดไขกระดูก ระบบประสาท ชักเกร็ง และอาจเสียชีวิตได้

ซีเซียม-137
ภาพจาก ข่าวช่อง 3

ข้อควรปฏิบัติหลังการสัมผัส ซีเซียม-137


           - ลดการปนเปื้อน โดยล้างตาให้น้ำไหลผ่านจากหัวตาไปทางหางตาด้วยน้ำสะอาด ล้างมือ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้า ใส่ถุงปิดปากให้สนิทเพื่อตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหรือไม่

           - ไปลงทะเบียนยังหน่วยงานที่กำหนด ให้มีการจัดทำทะเบียนผู้สัมผัสหรืออยู่ในเหตุการณ์เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพและควบคุมการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี

           - ห้ามหยิบจับวัตถุทุกชนิด ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามนำมือสัมผัสบริเวณภายในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่อันตราย

การป้องกันและการปฏิบัติตน


           - หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารกัมมันตรังสีหรือกล่องเหล็กต้องสงสัย

           - ถ้าอยู่ในที่เกิดเหตุให้ไปลงทะเบียนผู้สัมผัสสารกัมมันตรังสียังหน่วยงานที่กำหนด

           - รวบรวมสิ่งของหรือเสื้อผ้าที่คาดว่าอาจมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบก่อนนำไปใช้

           - ควรล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม

           - ติดตามข้อมูลสถานการณ์การเกิดเหตุ และปฏิบัติตามประกาศอย่างเคร่งครัด

           - อย่างไรก็ตาม ให้สังเกตอาการที่ควรพบแพทย์ ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลวมากเกินกว่า 2 ครั้ง มีไข้ หนาวสั่น ชักเกร็ง มีเลือดออกที่ใดที่หนึ่งภายในหนึ่งสัปดาห์หลังโดนรังสี หรือมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137

           ทั้งนี้ หากสงสัยมีอาการดังกล่าว ติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี โทร 037-211626 ต่อ 102 และเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมทั้งแจ้งประวัติสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 

ดร.สนธิ ชี้ ซีเซียม-137 หากปนเปื้อนอาจกระทบระยะยาว ต้องเฝ้าระวังอย่างน้อย 5 ปี  


           ขณะที่ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat หัวข้อความจริงที่ต้องยอมรับเพื่อนำไปสู่การจัดการสำหรับ ซีเซียม-137 ที่ถูกหลอมไปแล้ว ระบุว่า

           1. ข้อมูลกรมโรงงานแท่งซีเซียม-137 ถูกหลอมกับเศษเหล็กแล้วที่โรงงานหลอมเหล็กใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี แล้วได้นำฝุ่นแดง 12.4 ตันในโรงงานไปสู่กระบวน การรีไซเคิล ที่ จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2566

           2. กระบวนการหลอมเหล็กในเตาหลอม จะนำเศษเหล็ก (ซึ่งกรณีนี้มีแท่งซีเซียม-137 มารวมด้วย) มาอัดกันเป็นก้อนแล้วเทเข้าสู่เตาหลอมที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,200 องศาฯ ขณะที่เพิ่มความร้อนจะมีฝุ่นเหล็กละเอียดออกมาลอยผ่าน Hood ขึ้นไปสู่ถุงกรองฝุ่นหรือ Baghouse filter ซึ่งจะทำการกรองฝุ่นละเอียดไว้ได้ถึง 90% อีก 10% จะลอยออกไปที่ปลายปล่องสู่บรรยากาศขณะที่ก้นเตาหลอมจะมีตะกรันเหล็กหรือ Slag ที่เผาไหม้ไม่หมดกองอยู่ด้วย

           3. ดังนั้นที่ปลายปล่องมีฝุ่นละเอียดกับซีเซียม-137 ระบายออกไปสู่บรรยากาศรอบ ๆ โรงงานหลอมเหล็กซึ่งอาจไปไกลมากกว่า 5 กิโลเมตร ส่วนฝุ่นแดงกับซีเซียม-137 ในถุงกรองหรือ Baghouse filter จะถูกบรรจุในถุงขนาดใหญ่นำไปรีไซเคิลยังโรงงานใน จ.ระยอง เพื่อสกัดธาตุสังกะสีออกมา ซึ่งการสกัดต้องใช้การถลุงที่ใช้ความร้อนสูงจึงอาจมีซีเซียม-137 ปนเปื้อนออกมาที่ปลายปล่องสู่บรรยากาศรอบ ๆ โรงงานนั้นใน จ.ระยองด้วย ส่วนตะกรันเหล็กหรือ Slag ทราบว่าโรงงานหลอมเอาไปฝังกลบไว้รอบ ๆ โรงงาน ดังนั้นจึงอาจมีสารซีเซียม-137 ปนเปื้อนในดิน น้ำผิวดินและน้ำใต้ดินได้

           4. สิ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตหากสารซีเซียม-137 ปะปนในสิ่งแวดล้อมทั้งอากาศ ดิน น้ำผิวดิน น้ำใต้ ดินและอาจเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศวิทยา เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ทั้ง การหายใจและทางอาหาร เช่น ซีเซียม-137 ลงในน้ำเข้าสู่ตัวปลาและมนุษย์จับปลามากิน เป็นต้น หรือหายใจเอาฝุ่นของซีเซียม-137 เข้าไปจะสะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งสารซีเซียม-137 จะปล่อยรังสีแกมมาและเบตาออกมา การสลายตัวครึ่งชีวิตใช้เวลาถึง 30 ปี รังสีที่แผ่ออกมาจากฝุ่นซีเซียม-137 จะทำให้เซลล์ในร่างกายเกิด กลายพันธุ์ หรือกลายเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ บางส่วนของรังสีจะไปกระตุ้นโครโมโซมในยีนส์ให้เปลี่ยนรูป สุดท้ายประมาณ 5-10 ปี ก็อาจกลายเป็นมะเร็งได้

           5. ผลกระทบต่อสุขภาพในปัจจุบันอาจไม่ค่อยเห็น แต่ระยะยาวหากรับสารนี้เข้าไปไม่ว่าทางการหายใจหรือการกินมีผลกระทบแน่ ดังนั้นภาครัฐต้องเฝ้าระวังสุขภาพของพนักงานและประชาชนรวมทั้งในสิ่งแวดล้อมและในอาหารสัตว์น้ำ พืช ผัก ผลไม้ที่ปลูกใกล้เคียงโรงงานอย่างน้อย 1-2 ปี ให้แน่ใจว่าไม่มีสารซีเซียม-137 ตกค้างในห่วงโซ่อาหารแล้วจึงค่อยวางมือ ขณะเดียวกันต้องบอกความจริงเกี่ยวกับผลของการตรวจวัดรังสีและผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบ รวมทั้งเฝ้าระวังสุขภาวะประชาชนกลุ่มเสี่ยงในรัศมี 5 กิโลเมตรอย่างน้อย 5 ปีด้วย



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช็กอาการ หากโดน ซีเซียม-137 จะเป็นอย่างไร ไปหาหมอตอนไหน แนะเฝ้าระวัง 5 ปี อัปเดตล่าสุด 21 มีนาคม 2566 เวลา 11:05:13 11,093 อ่าน
TOP
x close