นักวิชาการร่วมไขความจริง ซีเซียม-137 คืออะไร อันตรายไหม-หายแล้ววิกฤตแค่ไหน ?

 

          นักวิชาการร่วมไขความจริง ใน โหนกระแส ซีเซียม-137 คืออะไร หายแล้ววิกฤตยังไง ที่เจอแล้วใช่ที่หายไหม แล้วมีอันตรายหรือไม่ ต้องระวังยังไงบ้าง

 ซีเซียม-137

           จากกรณีที่มีการประกาศตามหาท่อขนาดใหญ่ที่มี "ซีเซียม-137" สารกัมมันตรังสีที่หวั่นว่าอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหากไม่ได้อยู่ในท่อ หรือถูกแกะออก ซึ่งหายไปจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในพื้นที่ปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2566 ต่อมาพบว่าได้มีการตรวจพบ วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียมแล้ว ในโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลใจว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่

           ล่าสุดรายการโหนกระแส ออกอากาศวันที่ 21 มีนาคม 2566 ดำเนินรายการโดย หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ได้เปิดใจสัมภาษณ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อ.ธารา บัวคำศรี ผอ.กรีนพีซ ประเทศไทย , ดร.รุ่งธรรม ทาคำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เพื่ออธิบายความเข้าใจให้ตรงกันในเรื่องนี้

 ซีเซียม-137

- ซีเซียม มีไว้ทำอะไร ชาวบ้านบางคนไม่รู้จัก ?

           ดร.เจษฎา : ธาตุต่าง ๆ ในโลกนี้ มีความสามารถที่แตกต่างกัน เราอาจคุ้นเคยกับยูเรเนียม พลูโตเนียม เราฟังแล้วตกใจพวกสารกัมมันตรังสี ที่สร้างระเบิดได้ แต่จริง ๆ มีธาตุหลายตัว เรเดียม โคบอลต์ มีหลายตัวที่เราไปเปลี่ยนโครงสร้างมันเล็กน้อย แล้วมันก็มีประจุ เปลี่ยนไปนิดนึง เปลี่ยนไปแล้วมันก็เริ่มปลดปล่อยรังสีได้ เจ้าซีเซียมก็เป็นธาตุธรรมดาตัวนึงที่เราเจอในสิ่งแวดล้อม

- เขาเอาไว้ทำอะไร ?

           ดร.เจษฎา : ปกติรังสีแกมมา เบต้า อาจได้ยินว่าเอาไปฆ่าเชื้อโรค ทำให้อาหารปลอดโรค ใช้เครื่องเอกซเรย์ก็ได้ แต่ตัวนี้ที่นิยมเอาไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม  มันสามารถปล่อยรังสีออกมาและวัดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ เช่น อันนี้เป็นกล่อง แล้วไปอยู่ที่ปล่องไซโลโรงงานไฟฟ้า ก็วัดปริมาณขี้เถ้าที่เกิดขึ้นของโรงไฟฟ้ามันมากน้อยแค่ไหน ก็ปล่อยรังสีออกมา เป็นตัวรังสีที่ไม่แรงนัก ปัญหาใหญ่คือมันหายไปนี่แหละ

- ง่าย ๆ ซีเซียมหายไปจากโรงงานไฟฟ้าแห่งนึง เขาติดไว้ทำอะไร ?

           ดร.รุ่งธรรม : ตัวซีเซียมจะติดอยู่ในอุปกรณ์วัดระดับ ประโยชน์คือเอามาวัดระดับในโรงงานไฟฟ้า ใช้วัดขี้เถ้าที่อยู่ในไซโล ขี้ถ้าเกิดจากการเผาชีวมวล เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ก็จะเกิดขี้เถ้ามา เขาเอาขี้เถ้าไปอยู่ในไซโล ตัววัดระดับก็ใช้ประโยชน์จากรังสีซีเซียม-137 วัดของที่อยู่ในไซโล คือวัดขี้เถ้านั่นเอง

 ซีเซียม-137

- มันเลยทำมาในรูปแบบเป็นแท่งเหล็ก ชาวบ้านบางคนบอกว่าแท่งเหล็กคือซีเซียม ?

           ดร.รุ่งธรรม : จริง ๆ ไม่ใช่ มันคืออุปกรณ์วัดระดับที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซีเซียมจริง ๆ อยู่ในท่อตัวนี้

- ซีเซียมอยู่ข้างในท่อ จะมาในรูปแบบผงหรืออาจเป็นโลหะที่เป็นก้อนก็ได้ มันไปอยู่ในนี้ได้ยังไง เป็นกรรมวิธีของเขา อัดไว้ในท่อนี้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ด้านนอกก็เป็นเหล็ก ต่อจากเหล็กเข้าไปก็เป็นตะกั่วเพื่อซับรังสีที่แผ่ออกมา จากนั้นก็เป็นเหล็กอีกชั้นข้างใน ต่อจากนั้นก็เป็นตะกั่วอีก เพื่อซับตะกั่วครั้งที่สอง ตัวสำคัญคือแคปซูนซีเซียม คำถามคือเจ้าก้อนนี้ทั้งก้อนหายไป ไม่รู้หายไปได้ยังไง คนไปแจ้งความวันที่ 10 มีนาคม แล้วบอกว่าเขารู้ว่ามันหาย 23 กุมภาพันธ์ แสดงว่าอาจหายไปก่อนหน้านั้นก็ได้ ถ้าก้อนนี้ทั้งก้อนไปอยู่กับคนโดยไม่มีการผ่า มันจะเป็นยังไง ?

           อ.ธารา : เวลาดูรูป เราจะเห็นว่ามีการป้องกันหลายชั้น ซีเซียมข้างในเป็นอันตราย เป็นวัตถุกัมมันตรังสี เกิดจากขบวนการผลิตวัสดุนิวเคลียร์ ที่เราเอามาใช้กันในภาคอุตสาหกรรม ทางการแพทย์ ถ้าดูทั้งหมดทั้งแท่ง ตามหลักการทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ เขาบอกว่ามันก็เป็นวัสดุกัมมันตรังสี อันตราย ประเภทที่ 3 ซึ่งถือว่าอันตราย อยู่ในกระบอกมันไม่เป็นอะไร กรมควบคุมโรคบอกว่าเป็นแหล่งกำเนิดที่อันตรายด้วย ถ้าเราไปสัมผัสมัน เราไปแกะไปแงะมัน จนสีแดงหลุดรอดออกมาข้างนอก ซีเซียม-137 พูดง่าย ๆ เป็นพรรคพวกซีเซียมใหม่ในตารางธาตุ แล้วมันไม่เสถียร มันวิ่งไปวิ่งมา แล้วแผ่ออกมา ซีเซียม-137 บางทีไม่ได้เกิดโดยตัวของมันเอง แต่เกิดจากการแตกตัวของยูเรเนียมที่อยู่ในหัวรบนิวเคลียร์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือปฏิกิริยานิวเคลียร์ต่าง ๆ ซีเซียม-137 เป็นผลพลอยได้ จะเห็นว่ากรณีเหตุโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะในญี่ปุ่น หรือย้อนหลังไปเชอร์โนบิล ตัวซีเซียม-137 เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดการปนเปื้อน

- ตอนนี้ก้อนนี้หายไปแล้ว เขาก็ไปตามหากันหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ จนไปแกะรอยเจอโรงหลอมแห่งนึง เขาบอกว่าใช่ มีคนเอามาขาย หลอมไปแล้ว เอาเข้าเตาแล้ว แล้วทำยังไง ?

           ดร.รุ่งธรรม : ไม่สามารถยืนยันได้ว่าใช่ที่หายไปหรือเปล่า แต่ที่เขาไปตรวจที่โรงงาน เอาเครื่องตรวจวัดรังสีไปวัด มันขึ้นว่าซีเซียม-137 ใช่ แต่มันคือตัวที่หายไปหรือเปล่า อันนั้นต้องพิสูจน์ต่อ

- สิ่งที่น่ากลัว คือตอนนี้เรากำลังอนุมานว่าก้อนซีเซียมก้อนนี้ ที่หายไป มันถูกหลอมไปจริงมั้ย เพราะยังยืนยันไม่ได้ แต่ถาม่ว่ามีการเอาเครื่องไปตรวจสอบบริเวณนั้น เจอฝุ่นแดง เพราะซีเซียมหลอมไปปุ๊บจะกลายเป็นฝุ่นแดง ?

           ดร.เจษฎา : ถึงจริงก็น่ากลัว ไม่จริงก็น่ากลัวอีก เพราะแสดงว่ามีก้อนที่สองที่สามเข้าไปเหรอ หลักฐานตอนนี้มีแค่เครื่องวัดอย่างที่อาจารย์บอก มันระบุได้ว่าเป็นตัวไหน มันบอกว่าเราเจอซีเซียม-137 นะ แต่ไม่รู้ว่ามาจากแท่งไหน คำถามที่มีในใจนักวิทยาศาสตร์ทั่วไปคือมันหลุดไปอยู่ตรงนั้นได้ไง คนไทยไม่รู้จักเครื่องหมายโลโก้ใบพัด 3 ใบนี้เลยเหรอ ถ้าทุกคนรู้จักมันน่ากลัวไม่แพ้หัวกะโหลกไขว้นะ ตอนมันตกลงมาจากปล่องอยู่บนพื้น เจ้าหน้าที่คนไหนเห็นก็ต้องสะดุ้งแล้วว่ารังสีตกลงมา คนที่ขโมยเอาไปขายก็ต้องสะดุ้ง เพราะรู้ว่าเป็นรังสี คนรับซื้อถ้าเห็นโลโก้อยู่ก็ต้องสะดุ้ง ทำไมไม่มีใครสะดุ้งเลยสักคน แสดงว่าเราไม่รู้จักเครื่องหมายนี้เลยเหรอ แล้วที่หลอมไปแล้วตรวจเจอมันคือตัวนี้หรือเปล่า ถ้าเกิดไม่ใช่ยิ่งหนักไปอีก แสดงว่ามีตัวที่สองที่สามหรือเปล่า

 ซีเซียม-137

- แล้วจะทำยังไง ?

           ดร.รุ่งธรรม : เรามีกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตัวซีเซียมที่เราเจอที่โรงหลอมเหล็กใช่ตัวซีเซียม-137 ที่หายไปหรือเปล่า เรามีกระบวนการสามารถตรวจพิสูจน์ได้อยู่

- คิดว่าเป็นก้อนเมื่อกี้มั้ย ?

           ดร.รุ่งธรรม : ผมยังตอบไม่ได้ ต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์

           อ.ธารา :  ถ้าซีเซียมเป็นคน เราหาคนไม่เจอ คนหายไป แต่เราเจออัตถะบุคคล ที่ต้องพิสูจน์ว่าเศษที่เราเจอ ชิ้นส่วนบุคคลคือคนเดียวกับคนที่หายมั้ย ก็คล้าย ๆ กัน ผมว่ามันมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง หน่วยงานกำกับดูแล อย่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจะฟันธง ซึ่งผมเข้าใจนะ เพียงแต่ว่าตอนนี้คนไม่รู้ อย่างที่ อ.เจษฎา บอกว่าถ้าเจอ ก็เป็นข่าวดี แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ยังเป็นกังวลอยู่ อธิบายเป็นความรู้ เดิมสัญลักษณ์นิวเคลียร์เป็นรูปใบพัด 3 ใบ ใช้มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันแต่จริง ๆ แล้วทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศเขาพยายามคิดว่าสัญลักษณ์แบบนี้บางทีมันยากที่คนจะเข้าใจ เพราะความเข้าใจเรื่องรังสีค่อนข้างซับซ้อน เขาเลยจ้างนักวิทยาศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์ รวมทั้งทดสอบเป็นออเดียนรีเสิร์จดูว่าถ้าใช้แบบนี้ล่ะ เป็นรังสีแผ่ออกมา เป็นหัวกะโหลกอันตราย แล้วต้องวิ่งหนี อันนี้คนจะเข้าใจมากกว่า ไอเออีเอบอกว่าใช้ประเทศที่เป็นสมาชิกทั่วโลกใช้ตัวนี้แทนตัวเก่า ซึ่งกระบอกซีเซียมใช้มาก่อน มันไม่ทัน ปัจจุบันไม่นิยมใช้ แต่ให้ลองดูว่าอันไหนเข้าใจง่ายกว่า

- ถ้าให้เข้าใจง่าย เขียนว่าตายไว้เลยดีกว่า ?

           ดร.รุ่งธรรม : สัญลักษณ์สามเหลี่ยม มันจะติดอยู่ที่ตัวแคปซูลข้างใน ถ้าแคปซูลหลุดออกมาจากอุปกรณ์ จะทำให้ประชาชนรู้อย่างนึงคือ ถ้าเห็นสัญลักษณ์นี้ ทำไงครับ วิ่งหนีแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งสัญลักษณ์นี้ไม่มีข้างนอก จะติดอยู่เฉพาะตัวแคปซูลข้างใน

- ข้างนอกไม่มีตราสัญลักษณ์ ?

           ดร.เจษฎา : มีตรงฝาด้านหน้า ถ้าเห็นก็จะรู้สึกว่าไม่น่ากลัวเลย เห็นเป็นสีเงา ๆ ธรรมดา วันที่มีข่าวออกมาก็พูดเหมือนกันว่าใครจะดู

- ถ้าผมเป็นชาวบ้านดู ผมก็จะคิดว่าข้างในมีพัดลม ?

           ดร.เจษฎา : เป็นไปได้ ตอนมีข่าวให้ตามหา มีการบอกว่าเป็นท่อทรงนี้ แต่หนัก 25 กิโล คนก็คิดแค่ว่าตามหาท่อ แต่ไม่มีใครบอกว่าช่วยกันตามหาท่อที่มีสัญลักษณ์นั้นอยู่เห็นเมื่อไหร่อันตรายมาก ถ้าคนเข้าใจอย่างนี้ตั้งแต่แรก ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์นี้

 ซีเซียม-137

- วิดีโอคอลหา ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ นายกสมาคมรังสีเทคนิคนานาชาติ ปธ.วิชาการรังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ตอนนี้อนุมานได้ว่ามันถูกหลอมไปแล้ว หลายคนกังวลใจกันมาก อาจารย์มองยังไง ?

           ดร.นภาพงษ์ : จริง ๆ อันตรายจากรังสีต้องดูก่อนว่าเป็นรังสีชนิดไหน เคสนี้จะปล่อยเบต้ากับแกรมมาออกมา ข้อที่สอง ความแรงของมันเท่าไหร่ เคสนี้ ตัวแท่งซีเซียมที่เราใช้ในวงการอุตสาหกรรม ปกติความแรงจะไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมาก และอยู่ในถ้ำตะกั่วอย่างที่เห็นกัน ฉะนั้นการแผ่รังสีออกมามันก็ไม่ได้เยอะมาก เท่าที่ทาง ปส. ถ้าเกิดเป็นแท่งนี้ เบสออนข้อมูลที่ได้จะปล่อยออกมาที่ระยะ 30 ซม.ระยะแรกที่มันเปิดอยู่ที่ประมาณ 129 มิลลิซีเวิร์ตต่อชม. เท่าที่เห็น ตัวที่เราไปคุยกันว่ามันน่ากลัวเหมือนเชอร์โนบิล ต้องดูว่าความแรงของมันอยู่ที่เท่าไหร่ จากข้อมูลถ้าเป็นแท่งนี้จริง ๆ ความแรงของมันอยู่ที่ประมาณ 41 มิลลิคูรี ฉะนั้นเทียบเท่ากับตัวซีเซียมโดยน้ำหนักเทียบกับเชอร์โนบิล คำนวณแล้วจะได้น้ำหนักซีเซียมอยู่ที่ประมาณ 0.00047 หรือประมาณ 0.0005 กรัม ส่วนที่เชอร์โนบิล ตอนระเบิดมันปล่อยซีเซียมออกมาถึง 27 กิโลกรัม ฉะนั้นในเคสของอุปกรณ์เหล่านี้ ปริมาณรังสีที่สามารถปล่อยออกมาได้ มันน้อยกว่าเชอร์โนบิลอยู่ประมาณ 57 ล้านเท่า ปกติตัวอุปกรณ์ที่เราใช้ในอุตสาหกรรมระดับความแรงจะไม่เยอะ ไม่เหมือนทางการแพทย์ ซึ่งตัวซีเซียม 137 การแพทย์สมัยก่อนโน้นนานหลายสิบปี เรานำมาฝังในมะเร็งมดลูก ปัจจุบันไม่ได้ใช้ตัวนี้แล้ว ผมมองว่าอันตรายถ้ามันจะเกิด ไม่ได้มองว่าถ้าเอาไปหลอมแล้วมีฝุ่นจริงๆ ด้วยระดับนี้ผมถือว่าไม่กังวลว่าจะเป็นอันตรายในวงกว้าง เช่นมีข่าวว่าจะปลิวไปหลายสิบกิโล เป็น 1 พันกิโล มองว่าถึงปลิวออกไปจริงๆ ด้วยระดับปริมาณแอ็กติวิตี้ระดับนี้มันจะถูกเจือจาง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่อันตรายเลย อันตรายกับคนที่อยู่ในระยะใกล้ คือเราต้องไปสัมผัสมัน ทีนี้อันตรายที่จะเกิดคืออะไร ถ้าเห็นได้ชัดลักษณะร่างกาย คือผิวของคนจะมีขีดจำกัดเริ่มผื่นแดงจากรังสีประมาณ 2 พัน มิลลิเกร พอมีการวัดตัวแท่งนี้ ด้านที่ออกมาเยอะที่สุดคือ 129 มิลลิซีเวิร์ตต่อ ชม. แปลว่าคนอยู่ใกล้มันแล้วจะอักเสบบวมแดงจากรังสี ต้องกอดมันไว้ประมาณ 15 ชม. ขึ้น ซึ่งมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปกอดมันนานขนาดนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่ามันปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์นะ คือคนที่เข้าไปสัมผัสต้องตรวจสอบว่าใครสัมผัสมันบ้างและต้องประเมินว่าได้รับปริมาณรังสีไปที่เท่าไหร่ แต่อีกตัวที่เรายังมองไม่เห็นวันนี้ คือความเสี่ยงจากการเกิดมะเร็งจากรังสี อะไรก็ตามที่เป็นปริมาณรังสีนอกเหนือจากปริมาณรังสีตามธรรมชาติ สามารถทำให้เกิดมะเร็งได้ แต่ว่าอัตราในการเกิดมะเร็ง อยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ต่อ 1 พันมิลลิซีเวิร์ต ซึ่งในเคสนี้ มันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่านั้นมาก อยู่เป็น 0.000 เปอร์เซ็นต์

 ซีเซียม-137

 - เอาง่าย ๆ ว่าไม่ต้องกังวลใจ ถ้าถูกหลอมกลายเป็นฝุ่นแดง ด้วยปริมาณเท่านี้ ?

           ดร.นภาพงษ์ : ถูกต้องครับ ถ้าเป็นเคสนี้จริง ๆ มีการวัดปริมาณรังสีเท่านี้จริง ๆ ผมมองว่าอันตรายจะเกิดเฉพาะในวงแคบ คือคนได้สัมผัสมันหรือสูดฝุ่นหลังเอาไปหลอมแล้ว ซึ่งน่ากลัวคือว่าปกติปล่อยรังสีมาสองตัว คือเบต้ากับแกรมมา เบต้าปกติเราไม่ได้ไปยุ่งกับมัน คงไม่เป็นไร แต่ถ้าสูดเข้าไปในร่างกาย มันก็จะทำลายร่างกายเรา ทำร้ายร่างกายเราได้ ส่วนแกรมมาไปค่อนข้างไกล เพราะปริมาณซีเซียมมันเยอะ อยู่ที่ 600 กว่า KV ขณะที่เครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ เราใช้อยู่ที่ประมาณ 100 สูงสุดคือ 120-130 เพราะงั้นถ้าอยู่นอกถ้ำตะกั่ว อันตรายแน่ ๆ ถ้าเราอยู่ใกล้มัน

- ถ้าอนุมานว่ากลายเป็นฝุ่นไป ต่อให้ลอยออกไป ระยะ 5 กิโล 10 กิโล ตกมากับฝน ปลากินน้ำ เราไปกินปลา มันก็ไม่มีผล ?

           ดร.นภาพงษ์ : ด้วยปริมาณรังสีระดับนี้ มันจะถูกเจือจางในธรรมชาติ ปกติเรานั่งอยู่เฉย ๆ เราได้รับปริมาณรังสีธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ว่าด้วยปริมาณระดับนี้ผมไม่กังวลว่ามันจะไปก่อเหตุเหมือนพวกเชอร์โนบิล เพราะว่าสเกลต่างกัน อย่าลืมว่าเคสนี้ไม่ใช่เคสเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิดนะครับ มันเป็นแท่งอุปกรณ์ที่เราใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งปริมาณรังสีจำกัดอยู่ช่วงนึง ไม่งั้นเราเอาไปใช้โดยไม่มีการป้องกันอันตรายสูงสุดมันคนละประเด็นกัน แต่ถามว่ามีอันตรายมั้ย มันอันตรายสำหรับคนที่เข้าไปใกล้มัน ตรงนี้ต้องตรวจสอบว่าเส้นทางคนที่ไปเอาอุปกรณ์นี้ออกมาจากแหล่งที่มันอยู่ ต้องตรวจสอบว่าใครสัมผัสมันบ้างอยู่ด้วยปริมาณที่เท่าไหร่ อยากฝากว่าถ้าได้ชมรายการนี้ ถ้าคุณเข้าไปใกล้มันให้เข้ามาหาคุณหมอ เดี๋ยวเราจะประเมินปริมาณรังสี ดูว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ส่วนเรื่องฝุ่นฟุ้งไปหลายกิโล ผมไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นในเคสนี้ครับ

 ซีเซียม-137

- ฟังแล้วก็ไม่ต่างจากที่สามท่านบอกเหมือนกัน ?

           ดร.เจษฎา : พยายามจะบอกอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะคนกังวลกันเยอะมาก ผมอยู่กรุงเทพฯ ผมอยู่จังหวัดนั้น จังหวัดนี้ ผมโดนมั้ย อยากบอกว่าที่น่าห่วงก็มีเจ้าหน้าที่โรงงาน หรือใครก็ตามที่ไปเอาออกมา ขนย้าย เจ้าหน้าที่ขนย้าย ทำการหลอม ใครเกี่ยวข้อง ครอบครัวเขาด้วย ต้องระวัง ไม่รู้ว่ามีการเปื้อนเสื้อผ้า เข้าร่างกายเขาไปหรือเปล่า ชาวบ้านทั่วไปก็เห็นด้วยกับคุณหมอเลย ไม่ต้องกังวลเลยตอนนี้

           อ.ธารา : อันนึงที่เราต้องตระหนักเอาไว้ ผมคิดว่ามันไม่ใช่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่เราต้องไม่ประเมินมันต่ำเกินไป อย่าลืมว่าซีเซียม-137 ถูกขโมยไปใช้สำหรับทำเดอร์ตี้บอมพ์ ในสงครามยูเครน รัสเซีย ก่อนหน้านี้แท่งซีเซียมที่ถูกขโมย สมมติว่าหาไม่เจอ แต่ผมคิดว่าคงไม่เกิดกับประเทศไทยเพราะเรื่องก่อการร้ายคงไม่ใช่ในภูมิภาคแถวนี้ แต่ว่าถ้าเราหาไม่เจอจริง ๆ แล้วไม่ใช่ที่อยู่ในฝุ่นแดง ความกังวลคือถ้าถูกขโมยข้ามแดนไปทำเดอร์ตี้บอมพ์ เดอร์ตี้บอมพ์จริง ๆ ทำง่ายมาก แค่ทำให้ระเบิดแล้วใส่ซีเซียมเข้าไป รังสีฟุ้งกระจาย คนก็ป่วย

- จะบอกว่าควรต้องดูแลและเก็บรักษาให้ดีกว่านี้ ?

           อ.ธารา : ใช่ครับ ประเด็นคือว่าทำไมมันหายไปจากโรงไฟฟ้าได้ หายไปได้ยังไง แล้วทำไมไม่มีใครบอกได้เลยในประเทศนี้ว่ามันหายไปได้ยังไง ตอนนี้ก็ยังบอกไม่ได้ ถ้าผมเป็นประชาชน ก็จะคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น โรงไฟฟ้าต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติก็ฟ้องไปที่โรงไฟฟ้าแล้วว่าล่าช้าในการแจ้ง เพราะห่างกันเกือบเดือน ผมว่าไม่ใช่แค่เรื่องอันตรายของซีเซียม เป็นความสงสัยในการกำกับดูแล การบังคับใช้กฎหมาย

           ดร.เจษฎา : วันที่รู้ข่าวว่ามีการหายเกิดขึ้น ผมไม่ได้มองว่าเป็นของหายเลยนะ ผมมองว่านี่คือวิกฤตนิวเคลียร์แห่งชาติ วิกฤต นี่คืออุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ลองนึกภาพมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา มีนายกฯ เป็นประธานด้วยซ้ำ ต้องเป็นเรื่องใหญ่ สุดท้ายเราไม่เห็นความคืบหน้า เราเห็นสเกลการจัดการเล็กมาก เห็นถึงความไม่เป็นมืออาชีพที่ชาวบ้านคาดหวังว่าจะได้เห็น ครั้งนี้พอทุเลาเพราะมันไม่ได้ใหญ่มาก แล้วครั้งหน้าล่ะ มันจะใหญ่กว่านี้หรือเปล่า

           อ.ธารา : นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ประเทศไทย เราจะทำยังไง แต่ไม่มีใครตอบได้

 ซีเซียม-137

- วิดีโอคอลหา ดร.กิตติ์กวิน อรามรุณ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินนิวเคลียร์และรังสี วันนี้นักวิชาการหลายท่านก็ยังกังวลใจ เจ้าบิ๊กแบ็กที่มีกัมมันตภาพรังสีที่เจือปนอยู่ของฝุ่นแดง วันนี้มีอยู่ทั้งหมด 24 ตัน ปนอยู่ในตะกอนเหล็กต่าง ๆ นานาที่มีการเผา จะทำยังไงกับ 24 ตัวนี้ ?

          ดร.กิตติ์กวิน : ตัว 24 ตัน มีการปนเปื้อนของซีเซียม137 ในระดับต่ำ เบื้องต้นเราจะเก็บไว้ในโรงพื้นที่จัดเก็บฝุ่นโลหะหรือฝุ่นแดงของโรงงานไว้ก่อน เพื่อเตรียมการจัดการ ซึ่งเมื่อเช้าท่าน รมต. ได้ประชุมและสั่งการเรียบร้อย เดี๋ยวจะมีหน่วยงานรับบริการ มาประชุมร่วมกันเพื่อวางแผน ขนย้าย หรือหาสถานที่จัดเก็บต่อไป เรากำลังดำเนินการ แต่เบื้องต้นอยากเน้นย้ำ ผมเป็นคนแรกที่เข้าไปตรวจสอบ ระยะที่ห่างออกมา 2 เมตร ระดับรังสีเทียบเท่ากับระดับรังสีในธรรมชาติ ระดับรังสีที่อยู่ใกล้เข้าไป ใกล้ที่สุดระยะสัมผัส อยู่ที่ 3 ไมโครซีเวิร์ตต่อชม. ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้พูดเรื่องหน่วยทางรังสีเลย เพราะฉะนั้น 3 ไมโครซีเวิร์ต เป็นปริมาณรังสีที่ไม่สูงมาก แต่อย่างที่ท่าน อ.นภาพงษ์ ว่าครับ มันก็ต้องมีการกำจัดพื้นที่ ไม่ให้มีการถูกขนย้าย หรือใครก็ตามเอาออกไปจากบริเวณที่เราควบคุมไว้อย่างดีเรียบร้อยแล้ว ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามจะจัดการ และหลังจากนั้นตรวจอากาศทันที ตรงหน้าอาคารจัดเก็บ มันก็ไม่มีการปนเปื้อน เรารีบเก็บดิน เราสั่งทีมที่ตรวจวัดสิ่งแวดล้อม สั่งปูพรมตรวจวัด สุ่มเก็บดินน้ำอากาศภายในขอบเขต 5 กิโลเมตร ฉะนั้นตรงนี้ยืนยันในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติงานในพื้นที่ พื้นที่ตรงนี้ยังไม่มีระดับรังสีสูงหรือเกิดปนเปื้อนทางรังสีครับ

 ซีเซียม-137

- แล้วที่มีข่าวหลุดออกมา เรื่องแรกมีการนำเจ้าบิ๊กแบ็กส่งไปที่ระยองหนึ่งชุด ชลบุรีหนึ่งชุด มีอีกหนึ่งชุดเอาไปฝังดิน ที่มาที่ไปเป็นยังไง เพื่อความสบายใจชาวระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี ?

          ดร.กิตติ์กวิน : บิ๊กแบ็กที่มีการปนเปื้อน มีการปนเปื้อนตั้งแต่วันที่ 4 ที่มีการหลอมแล้วนะครับ 4-5 มีนาคม แต่วันก่อนหน้านี้ โรงงานเอาฝุ่นที่ผ่านกระบวนการหลอมในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ โรงงานจะหลอมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง วันเสาร์หรืออาทิตย์ ฉะนั้นฝุ่นก่อนหน้านี้ออกไปจากโรงงานวันที่ 2 ทันทีที่ผมทราบ ผมได้ประสานงานไปยังผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติที่มีหน่วยอยู่ระยอง ให้เข้าตรวจสอบเช้าวันนั้นเลย ก่อนผู้ว่าฯ แถลง 6-7 โมงเช้า เข้าไปตรวจเลยครับ วัดแล้วยืนยันว่าระดับรังสีอยู่ในระดับที่ปกติ ฉะนั้นไม่มีการปนเปื้อนทางรังสีใด ๆ ของฝุ่นก่อนที่จะมีการหลอมในวันที่ 4-5 มีนาคม ขอยืนยันว่าฝุ่นที่ออกจากโรงงานไม่มีการปนเปื้อน ฝุ่นที่มีการปนเปื้อนอยู่ในภายในพื้นที่เฉพาะที่มีการจัดเก็บเท่านั้น ทีนี้ประเด็นฝังดิน มันไม่ใช่ฝังดินครับ ปกติตัวฝุ่นพอผ่านกระบวนการหลอมแล้ว จะเกิดเป็นพวกฝุ่นโลหะ มีความร้อนมาก โดยปกติโรงงานจะเอามาเกลี่ยบริเวณพื้นให้เย็นลง ไม่มีการฝังดินครับ เมื่อวานพอทราบ เราก็รีบให้ดำเนินการ นำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่ปนเปื้อนเอาใส่ถุงบิ๊กแบ็กเก็บทำการตรวจวัด ผมอยู่กับทีมถึง 2 ทุ่ม ตรงนี้ยืนยันจัดเก็บในพื้นที่ที่ควบคุมเรียบร้อยแล้วครับ

 ซีเซียม-137

- บิ๊กแบ็กที่มีสารปนเปื้อน ตอนแรกที่มีข่าวส่งไประยอง ชลบุรี เป็นเศษการหลอมไปในวันที่ 2 มีนาคม ไม่ใช่ของวันที่ 4-5 ?

          ดร.กิตติ์กวิน :  ไม่ใช่แน่นอนครับ วันที่ 4-5 เป็นวันที่เริ่มมีการปนเปื้อน อยากบอกผู้ฟังคือวันที่มีการปนเปื้อน อยู่ในบริเวณพื้นที่จัดเก็บทั้งหมด ตอนนี้เรากำลังประสานงานภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์จุฬาฯ เพื่อเอาตัวอย่างมาวัดความเข้มข้น ว่ามีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่สูญหายหรือไม่ ตรงนี้เดี๋ยวแผนการของสำนักงานเราจะประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการตรงนี้ต่อไป เพื่อสร้างความกระจ่างให้ประชาชน กับเจ้าหน้าที่ ตร. เป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ไปอีกทางหนึ่งครับ

           อ.ธารา : ปมแรกต้องสรุปให้ได้ว่าที่เจือในฝุ่นแดงเป็นซีเซียมที่หายไปจากโรงไฟฟ้าหรือไม่ ถ้าได้เร็วเมื่อไหร่ก็จะหายคลางแคลงใจและตัดปมในเรื่องว่าแท่งซีเซียมมันอยู่ที่ไหน ทำให้ชัดขึ้น ผมว่าจะช่วยคลายความกังวลของประชาชนได้

 ซีเซียม-137

- ตกลงเจ้าบิ๊กแบ็กจะเอาไปไว้ที่ไหน จะเก็บที่ไหน ทำลายยังไง ?

           ดร.รุ่งธรรม : เดี๋ยว ปส. ต้องหารือกับเครือข่าย กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอง หรือสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ องค์การมหาชน ต้องหารือกันว่าเราจะจัดการอย่างไรกับตัวบิ๊กแบ็ก 24 ตัน เรามีกฎหมาย มีขั้นตอน มีผู้ปฏิบัติพร้อมอยู่แล้ว

- ในกรณีที่ตอนแรกมีข่าวออกมาว่าพอถูกหลอมไปแล้ว หลอมไปกับเหล็กต่าง ๆ นานา ถ้าเอาไปรีดเป็นเหล็กเส้น แล้วเอาเหล็กเส้นไปสร้างตัวอาคาร มนุษย์อยู่ตรงนั้น จะมีรังสีจากเหล็กเส้นเข้ามาที่ร่างกายของเรา ข้อเท็จจริงคือยังไง ?


           ดร.รุ่งธรรม : ถ้าซีเซียม-137 มันหลอมถูกเผาไหม้ในเตาหลอม จะเกิดเป็นควัน เป็นฝุ่นขึ้นมา มันจะไม่ปนกันเหล็กที่หลอม มันจะไปอยู่ในฝุ่นแดงตัวที่ว่านี่แหละ

           ดร.เจษฎา : โอกาสรวมตัวมันยาก โดยพื้นฐานเองซีเซียมกับโลหะกลุ่มเหล็กมันรวมตัวกันยากอยู่แล้ว มันเคยมีรายงานในจีนที่ไปหลอมแบบนี้ กลายเป็นโลหะผสมก็มี เหตุการณ์นี้ไม่น่าเกิด แต่ที่คนสงสัยตั้งแต่แรก ตัวเตาเผาปิดจริงมั้ย ควันไม่ออกไปเลยแน่ ๆ นะ มีตัวกรองจริงมั้ย ถ้าจริงตามนั้นก็สบายใจขึ้น แต่ทั้งหมดไม่ควรเกิดตั้งแต่แรก แล้วอนาคตจะเกิดอีกมั้ย มีของหล่นลงมา คนดูไม่ออกว่าเป็นรังสี ผสมเข้าโรงงานเหล็ก ก็ไม่มีเครื่องตรวจอะไร ถ้าเกิดอีกก็เรื่องใหญ่แล้ว ทำไมหน่วยงานต่าง ๆ ไม่วางแผนรัดกุม

 ซีเซียม-137

- ทำไมต้องเรียกฝุ่นแดง ?

           ดร.เจษฎา : มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในกระบวนการหลอมเหล็ก มันเกิดฝุ่นที่มันตีอยู่ในห้องนั้นอยู่แล้วก็เกิดเป็นสีแดง ๆ ภาษาชาวบ้านหรือภาษาโรงงานก็เรียกฝุ่นแดงอยู่แล้ว ไม่ใช่จะเห็นฝุ่นสีแดงต่อจากนี้ (หัวเราะ) แต่ตอนที่เกิดเหตุที่สเปน โดนเผาแบบเดียวกันและขึ้นปล่องไฟ ควันที่ออกมาก็มีเป็นสีแดงค่อนข้างมาก ก็เกิดภาพจำแบบนั้นเหมือนกัน แต่เอาเป็นว่าฝุ่นแดงคือภาษาชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ฝุ่นที่เกิดจากการเผานี่แหละครับ ไม่เกี่ยวข้องกับฝุ่นที่มีกัมมันตภาพรังสีรวมอยู่แล้ว  

- ท่อซีเซียมตอนนี้มีกี่ลูกในประเทศไทย ?

          ดร.ทศดล :  มีอยู่สักประมาณ 1 พันกว่ารายการ อาจไม่ใช่โมเดลนี้ แต่หลายโมเดลทั้งหมดที่อยู่ในฐานข้อมูล มีใช้อยู่ประมาณ 90 หน่วยงานในอุตสาหกรรม

 ซีเซียม-137

- มีอายุประมาณ 30 ปี ?

           ดร.รุ่งธรรม : ค่าครึ่งชีวิต คืออัตราการสลายตัวของซีเซียม-137 จากปริมาณเริ่มต้นจนเหลือครึ่งนึง ซีเซียมใช้เวลา 30 ปี

           ดร.เจษฎา : เหมือนมีอยู่หนึ่งช้อน ผ่านไปเท่าไหร่ถึงหายไปครึ่งช้อน เขาบอกว่า 30 ปี แต่จากนั้นก็จะหายไปทีละครึ่งใช้เวลา 30 ปีเอาง่าย ๆ อาจเป็นร้อยปี สองร้อยปีก็ได้ คนเข้าใจผิดเรื่องนี้

           อ.ธารา : บวกไปเลย 300 ปี

           ดร.รุ่งธรรม : 300 ปี คือทำให้หมดสภาพจากการแผ่รังสี

- จากโคบอลต์มาซีเซียม เคยมีเรื่องแบบนี้อุบัติในเมืองไทยมั้ย ที่หายไปแล้วไม่รู้ ไม่มีใครมาแจ้งหน่วยงาน เรื่องนี้ถ้าไม่มีใครแจ้งเราก็ไม่รู้ ?

           ดร.เจษฎา : ผมสังเกตว่าเป็นข่าวปล่อยด้วย โซเชียลมาก่อนเลยถึงเริ่มมีแถลงออกมา ก็น่าตกใจว่าเคยมีแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อนหรือเปล่า ถ้าไม่มีข่าวเราจะรู้หรือเปล่า

          ดร.ทศดล :  ถ้าตามข้อมูล เราก็มีการจัดทำตัวรายงาน ให้รายงานทุก 1 ปี ว่าตัววัสดุรังสีมีอยู่ตามทะเบียนหรือเปล่า ตามข้อมูลไม่พบรายละเอียดพวกนี้

 ซีเซียม-137

- ถ้าหายไปเราจะรู้มั้ย ถ้าครั้งนี้ไม่มีข่าวออกมาเราจะรู้มั้ย ?

           ดร.รุ่งธรรม :  ผมอธิบายอย่างนี้ การครอบครองหรือใช้วัสดุกัมมันตรังสี จะมีกฎหมายอยู่ฉบับนึงเขาเรียกว่ากฎกระทรวงความมั่นคงปลอดภัยทางรังสี เราต้องควบคุมดูแลไม่ให้มันหาย กระบวนการดูแลก็จะมีกลไกลต่าง ๆ นานาเขียนเอาไว้ชัดเจน อย่างโรงงานนี้เขารู้ได้ไงว่ามันหาย เขาอาศัยกลไกกฎกระทรวง โดยการจัดทำบัญชีรายการต้นกำเนิดรังสี ตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด พอถึงรอบ เคสนี้เขาถึงรอบในการทบทวนหรือตรวจสอบบัญชี เขาก็ไปเดินตรวจ เดินนับ ถึงได้เจอว่าตัวนี้มันหายไป

- ใครต้องรับผิดชอบที่ซีเซียมหายไป ?

           ดร.รุ่งธรรม : อันดับหนึ่งผู้ครอบครองหรือใช้ตามใบอนุญาต คือบริษัทที่เป็นเจ้าของ ปส. กำลังพิจารณาดำเนินการอยู่ กำลังดูข้อกฎหมายว่าจะเข้าข่ายอะไรได้บ้าง

           อ.ธารา : ผมคิดว่าคล้าย ๆ กับช่องว่างในการกำกับดูแลเรื่องมาตรการของการดำเนินการโรงไฟฟ้า ไม่ใช่เฉพาะโรงใดโรงหนึ่ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วมีช่องว่าง การแจ้งหายก็ช้า ถ้าแจ้งได้เร็วเท่าไหร่ก็จะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามันจะไปที่ไหน เส้นทางจากโรงไฟฟ้าไปโรงหลอมก็ไม่ได้ไกลมากนะ อยู่แค่ในเขตจังหวัด ฉะนั้นแจ้งได้เร็วก็จะตามได้เร็ว บางทีเราอาจไปเจอก่อนเข้าโรงหลอมด้วยซ้ำไป การกำกับดูแลเรื่องนี้ ด้วยความมีหลายหน่วยงาน มองการกำกับดูแลกิจการพลังงานกำกับดูแลความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์และรังสี ผมคิดว่าเป็นบทเรียนสำคัญ ต้องไม่ให้เกิดซ้ำรอยอีก

 ซีเซียม-137

 ซีเซียม-137

 ซีเซียม-137

 ซีเซียม-137

 ซีเซียม-137

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิชาการร่วมไขความจริง ซีเซียม-137 คืออะไร อันตรายไหม-หายแล้ววิกฤตแค่ไหน ? อัปเดตล่าสุด 21 มีนาคม 2566 เวลา 19:20:33 9,473 อ่าน
TOP
x close