ไขปริศนา ทำไมคนกินจุถึงผอมเพรียว ทั้งที่ดูจากขนาดตัวแล้วไม่น่าจะกินอะไรเยอะ ที่แท้มีเคล็ดลับกับเบื้องหลังที่ไม่มีใครเคยรู้ เฉลยโดย อ.เจษฎา ตาสว่างเลย
วันที่ 5 เมษายน 2566 เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant มีการโพสต์ไขข้อสงสัยเรื่องนี้ โดยจุดเริ่มต้นมาจากเรื่องที่ไจ เหว่ย กู่ สาวไต้หวัน หน้าตาสวย โชว์กินจุขั้นเทพในประเทศไทยจนกลายเป็นไวรัล ทั้งที่เธอตัวเล็กมาก ทำไมเธอถึงกินได้เยอะขนาดนี้ โดยเธอกินข้าวมันไก่ไจแอนท์ (ข้าว 2 กิโลกรัม และไก่ 1 กิโลกรัม) หมดเกลี้ยงโดยใช้เวลาเพียง 35 นาที หลังจากนั้นก็มีไปกินก๋วยเตี๋ยวเรือแถวอนุสาวรีย์ชัยฯ นั่งกินคนเดียวหมดไป 61 ชาม แถมกินขนมถ้วยไปอีก 24 ถ้วย
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
เหตุผลที่กินจุแล้วไม่อ้วน
เรื่องนี้ ตนได้ตอบในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ที่นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวยิงคำถามมาตรง ๆ ว่า กินเยอะแบบนี้ มันไปอยู่ส่วนไหนของร่างกาย คำตอบตนอ้างอิงจากสารคดีวิทยาศาสตร์ เบื้องหลังการแข่งกินจุว่า ปกติแล้วกระเพาะของคนเราจะจุอาหารได้ประมาณ 1 ลิตร แล้วเกิด nausea reflex กลไกตอบสนองให้รู้สึกคลื่นไส้ เพื่อส่งสัญญาณให้หยุดกินได้แล้ว
สำหรับนักกินจุอาชีพ ได้ฝึกฝนร่างกายให้ปฏิเสธกลไกดังกล่าว ต้องกินอาหารต่อไปจนสุดท้ายพวกนี้สามารถกินอาหารได้มากกว่าคนปกติถึง 4 เท่า ทำให้กระเพาะบวมเป่งออกมาราวหญิงตั้งครรภ์ 9 เดือน ด้วยเหตุนี้ ความสามารถในการยืดหยุ่นของกระเพาะ จึงเป็นกุญแจสำคัญของการแข่ง และคนเหล่านี้ก็ได้รับการฝึกอย่างหนัก เพื่อให้กระเพาะขยายตัวได้ใหญ่โต พร้อมกับเคี้ยวกลืนอาหารอย่างรวดเร็ว
ส่วนวิธีการฝึกนั้น ใช้การดื่มน้ำปริมาณมาก ๆ เพื่อให้กระเพาะขยายตัวในเวลาอันสั้น บางคนก็ฝึกด้วยการกินทั้งน้ำ ทั้งอาหารพวกที่มีแคลอรี่ต่ำ เช่น ผัก สลัด ปริมาณมาก ๆ บางคนก็ใช้วิธีการเคี้ยวหมากฝรั่งเยอะ ๆ สร้างความแข็งแรงให้ขากรรไกร
สิ่งที่สำคัญและน่าประหลาดใจอีกอย่างหนึ่งคือ คนเหล่านี้มักควบคุมปริมาณไขมันในร่างกายให้ต่ำเอาไว้ ไม่ให้มีไขมันลงพุง ด้วยความเชื่อว่า คนที่มีเข็มขัดไขมันสะสมที่หน้าท้อง มักจะแพ้การแข่งขันกินจุ เพราะไขมันใต้ผิวหนัง ช่องท้อง จะไปกีดขวางการขยายตัวของกระเพาะ จึงเป็นสาเหตุให้คนกินจุมักจะดูหุ่นดี ไม่ลงพุงนั่นเอง
ถึงไม่อ้วน แต่ก็มีผลข้างเคียง
ถึงกระนั้น คนเหล่านี้ก็มีอาการข้างเคียงตามมาไม่มากนักหลังแข่งเสร็จ เช่น คลื่นไส้ กรดไหลย้อน ตะคริวหน้าท้อง ท้องร่วง ท้องเสีย ไม่สบาย ต้องแก้ด้วยการทำให้ตัวเองอาเจียนหรือกินยาระบายหลังแข่งจบ ผลเสียอีกอย่างหนึ่งคือ ทำให้ร่างกายเกิดภาวะการว่างของกระเพาะช้ากว่าปกติ เกิดจากความสูญเสียการทำงานของระบบประสาทในทางเดินอาหารและกล้ามเนื้อเรียบ ทำให้ก้อนอาหารไม่ถูกขับออกจากกระเพาะได้หมดในเวลาปกติ
การฝึกดื่มน้ำในปริมาณมาก ทำให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ เพราะน้ำไปเจือจางสารอิเล็กโทรไลต์ในกระแสเลือด ภาวะการว่างของกระเพาะช้ากว่าปกติ ก็ยังส่งผลเสียอาหารไม่ย่อยเรื้อรัง คลื่นไส้ อาเจียน