ม่อนแจ่ม เชียงใหม่ ขาวโพลนในฤดูร้อน เหมือนหิมะแต่ไม่ใช่ อันตรายและเป็นหนักอีก 2 วัน


          พายุฤดูร้อนถล่มภาคเหนือ - อีสาน ทำม่อนแจ่มมีลูกเห็บตก แทบเอามาเป็นน้ำแข็งไสได้ อีก 2 วันถล่มทั่วประเทศ

พายุฤดูร้อน

          ช่วงนี้ สิ่งที่ต้องระวังที่สุดคือ พายุฤดูร้อน เพราะทางกรมอุตุนิยมวิทยา ยังคงมีประกาศเตือนเรื่องนี้มาเรื่อย ๆ ตลอดเดือนเมษายน

          วันที่ 23 เมษายน 2566 เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานว่า ที่พื้นที่ จ.นครพนม เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง 4 อำเภอ คือ อ.เมือง, อ.ธาตุพนม, อ.นาแก และ อ.เรณูนคร โดยเฉพาะที่ อ.เรณูนคร มีกระบือถูกฟ้าผ่าตายที่ทุ่งนา และบริเวณนั้นก็มีเสาไฟฟ้าแรงสูงตั้งอยู่ จึงอาจเป็นสาเหตุได้

พายุฤดูร้อน

          นางไพศาล วัย 55 ปี ชาวบ้านกล่าวว่า ตลอดทั้งวันอากาศร้อนอบอ้าว พอตกบ่ายก็เกิดพายุฝนพัดกระหน่ำอย่างแรง ตอนนั้นตนปล่อยควายไว้กลางทุ่งนา ไม่สามารถพามันมาในที่ร่มได้ ทำให้มันถูกฟ้าผ่าตายไป 3 จาก 11 ตัว มูลค่าตัวละ 21,500 บาท หลังจากนี้จะมีการนำควายที่ตายมาชำแหละขายเพื่อประกอบอาหารต่อไป

          หลังจากพายุสงบ มีการออกสำรวจความเสียหาย พบบ้านเรือนราษฎรเสียหายกว่า 500 หลังคาเรือน มี 124 หลังคาเรือนได้รับความเสียหายอย่างหนัก จึงได้เร่งให้การช่วยเหลือเบื้องต้น รายงานจังหวัดเพื่อดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

          ขณะที่ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ก็ประสบภัยจากพายุฤดูร้อนเช่นกัน มีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายหลายหลัง

พายุฤดูร้อน

ม่อนแจ่มก็เดือดร้อนหนัก พายุลูกเห็บ


          ไทยพีบีเอส รายงานว่า ที่ ม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ก็ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนด้วยเช่นกัน โดยเป็นพายุลูกเห็บขนาดใหญ่ ส่วนเฟซบุ๊ก บี'นีโม่ ตัวใหญ่ ก็มีการโพสต์เก็บซากลูกเห็บใส่ถ้วย และที่ม่อนแจ่มมีความขาวโพลน คล้ายกับหิมะตก

พายุฤดูร้อน

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศพายุฤดูร้อน 23-26 เมษายน 2566


          กรมอุตุนิยมวิทยา มีการออกประกาศเรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 3 (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 23-26 เมษายน 2566) มีรายละเอียดดังนี้

          บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีน แผ่ลงทะเลจีนใต้ ส่งผลให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ปกคลุมประเทศไทยตอนบนที่มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับมีลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น จะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออกก่อน ส่วนภาคอื่น ๆ จะมีผลในระยะถัดไป

          ส่วนลมตะวันออก และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น

พายุฤดูร้อน
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

จังหวัดที่คาดว่าจะมีผลกระทบ มีดังนี้


วันที่ 23 เมษายน 2566

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - จังหวัดอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

วันที่ 24 เมษายน 2566

          ภาคเหนือ - จังหวัดน่าน อุตรดิตถ์

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร ชัยภูมิ อำนาจเจริญ นครราชสีมา ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

          ภาคตะวันออก - จังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด

วันที่ 25 - 26 เมษายน 2566

          ภาคเหนือ - จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

          ภาคกลาง - จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

          ภาคตะวันออก - จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ขอบคุณข้อมูลจาก เรื่องเล่าเช้านี้, ไทยพีบีเอส, กรมอุตุนิยมวิทยา


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ม่อนแจ่ม เชียงใหม่ ขาวโพลนในฤดูร้อน เหมือนหิมะแต่ไม่ใช่ อันตรายและเป็นหนักอีก 2 วัน โพสต์เมื่อ 23 เมษายน 2566 เวลา 14:49:10 26,728 อ่าน
TOP
x close