บุกค้นคลินิกดัง กทม. ใช้เซ็กส์ครีเอเตอร์สาวชื่อดัง รีวิวเลเซอร์ขนน้องสาวไม่เซ็นเซอร์ ทำคลิปคอนเทนต์โชว์อล่างฉ่างลงยูทูบ
ภาพจาก ข่าวช่องวัน
วันที่ 17 มิถุนายน 2566 ข่าวช่องวัน รายงานว่า กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการตรวจค้นคลินิกเสริมความงามที่มีการโฆษณาคลิปวิดีโอการให้บริการเลเซอร์ขนอวัยวะเพศหญิงโดยไม่มีการเบลอวิดีโอลงช่องทางยูทูบ
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับการประสานงานจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กรณีปรากฏคลิปวิดีโอ คลินิกแห่งเวชกรรมหนึ่งรีวิวการใช้เครื่องเลเซอร์กำจัดขนบริเวณอวัยวะเพศหญิงโดยไม่ได้มีการปกปิด หรือเบลอคลิปวิดีโอก่อนเผยแพร่แต่อย่างใด ซึ่งเมื่อดูคลิปดังกล่าวแล้วส่อไปในทางลามกอนาจาร อันมีลักษณะเป็นการกระตุ้นและยั่วยุอารมณ์ทางเพศของผู้เข้าชม จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และแพร่หลายจนเป็นกระแสในโลกโซเชียล โดยมีการโพสต์วิดีโอลงช่องทางยูทูบ
พบคลินิกใช้เซ็กส์ครีเอเตอร์สาว ผู้ติดตาม 5 แสน มารีวิว
ตำรวจได้ทำการตรวจสอบคลิปวิดีโอดังกล่าว พบว่า มีการใช้เซ็กส์ครีเอเตอร์รายหนึ่ง ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 5 แสนราย มาทำการถ่ายทำรีวิวการทำเลเซอร์ขนอวัยวะเพศ โดยใช้สถานที่ของคลินิกในการถ่ายทำเพื่อนำไปเผยแพร่ โดยอาศัยยอดผู้ติดตามเซ็กซ์ครีเอเตอร์คนดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาดของคลินิก
จากการสืบสวนทราบว่า สถานที่ที่ใช้ถ่ายทำ เป็นคลินิกดังย่านแบริ่ง ซึ่งคลินิกดังกล่าวมีหลายสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น สาขาบางนา, สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาขารามอินทรา และสาขาอุดรธานี เป็นต้น
ตรวจยึดยาต้องสงสัยว่าจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา ได้หลายรายการ
ต่อมาในวันที่ 16 มิถุนายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับ สบส. และ อย. เข้าตรวจสอบคลินิกดังกล่าว 2 สาขา โดยที่สาขาบางนา พบว่า คลินิกดังกล่าวเปิดให้บริการเสริมความงามแก่ประชาชนทั่วไป ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ยาต้องสงสัยว่าจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 รวมจำนวน 3 รายการ และที่สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตรวจยึดยาและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางรวมจำนวน 2 รายการ
จากการตรวจสอบการขออนุญาตการโฆษณา ปรากฏว่าคลินิกดังกล่าว มีการโฆษณาผ่านช่องทางทวิตเตอร์และยูทูบ โดยไม่ได้ขออนุญาตโฆษณาตามกฎหมาย
ภาพจาก ข่าวช่องวัน
เบื้องต้นพบการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมาย ดังนี้
- พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มาตรา 38 ฐานร่วมกันโฆษณาหรือประกาศด้วยประการใด ๆ เกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14(4) ฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้ทำการหัตถการโดยไม่ใช่แพทย์ในคลิปวิดีโอ มีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72 (4) ฐานขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 14 ฐานขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท