สรุปปมเดือด แวกเนอร์ กลุ่มทหารรับจ้าง ทำไมเลือกก่อกบฏรัสเซีย สุดท้ายจบยังไง

            ส่องที่มา แวกเนอร์ กลุ่มทหารรับจ้างช่วยรัสเซียในสงครามยูเครน ก่อกบฏบุกยึดเมือง เตรียมเคลื่อนพลเข้ามอสโก ก่อนได้บทสรุปใน 24 ชั่วโมง

รัสเซียวากเนอร์, wagner,
ภาพจาก STRINGER / AFP

            กลายเป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ กรณีเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566 กลุ่มทหารรับจ้าง แวกเนอร์ (Wagner) ซึ่งนำโดย เยฟเกนี พริโกชิน เคลื่อนขบวนเพื่อความยุติธรรมมุ่งหน้าสู่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ซึ่งถือเป็นเป็นความขัดแย้งภายในครั้งรุนแรงที่สุดที่รัสเซียต้องเผชิญนับตั้งแต่เปิดสงครามกับยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ครั้งนี้คืออะไร ติดตามได้ที่นี่

กลุ่ม แวกเนอร์ คืออะไร


รัสเซียวากเนอร์, wagner,
ภาพจาก ROMAN ROMOKHOV / AFP

            กลุ่มแวกเนอร์ ถูกก่อตั้งเมื่อปี 2557 ซึ่งข้อมูลการสืบสวนจาก BBC เชื่อว่าเป็นความตั้งใจของ ดิมิทรี อัตคิน อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพรัสเซีย ทหารผ่านศึกในสงครามเชชเนีย ซึ่งน่าจะเป็นผู้บัญชาการภาคสนามคนแรกของกลุ่มแวกเนอร์ โดยที่มาของชื่อกลุ่มนั้นมาจากชื่อฉายาซึ่งใช้เรียกผ่านวิทยุสื่อสารในอดีตของเขา

            ในขณะนั้น แวกเนอร์ยังเปิดปฏิบัติการในแอฟริกาและตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่ คาดว่าในขณะนั้นมีกองกำลังเพียง 5,000 นายเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นทหารผ่านศึก และอดีตหน่วยรบพิเศษของรัสเซีย โดยกลุ่มแวกเนอร์ถูกจัดตั้งมาในรูปแบบองค์กรลับ เนื่องจากการเป็นทหารรับจ้างในรัสเซียถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

บทบาทของ แวกเนอร์ ในยูเครน


รัสเซียวากเนอร์, wagner,
เยฟเกนี พริโกชิน
ภาพจาก AFP PHOTO / TELEGRAM CHANNEL OF CONCORD GROUP

            ช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน กลุ่มแวกเนอร์มีผู้นำคือ เยฟเกนี พริโกซิน บุคคลใกล้ชิดของ วลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งที่่ผ่านมาเขานั้นได้รับสัญญาว่าจ้างให้จัดหาอาหารให้แก่รัฐบาลรัสเซีย จนทำให้เขาได้รับสมญานามว่าเป็น "พ่อครัวของปูติน"

            เมื่อปี 2565 กลุ่มแวกเนอร์เปิดรับสมัครนักรบเป็นจำนวนมาก เนื่องจากรัสเซียมีปัญหาในการหากำลังพลเข้าประจำการในกองทัพนับจากเปิดฉากบุกยูเครนเมื่อกุมภาพันธ์ 2565 ต้นเดือนมิถุนายน 2566 กระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า แวกเนอร์ควบคุมนักรบรับจ้างมากถึง 50,000 นายในยูเครน มีรายงานว่านักรบจำนวนราว 80% ของกลุ่ม แวกเนอร์ เป็นนักโทษที่ถูกเกณฑ์มารบ โดย พริโกซิน ทำการเกณฑ์นักโทษจากเรือนจำทั่วรัสเซียให้มารบที่ยูเครน

             กลุ่มแวกเนอร์ถือเป็นหัวหอกในการบุกยึดครองเมืองบัคมุตของยูเครน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบอย่างดุเดือดและนองเลือดมานานหลายเดือน ซึ่งการต่อสู้ที่ยังดำเนินไป ส่งผลให้นักรบของกลุ่มแวกเนอร์เสียชีวิตจำนวนมากเช่นกัน

ชนวนแตกหักจนทำไปสู่การกบฏ


             ระหว่างที่สงคราม รัสเซีย-ยูเครน ยังคงดำเนินต่อไป พริโกซิน เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึง เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย โดยบอกว่ากองทัพรัสเซียนั้นไร้ความสามารถในการรบ และปล่อยให้พวกเขาสู้อย่างเดียวดายโดยไม่ส่งกระสุนปืนและอาวุธที่จำเป็นมาให้

             ขณะที่ทางการรัสเซีย มีความพยายามในการขีดเส้นตายให้กลุ่มทหารรับจ้างทั้งหมดที่ต่อสู้ในยูเครนมาลงนามในสัญญากระทรวงกลาโหม ซึ่ง พริโกซิน ปฏิเสธโดยมองว่าเป็นการท้าทายอิทธิพลของเขา

             เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 พริโกซิน กล่าวอ้างว่าที่ค่ายของกลุ่มแวกเนอร์ ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ จนมีนักรบเสียชีวิต 2,000 ราย โดยพุ่งเป้าว่าเป็นฝีมือของ ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ประกาศว่ากองทัพของเขาจะลงโทษชอยกู ด้วยการยึดอำนาจ ซึ่งการกระทำนี้ไม่ใช่การก่อกบฏ แต่เป็นการคืนความยุติธรรมให้แก่ทหารที่เสียชีวิต


             พริโกซิน ยังกล่าวถึงเหตุผลที่เกิดสงครามครั้งนี้ว่าเป็นเรื่องหลอกลวงและข้อแก้ตัวของ "คนขี้โกงกลุ่มเล็ก ๆ" เพื่อสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง ด้วยการหลอกลวงประชาชนและประธานาธิบดี โดยกลุ่ม แวกเนอร์ เคลื่อนทัพมุ่งสู่มอสโควด้วยนักรบที่มีอยู่ราว 25,000 คน

การเคลื่อนกำลังพลเข้ารัสเซีย - บทสรุปการเจรจา


รัสเซียวากเนอร์, wagner,
ภาพจาก AFP PHOTO / TELEGRAM CHANNEL OF CONCORD GROUP

             กลุ่มแวกเนอร์ เคลื่อนพลข้ามพรมแดนยูเครนเข้าไปยังรัสเซียแล้วตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน โดยผ่านไปที่รอสตอฟ ออน ดอน และยึดเมืองนี้ได้โดยไร้การต่อต้าน

             ด้าน ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ เตือนกลุ่มผู้สนับสนุนให้เกิดการกบฏทางทหารให้ยุติการกระทำทันที และเรียกการเคลื่อนไหวของกลุ่มว่าเป็นการก่อกบฏและการแทงข้างหลัง โดย พริโกซิน กล่าวปฏิเสธว่าการกระทำของเขาไม่ใช่การทรยศประเทศ ซึ่งสิ่งที่ประธานาธิบดีกล่าว เป็นเรื่องเข้าใจผิดอย่างมาก

             มีรายงานว่า กลุ่มแวกเนอร์ เคลื่อนมาเมืองโวโรเนซ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมอสโกมาทางตอนใต้ประมาณ 460 กิโลเมตร พร้อมเข้าควบคุมกองบัญชาการทหารประจำภูมิภาคและยึดสิ่งอำนวยความสะดวกทางการทหาร ต่อมา เกิดการระเบิดขึ้นที่คลังน้ำมันในเมืองโวโรเนซ เบื้องต้นพบว่าเป็นการโจมตีทางอากาศ ซึ่งไม่แน่ชัดถึงสาเหตุ

             ทางการรัสเซีย เพิ่มการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นในหลายภูมิภาค รวมถึงมอสโก โดย นายกเทศมนตรีของเมืองหลวง แจ้งให้ประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเดินทาง งดกิจกรรมกลางแจ้ง ขณะที่มีรายงานว่า เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพรัสเซียเปิดฉากยิงขบวนกำลังพลของกลุ่มแวกเนอร์ที่มุ่งหน้าไปยังมอสโก


             ช่วงเย็นวันที่ 24 มิถุนายน ตามเวลาท้องถิ่น พริโกชิน ได้หยุดการเคลื่อนกำลังพลในระยะทาง 200 กิโลเมตร ก่อนถึงมอสโก ทั้งนี้ อเลกซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส จัดการเจรจากับ พริโกชิน ซึ่งนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงผ่อนคลายความตึงเครียดและลดความเสี่ยงในการเผชิญหน้า เปิดทางให้ พริโกชิน เดินทางไปยังเบลารุสได้ โดยที่ทางการรัสเซียจะไม่เอาผิดกับเขาและกลุ่มนักรบแวกเนอร์ โดยกองกำลังดังกล่าวทยอยเคลื่อนออกจากรอสตอฟ ออน ดอน กลับไปยังหน่วยของตนเอง โดยทางการรัสเซียยังคงเปิดกว้างให้ทหารรับจ้างกลุ่มดังกล่าวสามารถตกลงเซ็นสัญญามาสู่กองทัพได้

             ด้าน ดีมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลเครมลิน กล่าวในงานแถลงข่าวยืนยันว่า การก่อกบฏของกลุ่มแวกเนอร์ จะไม่ส่งผลกระทบต่อปฏิบัติการบุกโจมตีของกองทัพรัสเซียในยูเครน

             ติดตามอ่าน ข่าวต่างประเทศ ที่น่าสนใจได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก NBC News, BBC, BBC, CNN


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปปมเดือด แวกเนอร์ กลุ่มทหารรับจ้าง ทำไมเลือกก่อกบฏรัสเซีย สุดท้ายจบยังไง โพสต์เมื่อ 25 มิถุนายน 2566 เวลา 12:17:13 28,206 อ่าน
TOP
x close