วสท. ชี้เหตุทางเลื่อนดูดขา ระบบทำงานปกติ แต่มีอะไรไปขัด ทำปลายหวีหัก !

 
           ชี้สาเหตุทางเลื่อนสนามบินดอนเมืองดูดขาผู้โดยสาร ระบบทำงานปกติ แต่มีวัสดุไปขำ ทำปลายหวีทางเลื่อนหัก ใช้เวลา 20 วินาที กว่าระบบจะหยุดทำงาน ทำคนเจ็บหนัก


           จากกรณีอุบัติเหตุผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บจากการใช้ทางเลื่อนในสนามบินดอนเมือง ส่งผลให้ขาซ้ายขาดตั้งแต่บริเวณเหนือหัวเข่าลงไป ซึ่งตอนนี้ทางสนามบินดอนเมืองยังอยู่ระหว่างการเยียวยารักษาผู้บาดเจ็บ และเร่งหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุนั้น

            อ่านข่าว : แถลงเหตุทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง ทำคนขาขาด ใช้มา 27 ปี แพลนเปลี่ยนปีหน้า !

           ล่าสุด (30 มิถุนายน 2566) เรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง 3 ช่อง 3 รายงานความคืบหน้าว่า ทีมวิศวกรของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) รุดลงพื้นที่ตรวจสอบจุดทางเลื่อนอัตโนมัติที่ดูดขาผู้โดยสารหญิง โดยเบื้องต้นสันนิษฐานว่า น็อตที่ล็อกแผ่นพื้นกับรางเลื่อนขาด เกิดจากมีวัสดุตกหล่นไปขัดบริเวณปลายหวีรางเลื่อน

           ขณะที่ นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ที่ปรึกษาคณะกรรมการ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล วสท. กล่าวว่า สิ่งแรกที่เห็น พบว่า อุปกรณ์รางเลื่อนได้ประกอบกลับสู่ที่เดิม อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานแล้ว โดยผลตรวจประเมินความปลอดภัยของอุปกรณ์ถือว่าผ่านมาตรฐานที่เป็นสากล เชื่อถือได้


ตรวจสอบเบื้องต้น พบมีการแตกหักของแผ่นหวีทางเลื่อน อาจมีอะไรไปขัดก่อนเกิดเหตุ


           ผลสำรวจเบื้องต้น พบว่า มีการแตกหักของแผ่นหวี อีกทั้งบางชิ้นส่วนของแผ่นหวีก็แตกหักลักษณะคล้ายเป็นรูปของวงกลม ซึ่งอาจเกิดจากการขัดกันระหว่างวัสดุสองชนิดในช่วงที่เกิดเหตุ ขณะที่แผ่นพื้นทางเลื่อนที่หลุด ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์และหล่นอยู่ท้องของกล่องทางเลื่อนอัตโนมัติเป็นระยะประมาณ 10 เมตร จากจุดเกิดเหตุ ลักษณะนี้บ่งชี้ว่า น็อตที่ล็อกแผ่นพื้นกับรางเลื่อนขาด

           ส่วนข้อมูลการบำรุงรักษา ก่อนการใช้งานในทุกวัน จะมีเจ้าหน้าดูแลตรวจสอบระบบก่อนเปิดใช้งาน จึงไม่เป็นเหตุให้ระบบบันไดเลื่อนและทางเลือกอัตโนมัติมีการทำงานผิดปกติ

           ดังนั้น การเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ จึงสันนิษฐานได้ว่า อาจเกิดจากการที่มีวัสดุตกหล่นไปขัดอยู่บริเวณปลายหวี และอาจเป็นวัสดุส่วนหนึ่งของล้อกระเป๋าเดินทางไปติดอยู่ที่ปลายหวี จึงไม่สามารถเคลื่อนตัวต่อไปได้

           เมื่อเกิดการขัดกันจนกระทั่งปลายหวีแตกหักและหลุดเข้าไปในระบบทางเลื่อนอัตโนมัติ เป็นเหตุให้ไปง้างแผ่นพื้นทางเลื่อนกระดก จนน็อตที่ล็อกแผ่นพื้นรางเลื่อนขาด ทำให้มีช่องว่างกว้างเพียงพอที่จะทำให้ขาของผู้โดยสารที่กำลังก้าวหล่นลงไปในช่องว่างในขณะที่ทางเลื่อนยังคงทำงานตามปกติ จึงทำให้ผู้ประสบเหตุได้รับบาดเจ็บ

           และคาดว่าผ่านไปประมาณ 20 วินาที อุปกรณ์จึงจะหยุดระบบทำงาน ทำให้ผู้ประสบเหตุได้รับบาดเจ็บเพิ่ม แต่ทั้งหมดนี้ยังต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยละเอียด ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ทางเลื่อนดูดขา

เผยทางเลื่อนสนามบินดอนเมืองหากซ่อมบำรุงก็ใช้งานได้ถึง 45 ปี ตามหลักวิศวกรรม


           ส่วนทางเลื่อนอัตโนมัติในสนามบินดอนเมืองที่ใช้งานนานกว่า 30 ปี นายบุญพงษ์ กล่าวว่า หากมีการใช้งานและซ่อมบำรุงตามรอบปกติ ก็สามารถใช้งานได้ ตามหลักวิศวกรรมได้มีการกำหนดอายุการใช้งานไว้ที่ 45 ปี แต่หากมีการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ ก็ยังสามารถกลับมาใช้งานต่อได้

           พร้อมกันนี้ได้มีคำแนะนำสำหรับผู้เดินทางที่มีกระเป๋าสัมภาระ เมื่อใช้ทางเลื่อนอัตโนมัติ ควรวางกระเป๋าไว้ด้านข้างตัว หรือด้านหลัง ไม่ควรวางไว้ด้านหน้าตนเอง และสิ่งสำคัญ ต้องมีสติขณะใช้ทางเลื่อน อีกทั้งควรจับราวจับทุกครั้ง เช่นเดียวกับบันไดเลื่อน

           ทางเลื่อนเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบและใช้งานอย่างแพร่หลายมากกว่า 100 ปี โดยทางเลื่อนอัตโนมัติหนึ่งแผ่น พื้นสามารถรับน้ำหนักได้ 160 กิโลกรัม ขณะที่บันไดเลื่อนจะออกแบบให้รับน้ำหนักได้แค่ 75 กิโลกรัม

           กรณีการใช้งานปกติ หากพบว่ามีการติดขัด อาการสะดุด ระหว่างราวจับและทางเลื่อนอุปกรณ์จะหยุดการทำงานทันที หรือหากกระแสไฟตกหรือกระชาก อุปกรณ์ของบันไดเลื่อนก็จะหยุดการทำงานทันที

ทางเลื่อนดูดขา
ขอบคุณข้อมูลจาก เรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง 3


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วสท. ชี้เหตุทางเลื่อนดูดขา ระบบทำงานปกติ แต่มีอะไรไปขัด ทำปลายหวีหัก ! โพสต์เมื่อ 30 มิถุนายน 2566 เวลา 19:37:01 31,383 อ่าน
TOP
x close