8 พรรคร่วมประชุมหารือ เจอกลุ่ม ศปปส. บุกท้วงปมเปลี่ยนวันชาติ หวิดปะทะด้อมส้ม แถมเพื่อไทยโดนด่า อย่าเสียสัตย์ ส่วนผลการประชุม รอแถลงจากเพื่อไทยพรุ่งนี้ (3 กรกฎาคม)
ภาพจาก ไทยพีบีเอส
สถานการณ์ทางการเมืองยังคงไม่มีความชัดเจนในเรื่องประธานรัฐสภา ซึ่งจะมีการโหวตในวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 แล้ว
ล่าสุด วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 ไทยพีบีเอส รายงานว่า พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรคมีการประชุมกันนานเกือบ 2 ชั่วโมง จากนั้นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับประเด็นประธานรัฐสภาว่า การประชุมในวันนี้มีการพูดคุยเพียงเล็กน้อย แม้ไม่อยู่ในวาระ แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลให้เกียรติพรรคเพื่อไทยที่จะมีการประชุมพรรค และหาข้อสรุปภายในพรรคเรื่องตำแหน่งในวันพรุ่งนี้ (3 กรกฎาคม) ขออภัยหากจะทำให้ประชาชนสับสน
ตนขอให้สื่อมวลชนอย่าเพิ่งเปิดประเด็นใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการโหวตชื่อประธานรัฐสภาแข่งกันระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย เพราะมันจะกระทบกับปัจจุบัน
เพื่อไทย ขอประชุมก่อน คำตอบจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแน่นอน
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คณะเจรจาระหว่าง 2 พรรคคุยกันเรื่องนี้ตลอด ทั้ง 2 ฝ่ายต่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มีความหลากหลาย เห็นต่างกันมาก แต่แนวทางของพรรคคือ ให้ความสำคัญกับข้อบังคับพรรค ซึ่งในการประชุมวันพรุ่งนี้ จะนำข้อเสนอคณะเจรจาเข้าที่ประชุม ส.ส. และกรรมการบริหารพรรค
พรรคขอยืนยันว่า จะจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยให้สำเร็จ หากผลสรุปเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง ก็จะส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล ความเป็นพรรคสำคัญที่สุด ขอให้รอการลงมติของ ส.ส. เชื่อว่าจะเป็นข้อสรุปที่ดีที่สุดต่อประเทศชาติ ประชาชน และพรรคจะแถลงวันพรุ่งนี้อีกครั้ง ตำแหน่งประธานสภาต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง
ด้อมส้ม ปะทะ ศปปส. - ตะโกนใส่เพื่อไทยอย่าเสียสัตย์
เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานเพิ่มเติมว่า ช่วงก่อนการประชุม แฟนคลับพรรคก้าวไกลชูป้ายตะโกนใส่พรรคเพื่อไทยว่า อย่าเสียสัตย์ พิธาต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ชุลมุนเมื่อเครือข่าย ศปปส. บุกยื่นหนังสือถึงนายพิธา คัดค้านกรณีที่นายรังสิมันต์ โรม เสนอขอเปลี่ยนวันชาติ ทำให้ปะทะกับแฟนคลับพรรคก้าวไกลที่อยู่ไม่ห่างกัน อย่างไรก็ตาม ศปปส. ยืนยันไม่ยอมกลับ แม้จะถูกโห่ไล่ บอก วันนี้มาดี แต่ถ้าถูกไล่แบบนี้จะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ตัวเองยอมโหนเจ้าดีกว่ามีคนมาด่าในหลวง แล้วย้อนถามว่า ประเทศไทยจะขับเคลื่อนด้วยการด่าหรือ ?
ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยพีบีเอส, เรื่องเล่าเช้านี้