อ.เจษฎา ไขปริศนาตามไวรัลเบอร์เกอร์ชีส VS ส้มตำปูปลาร้า
อันไหนโซเดียมโหดกว่ากัน หลังช่วงนี้เรื่องเบอร์เกอร์ชีส 60 ชิ้นมาแรง
จากกรณีที่มีคนรีวิวเรื่องการกินเบอร์เกอร์ชีสแบบใส่ชีสไม่อั้น
บางคนใส่ไปถึง 60 ชิ้น ทำให้สังคมเกิดความเป็นห่วงว่า
ส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่
ล่าสุด วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ มีการไขปริศนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมเปรียบเทียบกับเมนูอาหารไทยยอดฮิตอย่างส้มตำปูปลาร้า อันไหนโซเดียมโหดกว่ากัน ดังนี้
ล่าสุด วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ มีการไขปริศนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมเปรียบเทียบกับเมนูอาหารไทยยอดฮิตอย่างส้มตำปูปลาร้า อันไหนโซเดียมโหดกว่ากัน ดังนี้
เมนูนี้คงจะถูกใจคนรัก "ชีส" แน่ ๆ แต่ก็มีหลายท่านออกมาเตือนด้วยความเป็นห่วงเรื่องของการกิน "โซเดียม" มากเกินไปจากเมนูใหม่นี้
อย่าลืมว่า องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เรากินโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม (ประมาณเกลือ 1 ช้อนชา) ขณะที่อาหารที่เรากินนั้น มักจะมีโซเดียมซ่อนอยู่ในวัตถุดิบอยู่แล้ว และก็มีโซเดียมจากเครื่องปรุงที่เราใส่เพิ่มเข้าไปอีก และถ้าหากกินโซเดียมมากเกินไป ก็จะมีผลเสียต่อการทำงานของไต ของหัวใจ และทำให้ระดับความดันโลหิตสูงได้
ทีนี้ จากข้อมูลของเพจ "Fit happens by Coach Ping" บอกว่า เชดด้าชีส Cheddar Cheese ที่ใส่ในเบอร์เกอร์นั้น แผ่นนึงน้ำหนักประมาณ 21 g และอาจจะมีโซเดียมสูง 190 - 320 มิลลิกรัม ขึ้นกับยี่ห้อ
แปลว่า เบอร์เกอร์ชีสหนึ่งก้อน ที่ใส่เชดด้าชีสไป 20 แผ่น ก็อาจจะให้โซเดียมได้ถึง 3 พันมิลลิกรัม เป็นอย่างน้อย (อันนี้ยังไม่รวมโซเดียมที่อยู่ในขนมปังด้วยนะ) ... กินเข้าไปหนึ่งก้อนนี่ ได้โซเดียมเทียบเท่ากับที่ไม่ควรกินเกินทั้งวันแล้ว !
ยิ่งกินน้ำอัดลมด้วย หรือเพิ่มเฟรนช์ฟรายส์ด้วย แถมซอสจิ้มปรุงแต่งรสด้วย ปริมาณโซเดียมพุ่งเกินคำเตือนองค์การอนามัยโลกไปเยอะเลย .. เรียกได้ว่า มื้อเดียว ไม่ต้องกินอะไรอย่างอื่นแล้ว หึ ๆ
เทียบกับส้มตำปูปลาร้า
แต่ในอาหารไทย ที่คนไทยเราเองบริโภคกันอยู่เป็นประจำนั้น ก็มีปริมาณของโซเดียมหนักหนาสาหัสไม่น้อยครับ เพราะคนไทยชอบใส่เครื่องปรุงที่มีรสเค็มเยอะกันอยู่แล้ว ทั้งกลือ น้ำปลา กะปิ ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว น้ำบูดู น้ำปลาร้า ปลาเจ่า เต้าหู้ยี้ ผงชูรส ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้ม ฯลฯ
ตัวอย่างเช่น ได้ไปหาข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณโซเดียมที่อยู่ใน "ส้มตำปูปลาร้า" พบว่า ผลปรากฏว่า ในตัวอย่างส้มตำปู ปลาร้า หนัก 1 ขีด (100 กรัม) พบโซเดียมในปริมาณมากถึง 702.63-1,622.59 มิลลิกรัม !
แปลว่า ถ้าไปกินส้มตำปูปลาร้า ร้านแซ่บ ๆ รสจัด ๆ จานนึง (ตีน้ำหนักให้จานละ 100-150 กรัม) ก็อาจจะได้รับปริมาณโซเดียมสูงถึง 2 พันมิลลิกรัมแล้ว ! แตะระดับที่ไม่ควรกินเกินต่อหนึ่งวัน และตามเบอร์เกอร์ชีสมาติดๆ เลยนะครับ (แถม ส้มตำนี่ กินกันได้ทุกวันด้วย ส่วนเบอร์เกอร์ชีส คงกินกันนานๆครั้ง ไม่มีใครกินทุกวันมั้ง)
ดังนั้น ท่านที่เป็นแฟน ๆ ของทั้งเบอร์เกอร์ชีส และส้มตำปูปลาร้า ตลอดไปจนถึงอาหารอื่น ๆ ที่มีโซเดียมสูง ก็ขอให้เพลา ๆ ลงนะครับ อย่ากินกันบ่อยนัก หรือลดระดับความเค็มลง เพราะเรายังกินอาหารอื่นๆ ที่ก็มีโซเดียมเจือปนอยู่ด้วย ในแต่ละมือ แต่ละวันครับ