x close

ตำรวจพร้อม ตั้งตู้คอนเทนเนอร์ - รถฉีดน้ำแรงดันสูง รอรับม็อบบุกรัฐสภาวันโหวตนายกฯ


           ตำรวจเตรียมพร้อม ตั้งตู้คอนเทนเนอร์ 40 ตู้ รถฉีดน้ำแรงดันสูง ปิดถนนรอบรัฐสภาเตรียมรับมือม็อบโหวตนายกรัฐมนตรี คาดมี 14 กลุ่มร่วมชุมนุม ส่วน กทม. จัดพื้นที่ชุมนุม รับได้ 200 คน

           วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ถือเป็นวันหนึ่งของประเทศไทยที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นวันโหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 โดย ส.ส. และ ส.ว. โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นแคนดิเดตที่มีลุ้นกับตำแหน่งนี้

           ขณะเดียวกัน สถานการณ์ทางการเมืองก็ถือว่าน่าตึงเครียดไม่น้อย เพราะมี ส.ว. ออกมาประกาศผ่านสื่อว่า จะไม่โหวตให้นายพิธา ทำให้ยังคงต้องลุ้นกันต่อว่า นายพิธาจะได้คะแนนเสียงถึง 375 เสียงหรือไม่ รวมถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องคดีหุ้นไอทีวีและนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลสู่ศาลรัฐธรรมนูญ จนทำให้เมื่อวานนี้มีแฟลชม็อบออกมาต่อต้าน มองว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองเพื่อหาทางสกัดนายพิธา


           ส่วนในวันนี้ เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานว่า ช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจนำรถบรรทุกน้ำ 2 คัน, รถฉีดน้ำแรงดัน 2 คัน พร้อมกับรถเครื่องขยายเสียงอีก 1 คัน เข้าประจำการภายในอาคารรัฐสภา รวมถึงนำแผงเหล็กยึดติดกันตามแนวถนนทหาร เพื่อตั้งเป็นรั้วรอบอาคารชั้นหนึ่ง

           อีกชั้นหนึ่ง มีการขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ 40 ตู้ มากั้นทางเข้า-ออกอีกแนวฝั่งถนนทหารไปจนถึงแยกเกียกกาย เพราะคาดว่า วันนี้จะมีประชาชนมารวมตัวชุมนุมกดดัน ส.ว. ให้โหวตนายพิธาจำนวนมาก


           อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการจัดบริเวณพื้นถนน 1 ช่องจราจร และทางเท้าภายในศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร เกียกกาย (ฝั่งสนามเด็กเล่น) ไว้รองรับผู้ชุมนุม คาดว่าจะรองรับได้ 200 คน แต่ถ้าคนมาเกินกว่าปริมาณจะรับได้ ตำรวจจะปรับพื้นที่ให้ตามความเหมาะสม

           ไทยพีบีเอส รายงานว่า กลุ่มที่จะมาชุมนุมที่หน้ารัฐสภา มีถึง 14 กลุ่ม คาดว่าน่าจะรวมตัวตั้งแต่ช่วงสายจนถึงช่วงเย็น ทางตำรวจจึงวางกำลังป้องกันเอาไว้ ส่วนประชาชนที่อาศัยในชุมชนวัดแก้วฟ้า เขตถนนทหาร ยังสามารถใช้เส้นทางได้ตามปกติ

           สำหรับเส้นทางที่ปิดไม่ให้ประชาชนเข้า จะมี 3 จุด 3 เส้นทางที่มุ่งสู่รัฐสภา ได้แก่ แยกบางกระบือ, แยกบางโพ และถนนทหาร ส่วนเส้นทางที่ใช้ได้ จะเป็นรูปตัว U อ้อมรอบนอกของจุดที่ปิดเอาไว้


ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน ดังนี้


1. การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี

           - ส.ส. ทั้ง 500 คนมีสิทธิ์เสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้คนละ 1 ชื่อ แต่บุคคลที่ถูกเสนอชื่อจะต้องอยู่ในพรรคการเมืองที่มี ส.ส. 25 คนขึ้นไป เมื่อเสนอชื่อแล้ว จะต้องมี ส.ส. รับรองอย่างน้อย 50 คน

           - สำหรับ 9 คนที่มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, นางสาวแพทองธาร ชินวัตร, นายเศรษฐา ทวีสิน, นายชัยเกษม นิติสิริ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, นายอนุทิน ชาญวีรกูล และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ตำรวจตั้งตู้คอนเทนเนอร์ รอรับม็อบบุกรัฐสภา วันโหวตนายก
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

2. การอภิปราย แสดงวิสัยทัศน์

           - สมาชิกรัฐสภาสามารถอภิปรายซักถามผู้ที่ถูกเสนอชื่อได้อย่างเต็มที่ หรือขอมติที่ประชุมให้ผู้ถูกเสนอชื่อ แสดงวิสัยทัศน์

3. การลงคะแนน

           - เป็นการลงมติอย่างเปิดเผย ด้วยการเรียกชื่อ ส.ส. และ ส.ว. ตามลำดับตัวอักษรเป็นรายบุคคล โดยสามารถลงคะแนนได้ 3 อย่าง คือ เห็นชอบ, ไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียง

           - คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ต้องมีเสียงโหวตครึ่งหนึ่งของรัฐสภาหรือไม่น้อยกว่า 376 เสียงจากทั้งหมด 750 เสียง


4. ผลโหวต

           - กรณีโหวตผ่าน หลังจากนี้ประธานสภาจะนำชื่อทูลเกล้าฯ ต่อไป

           - กรณีโหวตไม่ผ่าน จะมีการโหวตต่อไปในวันที่ 19 กรกฎาคม หรือถ้าไม่ผ่านก็จะโหวตอีกครั้งในวันที่ 20 กรกฎาคม ถ้ายังไม่ผ่าน ก็จะมีการเจรจาระหว่างพรรคร่วมต่อไป

สภามีมติรับรองพิธาเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียว


          เวลาประมาณ 10.30 น. สภามีมติรับรองชื่อนายพิธา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวในการโหวตเลือกวันนี้ ด้วยมติ 302 เสียง หลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนอภิปรายและแสดงวิสัยทัศน์ต่อไป




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตำรวจพร้อม ตั้งตู้คอนเทนเนอร์ - รถฉีดน้ำแรงดันสูง รอรับม็อบบุกรัฐสภาวันโหวตนายกฯ อัปเดตล่าสุด 13 กรกฎาคม 2566 เวลา 10:48:12 31,958 อ่าน
TOP