สั่งโจ๊กหมูล้วนร้านดัง พอเปิดถุงเตรียมกินเห็นสีชมพูอยู่ข้างใน นี่มันอะไรกัน พอพลิกดูที่ถุง หมึกปากกาซึมทะลุเข้าไป เกือบไปแล้ว ด้านเพจดังเผยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เกิดขึ้นเพราะอะไร
เมนูโจ๊ก ถือเป็นอาหารยามเช้าที่เรียกว่าเป็นเมนูง่าย ๆ เบา ๆ สบายท้อง สามารถกินได้อย่างรวดเร็วในชั่วโมงเร่งด่วน อีกอย่างหนึ่งดูแล้วเป็นอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ค่อยมีประเด็นดราม่ากันในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับความสะอาด แต่ในกรณีที่เกิดขึ้น อาจจะต้องคิดใหม่แล้ว
วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เฟซบุ๊ก Pimm Guzzo เล่าประสบการณ์การสั่งโจ๊กจากร้านดังแห่งหนึ่ง ซื้อมากินเพื่อให้หายหิว โดยเจ้าตัวได้สั่งทางร้านว่าขอเมนู "โจกหมูล้วน ๆ กลับบ้าน" ซึ่งทางร้านก็จัดให้ตามคำขอ ตักโจ๊กใส่ถุง ส่งถึงมือ กระทั่งเมื่อเจ้าของโพสต์กลับถึงบ้าน กำลังจะนำโจ๊กมากิน สายตากลับเห็นสิ่งแปลกปลอมในถุง ทำไมโจ๊กข้างในมีสีชมพูติดมา มันคืออะไรกัน
พอพลิกดูที่ถุงถึงพบว่า ร้านเขียนคำว่า "หมูล้วน" บนถุงเอาไว้ด้วยปากกาเมจิกสีแดง ที่พีคคือ หมึกได้ซึมลงไปในถุงจนกลายเป็นโจ๊กมีสีชมพู เห็นแล้วชวนสยองมาก ถ้าเช็กไม่ดีมีโอกาสเอาสารเคมีเข้าท้องแบบไม่รู้ตัว
ด้านชาวเน็ตที่เห็นภาพดังกล่าว ต่างตกใจ คิดไม่ถึงเช่นกันว่า หมึกจะสามารถทะลุถุงได้แบบนี้ และแม่ค้าอาจจะไม่รู้ สำหรับสาเหตุความเป็นไปได้ มีคอมเมนต์หนึ่งระบุว่า อาจจะเป็นเพราะใช้ถุงเกรดถูกมาใส่อาหารร้อน แบบนี้ถือว่าอันตรายมาก ถุงใส่อาหารที่ดีควรมีคุณสมบัติทนความร้อนถึง 120 องศาเซลเซียส ถ้าใช้ของดี ปากกาไม่มีวันซึมเข้าไปถึงอาหารแน่นอน
เพจดังเผย ความรู้ทางวิทยาศาสตร์
เมื่อปี 2564 เคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นมาแล้ว และทางเฟซบุ๊ก เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว ออกมาอธิบายถึงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ให้อ่านว่า โดยปกติปากกาเมจิก เรียกตามภาษาปากคือ ปากกาเคมี และสีที่ใช้ย้อมหมึกมักเป็นสีประจุบวก มีความเข้มสูง เมื่อสีเหล่านี้อยู่ในตัวทำละลายอินทรีย์ที่มีขั้วปานกลาง มันก็จะทำให้มีแรงตึงผิวที่ต่ำพอจนสามารถเกาะผิวพลาสติกที่ไม่มีขั้วอย่าง PP หรือ HDPE ที่นำมาทำเป็นถุงพลาสติกได้ดี
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความแตกต่างกันระหว่าง ความมีขั้วจากประจุบวกสีย้อม กับ ความไม่มีขั้วของพลาสติก ทำให้สีเกิดการเคลื่อนตัวหนีพลาสติกได้เสมอ และถ้ามีพลังงานมากพอ และสิ่งที่มีขั้วใกล้เคียงกับสีย้อมตัวนั้นมาดักรออีกฝั่ง เช่น ในถุงโจ๊กก็มีคาร์โบไฮเดรตจากแป้ง โปรตีนจากเนื้อหมูซับอยู่ในซุปร้อน ๆ ซึ่งของเหล่านี้ต่างเป็นโมเลกุลที่มีขั้ว จึงเกิดการดึงดูดกัน สีย้อมรีบปรี่เข้าไปในโมเลกุลที่มีขั้วที่อยู่ในถุงอย่างไม่คิดชีวิต จึงเป็นเหตุการณ์ตามข่าวอย่างที่เห็น
ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุด ไม่ควรนำปากกาเคมีเขียนบนถุงอาหารพลาสติกโดยตรง ถ้าผู้ซื้อเห็นว่าสีเลอะก็ควรทิ้งไป แต่ถ้าเผลอกินไปแล้วก็ไม่ต้องกังวล เพราะความเข้มสีที่เห็นน้อยกว่าปริมาณอันตรายพอสมควร
