ลูกบ้าน แอชตัน อโศก ซื้อห้อง 11 ล้าน พ้อ ไม่รู้มีคดี - หลังตึกแถวไม่ขายรวยอยู่แล้ว

         ลูกบ้าน แอชตัน อโศก รวมตัวออก โหนกระแส เผยซื้อห้อง 8-11 ล้านบาท ไม่เคยรู้มีคดี บริษัทตอบยังไม่มีทิศทางไปต่อ - หลังมีข่าวตึกแถวด้านหลังไม่ขายเป็นทางออก เพราะรวยอยู่แล้ว

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี

          จากกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก โครงการคอนโดมิเนียมหรูเรือธงจาก บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้าน อันเนื่องมาจากข้อพิพาทใช้ทางออกที่เวนคืนเพื่อเป็นทางเข้า-ออกรถไฟใต้ดิน MRT สุขุมวิท มาเป็นทางเข้า-ออกหลักของโครงการ ทำให้ตึกดังกล่าวไม่มีตัวตน กลายเป็นสุญญากาศ เป็นปัญหาตามมาทันที ลูกบ้านที่ซื้อห้องชุดไปแล้วจะทำอย่างไร  


          รายการโหนกระแส ออกอากาศวันที่ 2 สิงหาคม 2566 สัมภาษณ์ พรชัย ตัวแทนลูกบ้าน, โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกอัยการสูงสุด, ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย, กุลชลิกา กรรมการนิติบุคคลอาคารชุดแห่งนี้, พิสุทธิ์ ทนายความ พร้อมลูกบ้านอีกหลายราย

 ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี 

คุณพรชัยเป็นตัวแทนลูกบ้าน ตอนนี้ปัญหาของลูกบ้านคืออะไร ?


          พรชัย : ปัญหาตอนนี้ก็คือว่าหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา วันที่ 27 เราก็ได้เข้าประชุมซูมเจ้าของโครงการ ร่วมกับคณะนิติบุคคล ทุกท่านเข้ามาประมาณ 300 กว่าท่าน ในที่ประชุมยังไม่มีทิศทางให้เรา ยังไม่สามารถบอกได้ว่าทำอะไร เพียงพูดว่าขอเวลาอีก 14 วัน ทางทีมเจ้าของโครงการกำลังหาทางแก้ไขให้เราอยู่ ผมเองก็ถามนะ

คุณซื้อห้องราคาเท่าไหร่ ?

          พรชัย : 7.5 ล้าน เป็นห้อง 34 ตารางเมตร

มีคนซื้อ 11 ล้านกว่าก็มี 46.5 ตารางเมตร แบงก์ว่าไงตอนนี้ ?

          พรชัย : ยังไม่ได้ไปติดต่อ เพราะว่าเราเองยังไม่มีเวลา เราเองวุ่นวายกับเจ้าของโครงการก่อน อยากทราบว่าเจ้าของโครงการจะรับผิดชอบยังไง เพราะตอนนี้ตึกนี้เหมือนตึกเถื่อน ไม่มีใบอนุญาตก่อสร้าง เราเองพอทราบอยู่แล้วว่าถ้าไปที่แบงก์ มันเท่ากับไม่มีมูลค่าอะไรอยู่แล้ว อยากทราบทิศทางก่อนไปคุยกับแบงก์ว่าเจ้าของโครงการทำทางเข้า-ออกอื่นไหม จะทำยังไงให้ถูกกฎหมายก่อน อันนี้เป็นข้อกังวลของลูกบ้านทุกคน

แอชตัน หรืออนันดาฯ ได้ยื่นมือมาบอกเราหรือยังว่าต้องทำยังไงต่อไป ?

          พรชัย : ยังครับ ตอนนี้ในกลุ่มแชตไลน์ ลูกบ้านก็มีความตื่นตระหนก หวาดกลัว ซึมเศร้า บางคนเหมือนสิ้นหวัง ไม่รู้จะทำยังไง ก็คุยกันเอง บางคนบอกจะไปฟ้องศาลปกครองใหม่ ฟ้องได้ไหม บางคนบอกจะตั้งทนายฟ้องฉ้อโกงต่าง ๆ นานา ไม่มีทิศทางอะไรทั้งนั้น วุ่นวายมากครับตอนนี้

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี

ฝั่งคุณชลิกา คุณเองเป็นนิติฯ ?

          กุลชลิกา : เป็นลูกบ้านเหมือนกัน แต่ว่าเป็นกรรมการค่ะ ปัญหาคือตั้งแต่วันที่ตัดสินจนถึงวันนี้ เราได้มีการคุยกับอนันดาฯ พร้อมลูกบ้าน เมื่อ 2 ปีก่อน ตอนที่มีการประกาศศาลชั้นต้นมาครั้งหนึ่ง ที่เคยซูมพร้อมลูกบ้าน แต่เป็นตัวแทนในการคุยอนันดาฯ ว่าให้ช่วยหาทางให้เราที เพราะเราเพิ่งทราบว่ามีคดีและรายละเอียดคดีเป็นอย่างนี้ เราตกใจ เพราะเราเพิ่งเห็นจากสื่อ จนวันนี้ 2 ปีเต็มเดือนกรกฎาคม ประกาศอีกรอบหนึ่ง ซูมอีกรอบหนึ่ง แต่ครั้งนี้เราไม่ได้เป็นคนคุย ลูกบ้านช่วยกันคุย คำตอบของอนันดาฯ ก็เหมือนเดิม ตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนศาลสูงสุด

เขาตอบว่า ?

          กุลชนิกา : ยังไม่ได้คิดแผนว่าจะเอายังไงต่อไปค่ะ

มุมทนาย ?

          พิสุทธ์ : สำนักงานผมได้รับการติดต่อภายหลังจากศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีที่คุณศรีสุวรรณฟ้อง ซึ่งลูกบ้านไม่มีใครทราบเลย เราก็ไม่สามารถร้องสอดไปเป็นคู่ความร่วมได้ เพราะพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด พยายามช่วยเหลือลูกบ้านโดยการเรียกร้อง อย่างน้อยทำให้ลูกบ้านอุ่นใจก็ยังดี เรียกร้องให้เขาทำทั้งหมด 2-3 ทาง หนึ่ง ให้สวิตช์เปลี่ยนแปลงกับโครงการอื่นไหม ให้คืนไหม

หมายถึงให้คนซื้ออาคารแห่งนี้ สวิตช์ไปเป็นอาคารอื่นของทางอนันดาฯ ?

          พิสุทธิ์ : ใช่ครับ แล้วสิ่งที่ลูกบ้านอยากได้จริง ๆ คือความมั่นใจ ทำบันทึกข้อตกลงเท่านั้นเองว่าเจ้าของโครงการจะรับผิดชอบค่าเสียหายกรณีถูกเพิกถอนใบอนุญาตอาคาร เราเรียกร้องตรงนี้มา 2 ปีกว่า คำตอบคือคิดดูก่อน ไม่ทำ เราขอมา 2 ปีกว่านะครับ จากนั้นมาก็มีการเริ่มตั้งทีมกฎหมาย เราทำงานร่วมกับลูกบ้านทั้งหมด 500 กว่าห้องชุด เราเข้าไปร้องสอดในคดีที่สยามสมาคมฯ ฟ้อง ซึ่งศาลก็เห็นว่าได้นำทฤษฎีสัดส่วนมาใช้ ท่านก็อนุญาตให้ไปทำการแก้ไข ซึ่งเป็นผลดี ถึงแม้ตอนนั้นยื่นช้า ยื่นพ้นกำหนดในระยะเวลาที่สิ้นสุดแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว ศาลปกครองกลางท่านก็อนุญาตให้เราเป็นคู่ความร่วมในคดีนั้น แต่คดีนี้เราเข้าไปไม่ทันจริง ๆ ตอนนี้เรากำลังหาทางอยู่ว่าจะทำยังไงให้แก้ไขปัญหาของลูกบ้านได้ มีผลไปในทางที่ลูกบ้านน่าจะพึงพอใจมากที่สุด

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี

ตอนซื้อใหม่ ๆ เราทราบไหมว่ามันไม่มีทางออก เขาแจ้งกับเราไหมว่าเขาไปเช่าทาง รฟม. มา เรารู้ไหม ?

          พรชัย : ตอนนั้นในสัญญาเขียนว่าที่ทางเข้า-ออกสามารถเปลี่ยนแปลงได้ มีระบุในสัญญาว่ามี แต่เราไม่ได้คิดว่าเป็นนัยสำคัญ นัยสำคัญเขาไม่บอกเราก่อนเราโอนว่าอาคารนี้ติดคดีความ นั่นเป็นนัยที่สำคัญมากนะครับ คดีความฟ้องปี 2559 คดีที่ 1 และปี 2560 ฟ้องปีที่ 2 เราโอนปี 2561 เขาต้องมีหนังสือมาบอกว่าติดคดีความ ถ้าพี่หนุ่มทราบว่าตึกนี้ติดคดีความ (ผมไม่ซื้อนะ ผมไม่แลกหรอก ผมไปขอเงินคืนแล้ว)

คุณทราบไหม ?

          กุลชนิกา : ไม่ทราบค่ะ ซื้อตอนปี 2560 ค่ะ ตึกเริ่มขึ้นปี 2552

          พรชัย : ได้รับการอนุญาตใช้ที่ดินปี 2557 ผู้ขายยื่นขออนุญาตสร้างอาคารปี 2558 ปี 2559 ถูกฟ้องร้องคดีที่ 1 ฟ้องโดยชาวบ้าน พี่ศรีไปฟ้องคดีที่ 1 และปี 2560 ฟ้องโดยสยามสมาคมฯ

ปี 2561 ยกคำขอ เหมือนคุ้มครองชั่วคราว แล้วปี 2561 กทม. ออกใบรับรองการก่อสร้างให้ด้วย เพราะเขาอนุญาต เดือนตุลาคมปี 2560 ผู้ฟ้องไปยื่นขอคุ้มครองชั่วคราว ?

          พรชัย : ครับ และถูกยกฟ้อง

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี

วันนี้ข้างหน้า เราต้องการให้อนันดาฯ ชดใช้เรา ถูกไหม ?

          พรชัย : เราต้องการทำให้ทางเข้า-ออกถูกต้องตามกฎหมายและมีใบอนุญาตกลับมาเหมือนเดิม

ทำยังไง ?

          พรชัย : ไปซื้อทางเข้า-ออกใหม่

ข้างหลังเขาบอกไม่ขาย ?

          พรชัย : ยังมีอีก 2 ทางครับ คือ ทางเข้า-ออกปัจจุบันซึ่งมันผิด ข้างนี้ของ รฟม. อีกข้างเป็นทางจำเป็น ตรงนี้ศาลบอกว่าผิด แต่มีอีกทาง สมาคมซิกข์ อีกทางสยามสมาคมฯ ถ้าไม่ทะเลาะกับเขา เขายอมขายให้ก็ง่ายเลย แต่อันนี้คือคดีที่ 2 ที่ไปทำหินหล่นใส่บ้านทรงไทยเขา ใส่รั้วเขา แล้วไม่ไปซ่อม

ตอนนี้ขอแบ่งที่เขาก็ไม่ขายแล้ว ?

          พรชัย : เขาก็พยายามอยู่ครับ อยากขอเจรจา ตรงนี้เป็นอีกทาง

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี

เช่าได้ไหม ?

          พรชัย : ศาลมองว่าอนาคตเกิดเขาไม่ให้เช่า ในคำพิพากษาศาลใช้คำว่ามันต้องมี ตราบใดที่ยังดำรงอยู่ ต้องมีเป็นของตัวเอง เช่าไม่ได้

          พิสุทธิ์ : ไม่ใช่ครับ หมายถึงให้ใช้ได้ตลอดระยะเวลาที่อาคารตั้งอยู่ เช่าก็ได้ ต้องเช่าตราบเท่าที่อาคารตั้งอยู่ ต้องให้เช่าระยะยาว ไม่มีกำหนดเวลา

ซึ่งใครจะมาให้เช่าอย่างนั้น ?


          พรชัย : รฟม. เป็นข้าราชการ เขาให้เช่าอย่างนั้นไม่ได้อยู่แล้ว 30+30 ไปอีกทีละ 30 ปี ศาลกลัวว่าถ้าเกิดจะใช้ที่ก็ไม่มี นี่ก็เป็นประเด็นที่แพ้คดีความไป

ลูกบ้านหลากหลายความคิดเห็น อาจไม่ได้เหมือนคุณพรชัย บางคนอยากขอไปเอาคอนโดที่อนันดาฯ สร้างตรงอื่นได้ไหม เขาก็ไม่ให้ ?

          กุลชนิกา : เขาไม่ยอมเซ็นเอกสารที่เราไปยื่นให้เขาเลย

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี

เหมือนตอนนี้ลูกบ้านเป็นตัวประกัน ?

          กุลชนิกา : ใช่ค่ะ เราเป็นตัวประกันมานานแล้ว และเราก็เข้าใจว่าศาลปกครองจะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีที่รัฐรังแกประชาชน หรือทำให้ประชาชนเดือดร้อน ตอนนี้คุณศรีสุวรรณฟ้องราชการ 5 หน่วยงาน อนันดาฯ คือผู้ร้องสอด ผลสรุปคือ 5 หน่วยงานผิดด้วยขั้นตอนในการขอยื่นต่าง ๆ แต่คนที่ถูกลงโทษในตอนนี้คือลูกบ้าน วันที่ศาลตัดสินออกมา เพื่อนขับรถอยู่ เราอ่านข้อความคุณศรีสุวรณ เย่ แอชตัน อโศก โดนเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง เพื่อนเราร้องไห้เลย ลูกตัวเล็ก ๆ 7 ขวบ นั่งอยู่ข้าง ๆ ถามว่าแม่เป็นอะไร (เสียงสั่นเครือ) อธิบายไม่ถูก มันซับซ้อนค่ะ จะบอกว่าเราอาจไม่มีบ้านก็ได้อย่างนี้เหรอ

อยู่ดี ๆ แม่กลายเป็นหนี้ หนี้สูญด้วย โดยไม่มีทรัพย์สินด้วย ?

          กุลชนิกา : ใช่ เราติดลบนะคะ ไม่ได้บวก การที่บอกว่าเดี๋ยวไปฟ้องเอา ในตึกเรา มูลค่า 6,800 ล้าน คนมองเราเป็นคอนโดหรู จริง ๆ แต่ละห้องที่เราอยู่เล็กนิดเดียว ห้องเรา 30 ตารางเมตร เราเลือกอยู่ที่นี่เพราะเราอยากได้ทำเล มันใกล้ที่ทำงาน เดินทางสะดวก ใกล้รถไฟฟ้า เราไม่ได้อยู่ห้องใหญ่โต เราคิดว่าเราซื้อความสะดวกสบาย เราอยู่ใกล้รถไฟฟ้าเพราะเราไม่ต้องเดินทางไกล มันก็ช่วยลดโลกร้อนได้ ถูกไหม

บางที่ 30 ตารางเมตรก็ขายกัน 3-4 ล้านแล้ว ดูตามเอกสาร เขาบอกว่าใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารยื่นคำขอรับอนุญาตน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถามคุณเก๋ อันนี้คืออะไร ?

          เก๋ เยาวลักษณ์ ทนาย : อันนั้นเป็นคำสั่งศาลปกครอง ระหว่างที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนฟ้องคดี เนื่องจากคดีใช้เวลานาน เขาก็ไปยื่นคำขอให้ศาล มีคำสั่งให้อนันดาฯ หยุดก่อสร้างระหว่างพิจารณาคดี เงื่อนไขทางกฎหมายระงับให้ก่อสร้างต้องประกอบด้วย 2 ประการ คือ 1. ใบอนุญาตน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2. มีเหตุผลสมควรสั่งให้ระงับการก่อสร้างไว้ก่อน จะได้ทันท่วงทีในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ฟ้องคดี

          เหตุผลที่ 1 ศาลว่าใช่ แต่ไม่ระงับการก่อสร้างเพราะขาดเงื่อนไขข้อที่ 2 เนื่องจากตอนไปยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ทางอนันดาฯ ได้สร้างโครงสร้างไปถึงชั้น 50 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดแล้ว ศาลก็เลยมองว่าเป็นจุดร้ายแรงที่สุดที่สั่นสะเทือนสร้างความเสียหายต่อคนรอบข้าง มันผ่านพ้นไปหมดแล้ว ก็เลยถึงจะสั่งให้หยุดการก่อสร้างตอนนี้ก็ไม่ได้ช่วยเหลือชุมชนรอบข้างที่เป็นผู้ฟ้องคดีในเวลานั้นได้แล้ว แต่ศาลมีบอกด้วยว่าการที่อนันดาฯ จะเดินหน้าโครงการต่อไป หากภายหน้าถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต้องมีการรื้อถอนอาคาร เป็นเรื่องที่อนันดาฯ ต้องรับความเสี่ยงภัยที่จะต้องรับผิดต่อเจ้าของร่วมเอง

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี

ต้องชดใช้ลูกบ้านใช่ไหม มีระบุเอาไว้ในนั้นเลย ?

          เก๋ เยาวลักษณ์ : ใช่ค่ะ มีระบุเอาไว้ 2 ครั้งในคดีนี้ เพราะถัดมาอีก ทาง กทม. ก็ไม่ออกใบรับรองการก่อสร้างให้หลังสร้างเสร็จ ทางอนันดาฯ ก็เลยมาร้องต่อศาลอีกว่าให้ศาลช่วยมีคำสั่งหน่อยว่าการฟ้องคดีไม่ได้เป็นการชะลอหรือยับยั้งการออกใบรับรองการก่อสร้างนะ เพราะพอมีคดีแบบนี้ ทาง กทม. ไม่ออกใบรับรองให้เลย พอมีการฟ้องคดีนี้ กทม. ไม่ออกใบรับรองให้ ทำให้เขาหยุดชะงัก เขาก็เอาเป็นเหตุผลไปอ้างในศาลว่าถ้าไม่ออกใบรับรองการก่อสร้างให้ ลูกบ้านที่มาซื้อโครงการเขาจะเดือดร้อน

          ในศาลก็อ้างลูกบ้าน ถ้าเขาโอนไม่ได้ ลูกบ้านก็เดือดร้อน ศาลก็ให้เหตุผลว่าศาลไม่ได้มีหน้าที่ไปสั่ง กทม. ให้เขาออกใบรับรอง อ.6 นะ เพราะการออกหรือไม่ออกใบรับรอง อ.6 ตรงนี้ มันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของ กทม. ในนามกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งคนอนุญาตเขาอาจต้องมีความรับผิด แต่ทางอนันดาฯ ต้องรับผิดชอบนะ จะทำอะไรก็ทำไป แต่ต้องรับผิดชอบ

ภาษาชาวบ้าน ศาลทิ้งไว้นิดหนึ่ง ต่อไปในอนาคตให้สร้างต่อได้ สุดท้ายถ้าเกิดความเสียหายหรือเพิกถอนต่าง ๆ นานา คุณต้องรับผิดชอบลูกบ้าน แต่อนันดาฯ ยังเพิกเฉยอยู่ เรื่องนี้ยังไงดี ?

          โกศลวัฒน์ : เรื่องนี้จะเป็นบทเรียนทั้ง 2 ด้าน บทเรียนสำหรับบริษัทที่สร้างคอนโดขาย และบทเรียนประชาชนที่จะเป็นคนไปซื้อคอนโดว่ากรณีเรื่องนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขกันยังไง เมื่อวานเห็นข่าวท่านผู้ว่าฯ กทม. ออกมาบอกว่าถ้ามีปัญหาโครงการต้องออกมารับผิดชอบ วันที่ 3 หรือวันพรุ่งนี้ ทางผู้ว่าฯ จะแถลงข่าว ผมก็มองว่าอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ถ้าปัญหานี้เกิดจากกฎหมาย คือไปขอใบอนุญาตก่อสร้าง เราก็ควรต้องใช้กฎหมายแก้ปัญหา คือขอความชัดเจนที่ กทม. ว่าเมื่อศาลปกครองสูงสุดท่านตัดสินแล้วว่าใบอนุญาตก่อสร้างไม่ถูกต้อง โครงการนี้ถ้าจะไปต่อให้ถูกต้อง จะมีการแก้ไขอย่างไร

          อย่างที่บอกว่าจะมีทางออกทางอื่นไหม ถ้าทางออกทางอื่นสามารถแก้ไขได้ ทุกคนก็คงมีความสุขอยู่กันต่อไป เพราะเราเข้าใจว่าบางคนซื้ออาคารชุด ทั้งชีวิตมีห้องเดียว ต้องผ่อนทั้งชีวิต ตรงนี้ควรหันมาแก้ด้วยกฎหมายก่อน ว่าเกิดปัญหาแล้ว กฎหมายให้เราเดินต่อยังไง ไปเดินร่วมกัน ทั้งบริษัทและผู้ซื้ออยู่อาศัย แล้วฟังถ้อยคำข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ให้ชัดเจนแล้วไปเจรจา เพียงแต่ชั้นต้นเราอาจไม่ได้เอกสารทั้งหมด ถ้าท่านมาเราจะดูให้ว่าอะไรจะช่วยได้บ้าง จะยุติธรรมกับทุกฝ่ายครับ  

อาจารย์โสภณเป็นผู้คร่ำหวอดอสังหาฯ ตอนนี้มูลค่าอสังหาฯ ตัวนี้เป็นยังไง ?


          ดร.โสภณ : ตอนนี้อาจประเมินไม่ได้แล้ว เนื่องจากมีปัญหานี้อยู่ แต่ตอนนี้สร้างไปถึงชั้น 50 แล้ว การฟ้องร้องมีข้อพิพาทน่าจะนานแล้ว ตอนนี้จะให้เขาเลิกสร้างก็กระไรอยู่ ถ้าเกิดมีการตัดสินภายในเวลาสั้น ๆ คงไม่เสียหายขนาดนี้ แต่นี่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2560 ถึงปี 2566 การแก้ไขปัญหาอย่างนี้ก็เป็นบทเรียนอย่างหนึ่ง เราควรมีความรวดเร็วกว่านี้

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี

มีคอนโดแบบนี้อีกไหม ?

          ดร.โสภณ : เยอะเลยครับ

หมายถึงคอนโดที่ไปเช่าที่คนอื่นเพื่อเป็นทางออกเหรอ ?

          ดร.โสภณ : ครับ เช่น ทางออกกรุงเทพฯ-ชลบุรี สายใหม่ โครงการจัดสรรอยู่ทางรถไฟทั้งหลาย เช่าที่ 30 ปีทั้งนั้น แต่บางแห่งไม่ต้องเช่าก็ได้ อย่างการประปาฯ หรืออื่น ๆ สามารถขอใช้ทางออกได้ กรณีนี้อาจต้องเจรจากับทาง รฟม. ว่าทางออกที่มีอยู่แล้วก็ใช้ได้อยู่แล้ว จะไม่ต้องเช่า ถือว่าช่วยชาวบ้าน

แต่ข้อกฎหมายมันไม่ได้แบบนั้น ?

          โกศลวัฒน์ : ก็ต้องไปดูกฎหมายองค์กร ศาลปกครองเขาตัดสินว่าไม่มีสิทธิ์ให้เช่า ทีนี้รายละเอียดคงต้องเอาเอกสารมาดูว่าจะเป็นทางอื่นอย่างไร ต้องประชุมหารือกัน

กรณีแอชตันจะกลายเป็นบรรทัดฐานไหม ที่อาจารย์บอกมีอีกเป็นสิบเลย ถ้าวันหนึ่งมีคนไปยื่นบ้านว่าแอชตันโดนอย่างนี้แล้วไม่มีทางออก แอชตันโดนเพิกถอนแล้วคุณไปเช่าที่ไหน รฟม. เหมือนกันไหม เอาที่ไหนมา เพราะจริง ๆ เขามีข้อกำหนดไม่ใช่เหรอว่าอาคารชุดต้องมีทางออกเป็นของตัวเอง แสดงว่าคอนโดเหล่านั้นอาจต้องปิดตัวเหมือนกันเหรอ ?

          ดร.โสภณ : ปิดครับ อย่างโรงแรมที่ซอยร่วมฤดี ศาลสั่งมา 11 ปีแล้วว่าต้องรื้อ แต่ก็ยังอยู่

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี

ชาวบ้านจะซื้อคอนโดต้องตัดสินใจยังไง จะรู้ได้ไงว่าเขาไม่ไปเช่าที่หลวง แล้วหลวงมาทำแบบนี้ ?

          โกศลวัฒน์ : ดูบทเรียนจากเรื่องนี้ ต่อไปนี้ถ้าซื้อคอนโดขอดูทางเข้า-ออกเขาว่าเขาได้สิทธิ์อะไรมาตามกฎหมาย ขอตรวจเอกสาร ถ้าไม่มั่นใจถามผู้รู้กฎหมาย โทร. ไปถามอัยการคุ้มครองสิทธิ์ช่วยเหลือประชาชนก็ได้ หรือสายด่วน 1157 หรือรู้จักนักกฎหมายว่าอย่างนี้เสี่ยงอะไรไหม เรื่องนี้ที่เกิดขึ้นแล้วก็ขอให้เป็นบทเรียนกับสังคมที่จะซื้อคอนโด บทเรียนผู้ประกอบการถ้ามีข้อพิพาทขึ้นมา มันอาจแตกลูกหลานเป็นคดีใหญ่โตไปก็ได้ ซึ่งวันนั้นก็เป็นภาระแก่กระบวนการยุติธรรม และกระทบต่อความเชื่อมั่นในสังคมไทย ว่ากฎหมายเราต้องคุ้มครองทุกคนให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาค สะเทือนเศรษฐกิจไปด้วยในเวลาเดียวกัน

เรื่องนี้กลายเป็นบรรทัดฐานเหมือนกัน เพราะมีอีกสิบกว่าคอนโดที่ไปเช่าทางออก แล้วถ้ามีคนไปสะกิดนิดหนึ่งว่าแอชตันยังโดนศาลปกครองสั่งเพิกถอน แล้วของคุณทำยังไง ถ้าปิดตัวกันหมดแล้วชาวบ้านที่ไปซื้อแล้ว บางคนผ่อนหมดแล้ว บางคนกู้หนี้ยืมสิน ต้องออกจากคอนโดนั้นหมดเลย เพราะเป็นคอนโดที่เป็นสุญญากาศ ?

          พรชัย : แค่แนวถนนอโศกก็มีเป็นสิบแล้ว เพราะเขาเวนคืนยาวเลย

          กุลชนิกา : ตามสัมภาษณ์ผู้ว่า รฟม. คนก่อน ที่เขาอนุมัติให้แอชตัน เขาบอกว่าที่ใดมีการเปิดทาง ที่นั่นมีการก่อสร้าง แสดงว่าไม่ใช่แค่สิบค่ะ มีเป็นร้อย

          โกศลวัฒน์ : คำพิพากษาปกครองในวันนี้ก็คือบรรทัดฐานทางกฎหมายแล้ว ในการขออนุญาตก่อสร้างต่อไป และเป็นบรรทัดฐานของประชาชนทุกคนที่คิดซื้อคอนโด ซื้อหมู่บ้านจัดสรร ที่ต้องมีทางเข้า-ออก ท่านต้องตรวจให้รอบคอบแล้ว

กลายเป็นประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องตรวจเอง ทั้งที่มันควรเป็นเรื่องของภาครัฐที่ตรวจสอบตั้งแต่แรกหรือเปล่า ?

          โกศลวัฒน์ : เรื่องการออกใบอนุญาต อย่างที่เห็น กทม. ได้ออกใบอนุญาต แต่ใบอนุญาตนั้นก็มีเงื่อนไขตามที่ท่านผู้ว่าฯ ได้บอก ประชาชนอาจไม่ได้เห็น ไม่ได้อ่าน

          ดร.โสภณ : กรณีที่ กทม. มีเงื่อนไข สร้าง 50 ชั้นแล้วค่อยมาฟ้องร้องอย่างนี้ จะบอกว่า กทม. ต้องรับผิดชอบ ให้ปัดความรับผิดชอบคงไม่ได้ เกิดศาลปกครองสั่งแบบนี้ กทม. สิ่งแวดล้อม อีก 5-6 หน่วยงานต้องรับผิดชอบ อาจไม่ได้หมายถึงอนันดาฯ หรือชาวบ้าน คำพิพากษานี้อาจเป็นบรรทัดฐานยังไม่ได้นะครับ  

          พิสุทธิ์ : ผมตั้งข้อสังเกต คำพิพากษานี้ของศาลปกครองเป็นที่น่าสังเกตมาก ไม่ค่อยมีนะครับ ที่คำพิพากษาของศาลสูงสุดในประเทศนี้มีความเห็นแย้ง ไม่ใช่แค่ฝ่ายเดียวนะครับ มี 2 ฝ่าย ท่านตุลาการศาลปกครองสูงสุด 19 ท่าน มีเห็นเสียงข้างน้อยว่าสามารถแก้ไขได้ กับไปขอ ครม. ได้ อีกท่านบอกไม่ผิดเลย ให้ยกฟ้อง กรณีนี้น่าศึกษามาก เพราะไม่ค่อยมีเลย

          โกศลวัฒน์ : คำว่าบรรทัดฐานผมหมายถึงเราต้องระมัดระวังไงครับ ถ้าทางเข้า-ออกไม่ได้ซื้อไว้เป็นโฉนดของโครงการเอง ต้องไปใช้สิทธิ์เช่าหรืออะไรก็ตามที่ถูกรอนสิทธิ์ทีหลัง อันนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคทุกคนต้องช่วยกันระวัง อย่างน้อยเกิดปัญหาแล้ว ท่านฟ้องคดีได้ก็ตาม แต่ผมก็ไม่อยากให้ทุกคนไปนั่งฟ้องคดี

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี

นี่ไม่ได้เกี่ยวรวยหรือจน เกี่ยวกับคอนโดที่อาจเป็นหลักแสนหลักล้านธรรมดา ไม่ใช่ 7 ล้านด้วยซ้ำ เพราะคอนโดไปขึ้นแต่ละที่ ต้องดูดี ๆ ว่าทางเข้า-ทางออกถูกต้องไหม มีการไปเช่าที่ไหนหรือเปล่า เพราะมาตรฐานใหม่อาจเกิดขึ้นแล้ว เมื่อก่อนทุกคนอาจมองข้ามไป ว่าก็เช่าเหมือนกันหมดนั่นแหละ ก็อยู่กันได้ แต่ล่าสุดไม่ใช่แล้ว ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว เพราะทางออกไม่มี เขามีกำหนดไว้ 12 เมตรที่ต้องมี แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าคุณไม่มีของตัวเอง แล้วการสร้างอาคารชุด เขามี พ.ร.บ. เอาไว้เลยว่าต้องมีถนนเป็นของตัวเอง 12 เมตร ถ้าจะเช่าต้องไม่มีกำหนดระยะเวลา นั่นหมายความว่าจนกว่าคอนโดแห่งนี้จะหายไป แต่ ณ วันนี้ในมุมกลับกัน รฟม. เขาให้เช่า 30 ปี หมายถึงว่าแอชตันไม่ได้เป็นเจ้าของโดยบริบูรณ์ มันมีระยะเวลา สำคัญมาก จะซื้อที่ไหนต้องดูให้ดี ๆ ตอนนี้จะทำยังไง ลูกบ้านต้องการความชัดเจน เรื่องการดูแล การเยียวยา ?

          โกศลวัฒน์ : ที่ยกให้ดู ขอความชัดเจนจาก กทม. ถ้าตอนนี้ใบอนุญาตมีปัญหาแล้ว เราจะแก้ไขให้ถูกกฎหมาย ขอแนวทางว่า กทม. จะทำอย่างไร อยากให้ผู้ซื้ออาคารตั้งผู้แทนเข้าไป ไปกับผู้ขาย เพื่อไปพบ กทม. และหาทางแก้ไขปัญหาชั้นต้นว่าที่ถูกมีช่องทางไหนบ้าง เช่น ซื้อทางออก หรือขอทางออกใคร ขอความเห็นใจ นี่คือแก้ด้วยกฎหมาย แก้ด้วยระเบียบ เมื่อใบอนุญาตก่อสร้างตอนนี้ศาลตัดสินแล้วว่าไม่ถูกต้อง แก้ไขด้วยกฎหมายคือ กทม. เห็นว่าตามระเบียบตามกฎหมายควบคุมอาคารสามารถแก้ไขยังไงได้ ไปช่วยกันเดินตามนั้น

          ผู้แทน ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ประกอบการ ต้องจับมือกันแล้วนะครับเข้าไปดู จับมือหารือแก้ไข แต่ถ้าแก้ไม่ได้ เดินต่อก็ยุ่งแล้วนะครับ ผู้บริโภคถูกรอนสิทธิ์ ท่านก็เรียกร้องเอากลับจากบริษัทตามสัญญาซื้อ-ขายที่ท่านทำมา ซึ่งตรงนี้จะเข้าสู่คดีผู้บริโภค ก็คงต้องมีการโต้แย้งสิทธิ์นำกันไปสู่ศาล นี่คือการแก้ปัญหาตามกฎหมาย ตามลำดับ ตามสเต็ป สุดท้ายกฎหมายจะให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

อนันดาฯ ยื่นขอใบอนุญาตกับ กทม. ใหม่ได้ไหม ?

          โกศลวัฒน์ : หาทางออกไงครับ ตามที่ผู้ว่าฯ ออกมาบอกแล้วว่ามันน่าจะมีทางออกไหม ถ้าเขาออกมาแล้วแสดงความรับผิดชอบโครงการนี้ว่าจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร ถ้าไปได้ คนซื้อจะได้หยุด ตอนนี้ผู้อยู่อาศัยใจหายหมดทุกคนแล้วว่าจะได้ไปต่อไหม ในชั้นต้นแก้ปัญหากันด้วยกฎหมาย ร่วมมือกันก่อน เอาผู้แทนฝ่ายผู้ซื้อไปช่วยรับฟังด้วย และมาถ่ายทอดข้อมูลที่ถูกต้อง ทุกคนต้องออกมาจริงใจต่อกันและนำไปสู่การแก้ปัญหา มีช่องทางไหนแก้ได้ ถ้าแก้ได้ไปเจรจาขอร้อง ในประเทศไทยไม่มีอะไรเจรจาไม่ได้ เคยทำผิด ล่วงเกินใครเขาไว้ ก็ให้เห็นแก่ส่วนรวม เขากำลังประสบปัญหา

          ซึ่ง 500 คนเขาไม่ได้ทำผิด ไม่ได้มารู้ด้วยตอนก่อสร้าง แล้วมาร่วมชะตากรรมกัน ดังนั้นการเจรจาชั้นต้น ข้อพิพาทที่อัยการคุ้มครองผู้บริโภค เราเจรจาบนโต๊ะ ส่วนมากจบได้ ถ้าไม่ได้เรายินดีช่วยเจรจา ถ้ามีอะไรที่จะช่วยได้ เรายินดีลงไปช่วย ช่วยเจรจา ช่วยไกล่เกลี่ย ช่วยชี้แจง ท่านจะได้ตัดสินใจกันได้ถูก และได้รับความยุติธรรมทุกฝ่าย

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี

ตอนนี้อยากให้เป็นยังไง ?

          พิสุทธิ์ : เราเตรียมการแล้ว พรุ่งนี้ไปยื่นหนังสือท่านผู้ว่าฯ แล้ว หลังท่านแถลง ตอนนี้ที่เราอยากได้คือส่วนแรกคือความชัดเจน ไม่ใช่มายื่นแถลงการณ์ว่าจะไปฟ้องหน่วยงานราชการเพื่อเอาเงินมาเยียวยาลูกบ้าน หมายถึงปัดความรับผิดชอบต่อลูกบ้าน เพราะโยนความผิดให้หน่วยงานราชการ ซึ่งก็ไม่ถูกต้องต่อข้อเท็จจริง และอยากให้เขาแสดงความจริงใจ เราขอมานานแล้ว ขอแค่บันทึกข้อตกลงอันเดียวว่าเขาจะรับผิดชอบกรณีอาคารถูกรื้อถอนหรือถอนใบอนุญาต เราขอมา 2 ปียังไม่ได้อะไรกลับมา ก็เล่นเกมแบบนี้มาเรื่อย ๆ ก่อนหน้านี้เราไปคุยในชั้นกรรมาธิการ ชั้นผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็สิ้นสุดไปแล้ว ไม่มีการดำเนินต่อ เว้นว่างไป 8 เดือน

          พรชัย : เรามีไปคณะกรรมการคุ้มครองทั้งหมด 3 ครั้ง วันประชุมซูมเราก็ชี้แจงว่าเราไปตั้งแต่กรกฎาคม 2565 ใบบันทึกมีเขียนว่าผู้แทนอนันดาฯ บอกว่ามีแนวทางแล้ว แก้ไขเยียวยา แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นอะไร

ความเดือดร้อนลูกบ้านเป็นยังไงบ้าง ?

          ลูกบ้าน : ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้ รีไฟแนนซ์ไม่ได้ ซื้อ-ขายไม่ได้ บางท่านได้ยินมาว่าไม่สามารถปล่อยเช่าได้ เพราะไม่มั่นใจว่าจะยกเลิกสัญญาเมื่อไหร่ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นครับ

คุณรุ่งล่ะ ?

          รุ่ง : คือการปล่อยเช่าคือปล่อยเช่ายาก เพราะเกิดเหตุแล้ว จะขายก็ขายไม่ได้ ก็รับภาระอย่างนี้ มีการกู้แบงก์ก็ติดขัดไปหมดทุกอย่าง

มองว่าผู้ประกอบการทางอนันดาฯ ก็ต้องเป็นข้อพิพาทกับ กทม. แต่มุมกลับกันจะมาบอกว่าจะเอาเงินจาก กทม. มาจ่ายลูกบ้าน แบบนี้ไม่ถูกต้อง จริง ๆ อนันดาฯ ต้องรับผิดชอบดูแลลูกบ้านอีกส่วน ?

          โกศลวัฒน์ : พูดโต้แย้งสิทธิ์ให้จับคู่เป็นคู่ ๆ แล้วว่าคดีเป็นคู่ ๆ ตอนนี้เมื่อคนซื้อเดือดร้อน ต้องมองว่าอันดับแรกควรเยียวยาให้ผู้บริโภคในชั้นต้น

          ดร.โสภณ : ก็ต้องเยียวยาไปพร้อม ๆ กัน ไม่ใช้ผู้บริโภคก่อนเสมอไป ต้องฟ้องร้องกันไปเป็นคู่ ๆ ไม่ใช่ผู้บริโภคต้องได้รับก่อน ต้องว่ากันแบบแฟร์ ๆ ทั้ง 2 ฝ่าย

          ทั้งนี้ สามารถติดตามชมรายการโหนกระแส ดำเนินรายการโดย หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี

ดร.โสภณ

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี

โกศลวัฒน์

ลูกบ้าน แอชตัน อโศก พ้อ ไม่รู้มีคดี

เยาวลักษณ์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกบ้าน แอชตัน อโศก ซื้อห้อง 11 ล้าน พ้อ ไม่รู้มีคดี - หลังตึกแถวไม่ขายรวยอยู่แล้ว อัปเดตล่าสุด 8 สิงหาคม 2566 เวลา 11:35:02 13,050 อ่าน
TOP
x close