ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้องวินิจฉัยโหวตนายกรอบ 2 ชี้พิธาต้องมาร้องเอง

          ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ตีตกคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งตีความปมเสนอชื่อ นายพิธา โหวตนายกซ้ำรอบ 2 เหตุผู้ร้องไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยตรง 

          จากกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น

          อ่านข่าว : ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ปมพิธาไม่ได้โหวตนายกฯ รอบ 2 ขัดรัฐธรรมนูญ

          ล่าสุดวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการพิจารณาคำร้องที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีรัฐสภา มีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิ หรือเสรีภาพของบุคคลจากการกระทำละเมิดโดยใช้อำนาจรัฐ

พิธา

          แต่บุคคลที่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือเสรีภาพโดยตรง สำหรับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 159 วรรคหนึ่งให้สภาพิจารณา ให้ความเห็นชอบเฉพาะจากบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอ และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ตามมาตรา 88 เท่านั้น ดังนั้น ผู้มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาต้องเป็นผู้ที่พรรคการเมืองเสนอตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง อันเป็นสิทธิเฉพาะบุคคลที่รัฐธรรมนูญ 2560 ก่อตั้งขึ้น เป็นหลักการใหม่ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกเหนือจากสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในหมวด 3 เมื่อผู้ร้องเรียนทุกคนไม่ใช่บุคคล ที่พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อไว้ ว่าจะเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ ทั้งไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อต่อรัฐสภา

          ผู้ร้องเรียนทุกคนจึงไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ประกอบมีช่องทางในการยื่นคำร้องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะแล้ว ดังนั้นผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้


          ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เนื่องจากผู้ร้องทั้ง 3 ไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิโดยตรง เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว คำขอให้คำสั่งชะลอการโหวตนายกรัฐมนตรีออกไป จึงเป็นอันตกไป

ศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ

เกาะติด ข่าวการเมือง ล่าสุดวันนี้มีประเด็นอะไรน่าสนใจบ้าง


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้องวินิจฉัยโหวตนายกรอบ 2 ชี้พิธาต้องมาร้องเอง อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2566 เวลา 17:06:56 37,867 อ่าน
TOP
x close