ทนายแจงปมร้านดังไล่ส่งโนติส 102 ล้านคิดค่าลิขสิทธิ์คำว่าปังชา ทำเจ้าของร้านกุมขมับ ความจริงไล่ทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะเป็นคำสามัญ และเอกสารการจดทรัพย์สินทางปัญญาก็ระบุชัดเจนว่ามีการยกเว้น
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ปังชา
จากกรณีที่ร้านอาหารชื่อดังที่ออกมาระบุว่า จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญากับเมนูปังชา ดังนั้นจึงได้รับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข เรื่องนี้ทำให้คนไทยงงมาก แบบนี้ร้านอื่น ๆ ที่ขายเมนูคล้ายกันจะไม่สามารถใช้ชื่อปังชา หรือทำเมนูปังชาขายได้หรือ ? ทั้งที่ของหวานนี้ก็เป็นอะไรที่เป็นเมนูสามัญ
อย่างไรก็ตาม มีรายงานเพิ่มเติมว่า มีร้านขายขนมปังปิ้ง-ชา เครื่องดื่มที่ จ.เชียงราย มีทนายส่งคำเตือนเรียกเงิน 102 ล้านบาท ทั้งที่ร้านเปิดมาตั้งแต่ปี 2564 ส่วนบริษัทดังกล่าวเพิ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 2-3 เดือนก่อน เจอแบบนี้คนโดนเรียกเงินก็งงทันที เพราะโลโก้ร้านก็ไม่เหมือนกัน และไม่มีเจตนาลอกเลียนแบบ ตอนนี้เจ้าของร้านเครียดมาก เพราะปรึกษากรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็ให้ข้อมูลไม่ตรงกัน อยากให้นักกฎหมายแม่น ๆ คอยช่วยเหลือด้วย ถ้าต้องจ่าย 100 ล้าน จะเอาเงินที่ไหนไปจ่าย
อ่านข่าว : สรุปดราม่าจดทะเบียน ปังชา สงวนสิทธิ์ห้ามเลียนแบบ - ร้านชื่อเหมือนโดนเรียก 102 ล้าน !
ล่าสุด วันที่ 30 สิงหาคม 2566 เฟซบุ๊ก บันทึกทนายน้อย:The Little Lawyer Diary มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ พร้อมแนบเอกสารลิขสิทธิ์ว่า ในการจดทะเบียนของทางร้าน มีการระบุข้อจำกัดสิทธิ์ที่ว่า "ข้าพเจ้าไม่ขอถือเป็นสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้ อักษรโรมันและอักษรไทยทั้งหมดที่ปรากฏอยู่บนเครื่องหมาย ยกเว้นคำว่า KAM"
เท่ากับว่า คำว่าปังชาอยู่ในโลโก้อะไร ก็ถือว่าไม่ผิดเครื่องหมายการค้า เพราะทางเจ้าของลิขสิทธิ์เขียนระบุสละสิทธิ์เอาไว้ ยกเว้นคำว่า KAM หรือแม้กระทั่งจะจดลิขสิทธิ์คำว่า "ปังชา" ก็ไม่ได้ เพราะเป็นคำทั่วไป ดังนั้น การไล่หว่านเรียกค่าเสียหายในจำนวนที่สูงจากร้านเล็กร้านน้อยที่มีคำว่า "ปังชา" อยู่ในชื่อ เมนู เมื่อเทียบกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแบบคลุมเครือและอ้างสิทธิเกินจริง จะสามารถมองให้เป็นการใช้สิทธิสุจริตได้หรือไม่ ?
ทนายความดัง ร่วมเฟิร์ม ไล่เบี้ยเก็บค่าเสียหายแบบนี้ไม่ได้
ขณะที่เฟซบุ๊ก Dr. Pete Peerapat ของนายพีรภัทร ฝอยทอง CFP ทนายความและนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล แสดงความคิดเห็นโดยยกมาตรา 6(1) พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้ามาประกอบ ระบุว่า เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
ความหมายคือ ถ้าเราทำบิงซู น้ำแข็งไส ใส่ขนมปัง ราดด้วยชาเย็น ลักษณะสามัญคือ ขนมปัง ชาเย็น น้ำแข็งไส ถ้าจะจดทะเบียนได้ ต้องไม่มี 3 อย่างนี้ ถ้าจะจดทะเบียนรวมไปด้วย จะต้องมีการ "สละสิทธิ์" 3 อย่างนี้
ดังนั้น สิ่งที่จะจดเครื่องหมายการค้าได้ จะต้องเป็นพวกรูป ฟอนต์ ที่มีลักษณะเฉพาะของทางร้านเท่านั้น ทางร้านยังคงสามารถใช้ชื่อเดิมต่อไปได้ และก็ไม่มีใครเรียกค่าเสียหายจากคำว่า "ปังชา" ได้ด้วย ถ้าถูกส่งโนติสจริง ๆ สามารถไปสู้ที่ศาลต่อได้แน่นอน
ภาพจาก หมายจับจากบรรจง