วิเคราะห์ บิว วราภรณ์ ติด ตม. เกาหลี ทำไมมีเอกสาร-มีเงิน ไม่ช่วยอะไร พลาดตรงไหน มาดู !

          วิเคราะห์เคส บิว วราภรณ์ ติด ตม. เกาหลี ไม่ผ่านเพราะอะไร ทำไมมีเอกสารอัดแน่น มีประวัติเข้า-ออกเป็นสิบครั้ง ตั้งใจจะมาเที่ยว แต่ไม่ช่วยอะไรเลย มันมีอะไรผิดพลาดตรงไหน มาดูกัน


          จากกรณีสุดดราม่า เมื่อ บิว วราภรณ์ อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ติด ตม. เกาหลี และถูกส่งตัวกลับประเทศไทย จนหลายคนงงใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่บิวมีเงิน มีงาน เป็นคนดัง ไม่ได้จะไปเป็นผีน้อย จนล่าสุด (21 กันยายน 2566) บิวได้ออกมาไลฟ์เล่าเรื่องนี้กว่า 2 ชม. อธิบายละเอียดยิบว่าเจออะไรมาบ้าง

คาด บิว วราภรณ์ พลาดจากการตอบ 4 คำถาม ตอบมั่ว - อธิบายไม่เคลียร์ พยายามปิดประเด็น เป็นเหตุพิรุธ

          ทั้งนี้ สิ่งสำคัญด่านแรกที่จะต้องทำให้ได้คือ การตอบคำถาม ตม. และมีความจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องอธิบายทุกอย่างให้ ตม. เข้าใจ หากผ่านด่านนี้ไม่ได้ ด่านอื่นก็ยากที่จะผ่าน การตอบคำถามนั้นเราต้องตอบให้ได้ด้วยคำพูดของเราเอง คำตอบนั้นต้องฟังแล้วเป็นเหตุเป็นผล อย่ามองแค่ว่าการตอบได้ = ตอบไปแล้ว แล้วทาง ตม. จะพอใจ แม้ว่าเราจะตอบในสิ่งที่เป็นจริง ไม่โกหกปิดบัง หาก ตม. ไม่พึงพอใจและมองว่าคำตอบนั้นไม่เป็นเหตุเป็นผล ก็เป็นเหตุให้ ตม. ปฏิเสธการเข้าเมืองได้


          ในกรณี บิว วราภรณ์ จะสังเกตว่า ตม. ได้ถามคำถาม 4 คำถาม คือ


          - บิวได้ลงทะเบียน K-ETA เองหรือไม่

          - ค่าลง K-ETA เท่าไร

          - พูดถึงเรื่องทริปเมื่อเดือนมิถุนายน

          - คุณได้รับเงินใช่หรือไม่

          แต่คาดว่าบิวน่าจะตกที่ด่านนี้ เพราะแม้บิวจะบอกว่าลง K-ETA เอง แต่บิวกลับเจอคำถามหลอกที่ว่า ค่าลง K-ETA เท่าไร บิวไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ทันที และต้องมีการถามคนอื่น ก่อนที่บิวจะตอบไปมั่ว ๆ ว่า 800-1,000 บาท ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่สร้างพิรุธให้ ตม. จุดแรก ตม. ไม่ได้ต้องการตัวเลขเป๊ะ ๆ เป็นเศษสตางค์ แต่ควรจำได้คร่าว ๆ ว่าประมาณเท่าไร แต่นอกจากบิวจะพยายามไปติดต่อถามคนอื่นแล้ว ตัวเลขที่บิวตอบนั้นค่อนข้างห่างจากค่าลงทะเบียนพอสมควร (ค่าธรรมเนียมลงทะเบียน K-ETA = 10,300 วอน ประมาณ 280 บาท)

          เมื่อถามถึงเรื่องทริปเมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งคนในทริปของบิวมีปัญหาติด ตม. และบิวโดนร่างแหไปด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ บิวกลับพยายามบอกว่าเรื่องมันจบไปแล้ว เคลียร์เรียบร้อยแล้ว พยายามโชว์หลักฐานเอกสารต่าง ๆ หรือพยายามให้ติดต่อไปคุยกับทางแบรนด์เอง ซึ่งในความเป็นจริงบิวต้องอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนให้ ตม. ฟังโดยละเอียดด้วยคำพูดของตัวเองว่าจริง ๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น เรื่องนี้คือเรื่องที่เกิดระหว่างบิวและ ตม. การพยายามอ้างอิงคนอื่น หรืออ้างอิงบริษัท เพื่อมาช่วยอธิบายแทน ตม. ไม่ทำอยู่แล้ว หากบิวพยายามบอกว่าเรื่องมันจบไปแล้ว เลี่ยงความพยายามอธิบายตรงจุดนี้ และไปเอาคนอื่นมาเกี่ยว และบอกให้ ตม. โฟกัสที่ทริปนี้ซึ่งเป็นทริปเที่ยวจริง ๆ ก็เป็นเหตุให้ ตม. มองเป็นพิรุธได้

          และข้อสุดท้ายคือ แม้ในการเชิญครั้งก่อน ทางแบรนด์จะเชิญมา โดยมีบัตรเชิญ ออกตั๋วเครื่องบินให้ ค่าที่พัก และให้ของไปรีวิว แต่เนื่องจากทาง ตม. ไปพบเจอในมือถือของบิวว่า บิวได้ช่วยโปรโมตสินค้าให้ทางแบรนด์ แม้ไม่ได้เป็นเงิน แต่ได้เป็นของ มีผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน และ ตม. ก็ถามย้ำในจุดนี้ ดังนั้นตรงนี้สามารถตีความได้ว่าเป็นการทำงาน ไม่ใช่การมาท่องเที่ยวจริง ๆ

           เช่นเดียวกันกับที่บิวยกเคสว่า ตอนที่อยู่ในห้องเย็นได้เจอคนไทยด้วยกันที่ติด ตม. คนไทยคนนั้นสามารถตอบได้ว่าแพลน 5 วันไปไหนบ้าง แต่เมื่อถามว่าจะต้องใช้เงินเท่าไร คนไทยคนนั้นกลับตอบว่าไม่รู้ว่าจะใช้เงินเท่าไร ซึ่งการตอบว่าไม่รู้ อ้างอิงคนอื่น ตอบมั่ว ล้วนแล้วแต่ทำให้ ตม. มองเป็นพิรุธได้ทั้งหมด


ไขข้อสงสัย เอกสารแน่นมาก ตั้งใจจะมาเที่ยว ทำไมไม่ช่วยในเคส บิว วราภรณ์

          อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะมองว่าถ้าอธิบายไม่เก่งก็ให้ดูเอกสารไป ซึ่งในบางครั้งเคสแบบนี้ก็ใช้ได้ แต่ในหลาย ๆ ครั้งก็ใช้ไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อบิวไม่ผ่านด่านสัมภาษณ์แล้ว ด่านเอกสารก็ยากที่จะผ่าน

          เหตุที่หลายครั้ง ตม. ไม่ดูเอกสารนั้น เนื่องจากเอกสารต่าง ๆ สามารถปลอมแปลงขึ้นมาได้หมด และ ตม. มีเวลาจำกัดในการตัดสินเคส หาก ตม. ยึดที่เอกสาร ก็ต้องเอาเอกสารนั้นไปพิสูจน์อีก เช่นในเรื่องของสเตตเมนต์ ใครก็สามารถยืมเงินคนอื่นมาตบแต่งบัญชีให้ดูดีได้ หรือตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ก็สามารถจองปลอม ๆ จองไม่จ่ายเงินได้ หรือบางคนจองแบบจ่ายเงินแล้วก็เปลี่ยนที่พัก ทิ้งที่พักได้ แม้ว่าทริปนี้บิวตั้งใจจะมาเที่ยว พาแฟนมาตัดสูทแต่งงาน เอกสารครบ มีคนอ้างอิง แต่เอกสารเหล่านั้นต้องผ่านการพิสูจน์ และเมื่อบิวไม่สามารถให้คำตอบที่พึงพอใจกับ ตม. ได้ตั้งแต่รอบตอบคำถาม เอกสารหรือคนอ้างอิงที่บิวยกมาก็ไม่ช่วยอะไรทั้งนั้น


บิว วราภรณ์ มาร่วมงานอีเวนต์ ถือเป็นการทำงานหรือไม่


          หากไปเปิดดูกฎหมายชัด ๆ จะพบว่า การทำงานคือการที่ฝั่งหนึ่งจ้างและมีค่าตอบแทนให้ ซึ่งค่าตอบแทนนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงิน แต่อาจจะเป็นสิ่งของ หรือมีผลประโยชน์ให้ และคนที่จ้างไม่จำเป็นต้องเป็นคนเกาหลี อาจจะเป็นคนชาติไหนก็ได้ หากเกิดในแผ่นดินเกาหลีก็สามารถตีความเป็นการทำงานได้หมด เช่น นายจ้างจากประเทศไทย อนุญาตให้นายเอ (นามสมมุติ) ทำงานที่ไหนก็ได้ โดยรับค่าตอบแทนเป็นสิ่งของ นายเอเลยยกคอมพิวเตอร์ไปทำงาน Work From Home ที่เกาหลี ในกรณีนี้ก็สามารถตีความได้ว่าเป็นการมา "ทำงาน" จริง ๆ แม้นายเอจะไม่ได้มีนายจ้างจากเกาหลี และไม่ได้รับเงินก็ตาม

          เช่นเดียวกันกับกรณีของบิว ที่แบรนด์เกาหลีในไทยได้จ้างให้บิวมาร่วมงานหนึ่ง โดยมีของตอบแทนคือสินค้านั้น และบิวก็โปรโมตสินค้าให้ ในกรณีนี้แม้บิวไม่ได้รับเงินเป็นเงินวอน แบรนด์เชิญมา แต่สามารถตีความได้ว่าคือการทำงานเหมือนกัน เพราะมีผลประโยชน์ให้กัน ดังนั้นหากอยากถูกต้องตามกฎหมายจริง ๆ บิวต้องไปทำวีซ่าทำงาน   


เอกสารไม่ช่วย คนอ้างอิงไม่ช่วย แบบนี้อยากเที่ยวเกาหลี ต้องทำยังไง


          แม้จะจริงที่ว่า ตม. คือคนที่ตัดสินว่าเราจะได้เข้าหรือไม่ได้เข้าประเทศ และยิ่งคนไทยที่มีประวัติการหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นอย่างมากในเกาหลีใต้ ก็ยิ่งถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ แต่หากใครมีเจตนาบริสุทธิ์จริง ๆ ในการท่องเที่ยว สิ่งสำคัญก่อนไปคือ เข้าใจว่าเราจะไปทำอะไร ไปไหน พักที่ไหน กลับวันไหน และอาจจะเตรียมเอกสารโดยพรินต์ใส่กระดาษไปให้ดี หากโดน ตม. เรียก ก็ให้อธิบายในจุดที่ ตม. สงสัยให้กระจ่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในอดีตที่คิดว่าจบไปแล้ว ทริปนี้ที่ยังไม่เกิด รวมถึงภาพต่าง ๆ ในมือถือหาก ตม. ค้นเจอ หากให้คำตอบที่ไม่น่าพึงพอใจ แม้ว่าคำตอบนั้นจะเป็นความจริงทุกประการ ท่านก็อาจจะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศได้เช่นกัน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิเคราะห์ บิว วราภรณ์ ติด ตม. เกาหลี ทำไมมีเอกสาร-มีเงิน ไม่ช่วยอะไร พลาดตรงไหน มาดู ! อัปเดตล่าสุด 25 กันยายน 2566 เวลา 11:58:59 49,061 อ่าน
TOP
x close