x close

เลื่อนปล่อยดาวเทียมสำรวจโลกธีออส 2 ของไทย 14 วิก่อนปล่อยจริง แจงยิบสาเหตุ


          เลื่อนปล่อยดาวเทียมสำรวจโลก ธีออส 2 (THEOS-2) แบบกะทันหัน 14 วินาทีก่อนถึงเวลา หลังพบปัญหาทางเทคนิค ยัน ความปลอดภัยต้องมาก่อน

ดาวเทียมสำรวจโลกธีออส 2

          วันที่ 7 ตุลาคม 2566 ไทยพีบีเอส รายงานว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ องค์การมหาชน หรือ จิสด้า ส่งดาวเทียมสำรวจโลกธีออส 2 (THEOS-2) ขึ้นสู่วงโคจร มีกำหนดส่งในเวลา 08.36 น. ตามเวลาประเทศไทย จากท่าอวกาศยานยุโรป เฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้

          ทั้งนี้ ดาวเทียมดังกล่าวเป็นดาวเทียมสำรวจ สามารถถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมาก พร้อมนำข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินไม่ต่ำกว่า 7.4 หมื่นตารางกิโลเมตรต่อวัน

          สำหรับภารกิจหลักของดาวเทียมดังกล่าว คือ การบันทึกภาพพื้นผิวโลกทั้งในประเทศไทยและพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศให้เป็นปัจจุบัน บริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งการเกษตร บริหารจัดการน้ำ จัดการภัยธรรมชาติ จัดการเมืองทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการวิเคราะห์และประเมินพื้นที่เพาะปลูกพืชต่าง ๆ คาดการณ์ผลผลิต เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม ก่อนการปล่อยดาวเทียมธีออส 2 ประมาณ 14 วินาที มีการแจ้งเตือนสถานะตัวแดง ดังนั้นจึงเลื่อนการนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรออกไป และตรวจสอบปัญหาอีกครั้งว่าเกิดอะไรขึ้น

ดาวเทียมสำรวจโลกธีออส 2

แจงสาเหตุต้องเลื่อน ความปลอดภัยมาก่อน


          เฟซบุ๊ก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มีการอธิบายถึงศัพท์ทางเทคนิคของเหตุการณ์นี้ คำว่า Scrub ในวงการอากาศยานแปลว่า การระงับอย่างกะทันหัน ใกล้กับระยะเวลาปล่อยตัว ตรงข้ามกับคำว่า Delay ที่มีการตัดสินใจกันล่วงหน้า

          ในวงการอากาศยาน การจะ Scrub การบินได้ต้องมีเงื่อนไขแบ่งเป็น 2 หมวดหลัก ๆ คือ ปัญหาที่เกิดจากสภาพอากาศและปัญหาทางเทคนิค ถ้าเกิดจากสภาพอากาศ เช่น มีเมฆหนาเกินไป มีพายุฝนฟ้าคะนอง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตรายต่อตัวอากาศยานหรือนักบินได้

          ส่วนปัญหาทางเทคนิค เกี่ยวข้องกับการขัดข้องของอุปกรณ์ภาคพื้นดินที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยยาน จนถึงเรื่องความเสียหายของชิ้นส่วนยานที่มีความเสี่ยงการปล่อยตัวเช่นกัน

          หากวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ สามารถคาดการณ์ได้ว่า การเลื่อนนำส่งดาวเทียมธีออส 2 มาจากความไม่สมบูรณ์ทางเทคนิค ส่วนกำหนดการปล่อยยานอีกครั้งจะขึ้นอยู่กับระดับความไม่สมบูรณ์ที่ตรวจพบ ต้องซ่อมแซมและทดสอบการทำงานของอุปกรณ์นั้น ๆ ก่อน แม้การนำส่งจะล่าช้าออกไป แต่ความปลอดภัยต้องมาก่อน ทางทีมงานจะรวบรวมความคืบหน้าและสรุปมาให้อ่านโดยไว


ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยพีบีเอส, เฟซบุ๊ก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เลื่อนปล่อยดาวเทียมสำรวจโลกธีออส 2 ของไทย 14 วิก่อนปล่อยจริง แจงยิบสาเหตุ อัปเดตล่าสุด 7 ตุลาคม 2566 เวลา 14:15:46 44,534 อ่าน
TOP