x close

ศาลพิพากษา สั่งเพิกถอนใบสั่งจราจร-ค่าปรับย้อนหลัง ใครจ่ายแล้วมีสิทธิ์เรียกเงินคืน


          เปิดคำพิพากษา ศาลเพิกถอนใบสั่ง ค่าปรับจราจรย้อนหลังถึงปี 2563 งานนี้รอสำนักงานตำรวจแห่งชาติอุทธรณ์หรือไม่ ถ้าไม่อุทธรณ์ หลายคนสามารถเรียกเงินย้อนหลังได้

ใบสั่งจราจร
ภาพจาก Prapat Aowsakorn / Shutterstock.com

          วันที่ 7 ตุลาคม 2566 เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า ศาลปกครองกลางมีการเผยแพร่คำพิพากษาในคดีที่นางสุภา โชติงาม ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขอให้ศาลมีคำสั่งพิพากษาดังนี้

          1. เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องกำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ. 2563 วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และ พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563

          2. ทุเลาการบังคับตามประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวจนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุด

          ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางรับพิจารณาคดีและพิเคราะห์ มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 2 เรื่องคือ

          1. การกำหนดแบบใบสั่งโดยทำให้ผู้รับใบสั่งเข้าใจว่าเป็นคนมีความผิด ต้องชำระค่าปรับโดยมิอาจโต้แย้ง ถือว่าขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 29 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ดังนั้น ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ. 2563 จึงเป็นการออกกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          2. ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และ พ.ศ. 2563 เรื่องนี้สรุปได้ว่า การกำหนดค่าปรับตายตัวล่วงหน้าโดยเจ้าหน้าที่ มิอาจใช้ดุลยพินิจในการเปรียบเทียบปรับให้เหมาะสม ขัดต่อกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรใช้ดุลพินิจกำหนดค่าปรับตามความเหมาะสม และเป็นการขัดแย้งกับมาตรา 140 วรรค 4 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2562 ถือว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          ดังนั้น ศาลมีคำสั่งพิพากษาเพิกถอนกฎหมายทั้ง 2 ข้อ อย่างไรก็ตาม ท่านหนึ่งระบุว่า กฎดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย เพราะการไม่ระบุข้อความให้โต้แย้งได้ ไม่ใช่การตัดสิทธิโต้แย้งของผู้รับใบสั่ง เพราะหากพ้นกำหนดใบสั่งแล้วยังไม่ไปชำระ ก็เป็นอำนาจเจ้าพนักงานในการฟ้องตามกฎหมาย ผู้รับใบสั่งจึงมีสิทธิโต้แย้งเมื่อคดีมาสู่ศาล ไม่ใช่การตัดสิทธิ์

          ทั้งนี้ คำพิพากษานี้ยังไม่ถือว่าสิ้นสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา หากไม่มีการยื่นอุทธณ์ถือว่าคดีสิ้นสุด และอาจจะหมายความว่า ใบสั่งที่ออกมาแล้วถือเป็นโมฆะ ไม่มีผลตั้งแต่ต้น ผู้ที่เคยได้รับใบสั่งจ่ายค่าปรับไปแล้วก็รับค่าปรับคืนมา ดังนั้น ต้องหาทางออกให้เหมาะสม

ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ออนไลน์



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศาลพิพากษา สั่งเพิกถอนใบสั่งจราจร-ค่าปรับย้อนหลัง ใครจ่ายแล้วมีสิทธิ์เรียกเงินคืน โพสต์เมื่อ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 14:19:59 13,424 อ่าน
TOP