ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคำสั่งกรมสรรพากร เรื่อง การเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศ มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำให้ผู้อยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
1. บุคคลซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรที่มีเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษีดังกล่าว และได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม ให้บุคคลนั้นมีหน้าที่นำเงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษีที่ได้นำเงินได้พึงประเมินเข้ามาในประเทศไทย
2. บรรดาระเบียบข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบรับข้อหารือ หรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก
3. คำสั่งนี้ให้เริ่มใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่นำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
รวมถึงหลักการรับรู้เรื่องรายได้ทั่วโลกที่ผ่านมาก็เปลี่ยนไป และในระยะยาวอาจต้องแก้ไขประมวลรัษฎากร เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ ทั้งหมดที่ทำก็เพื่อการเก็บภาษีอย่างถูกต้องและเป็นธรรมสำหรับคนไทย ที่มีการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ
ด้านกรุงเทพธุรกิจ เผยว่า ผู้ที่จะได้รับผลกระทบเรื่องนี้มากที่สุดคือ คนที่อยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป และมีรายได้จากต่างประเทศ เช่น ฟรีแลนซ์ที่รับงานจากต่างประเทศ, นักลงทุน, คนที่มีรายได้จากต่างประเทศ และไม่จำกัดเฉพาะคนไทย แต่ยังรวมไปถึงคนต่างชาติที่มาอยู่ในไทยด้วย แต่หากเป็นคนไทยที่ไปตั้งรกรากอยู่ที่ต่างประเทศ และไม่ได้กลับไทย ก็ไม่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้