แรงงานไทยในอิสราเอล พูดเอง เหตุไม่อยากกลับไทย ความแตกต่างที่ไทยให้ไม่ได้ อยู่ต่อแม้จะกลัว !

          แรงงานไทยในอิสราเอล พูดถึงสาเหตุที่ไม่อยากกลับไทย กับโอกาสที่เมืองไทยให้ไม่ได้ ตอนนี้อยู่ในที่ปลอดภัย ใจ 80% ยังอยากอยู่ต่อ


แรงงานไทย
ภาพจาก ช่องวัน

          วันที่ 11 ตุลาคม 2566 ในรายการ เรื่องใหญ่รายวัน ได้สัมภาษณ์ คุณป๋อง ซึ่งเป็นแรงงานไทยในอิสราเอล ระบุว่า ตอนนี้ตนอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ที่นี่มีคนไทยอยู่ประมาณ 50 คน ตนยังรู้สึกหดหู่ ขวัญเสียมาจากที่เดิม เราเจอสถานการณ์หลายอย่างที่กระทบกระเทือนใจ เจอคนแขน-ขาขาด หัวขาด ตัวขาดครึ่งก็มี แรงงานไทยบางคนเพิ่งเดินทางมาถึงอิสราเอลก็เจอสถานการณ์รุนแรงเลยก็มี

          เมื่อวานที่อพยพออกมาจากพื้นที่ได้นั้น เกิดจากการที่ทหารอิสราเอลมาช่วยอพยพ เอารถบัสมาช่วยเหลือและส่งทหารมาคุ้มกัน ในระหว่างทางก็เจอรถเละเยอะ มีศพเกลื่อนตามถนนหนทาง และมีเสียงระเบิดตูมตามบ้าง บางคนเขาก็แนะนำให้ปิดมือถือ แต่ตนไม่ได้ปิดและเปิดมือถือตลอด เพราะสัญญาณไม่ดี บางทีก็คลื่นหายไปเลยก็มี

          เมื่อถามว่าคุณป๋องอยากกลับเมืองไทยไหม คุณป๋อง บอกว่า ตนอยากกลับเมืองไทย 20% อีก 80% ก็อยากอยู่ต่อ เพราะว่ามันได้อะไรที่แตกต่างจากเมืองไทย ทั้งสวัสดิการ ค่าแรง เพราะที่เมืองไทยจะหาเงินเดือน 40,000-50,000 บาท แทบจะไม่มี เราตัดสินใจมาที่นี่เพราะโอกาสที่ดีกว่า เดือนเดือนหนึ่งอย่างน้อยก็ได้ 50,000 บาทอยู่แล้ว

แรงงานไทย
ภาพจาก ช่องวัน

          เมื่อถามว่าไม่กลัวเหรอ เพราะไม่รู้ว่าเขาทำสงครามกันจะจบตอนไหน คุณป๋อง บอกว่า ก็กลัวอยู่ ขวัญเสียอยู่ ซึ่งมีคนไทยหลายคนไม่อยากกลับเมืองไทยเช่นกัน บางคนเพิ่งมาใหม่ ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเยอะ แสนกว่าบาท เงินเดือนเดือนแรกยังไม่รับก็มี

          ในส่วนของนายจ้างนั้นเขาบอกว่าจะอพยพลูกน้องไปอยู่ในที่ปลอดภัย ส่วนในพื้นที่ทำงานเดิม หากเคลียร์จนปลอดภัยแล้วก็จะให้กลับมาทำที่เดิม แต่ถามว่าลูกน้องอยากกลับไปที่เดิมไหม ก็ 50:50 หากเปลี่ยนนายจ้างได้ก็ดี ส่วนคนไทยที่ตกค้างบนพื้นที่สีแดงนั้นก็เยอะอยู่ บางคนก็อยู่กลางป่า เราพยายามติดต่อช่วยเหลืออีกแรง


คลิปจาก ข่าวช่องวัน

          เปิดใจอีกหนึ่งแรงงาน ห่างฉนวนกาซา 5 กม. แต่ยังไม่ได้อพยพ ขอกลับไทย ไม่เอาแล้วอิสราเอล

          ด้านช่อง 3 รายงานว่า ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปพบกับนางสาวสุจิตรา อายุ 33 ปี สามีคือ นายวิทยา อายุ 37 ปี ซึ่งไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้ประมาณปีกว่า ผ่านกรมการจัดหางาน สามีเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งค่าเครื่องบิน ค่าตรวจโรค ประมาณ 150,000 บาท ทำสัญญากับนายจ้าง 5 ปี 3 เดือน ได้เงินเดือนเดือนละ 70,000 บาท และส่งกลับมาที่ไทยเดือนละ 50,000 บาท สามีเก็บไว้ใช้ 20,000 บาท

แรงงานไทย
ภาพจาก ช่อง 3

          ทั้งนี้ ปกติตนจะวิดีโอคอลคุยกับแฟนทุกวันเวลา 16.00 น. ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรง สามีก็ยังวิดีโอคอลมาคุยและบอกว่ามีการยิงกัน แพนกล้องให้เห็นภาพการยิงสกัดของจรวด ตนก็บอกให้สามีระวังตัว ในตอนนี้ตนและสามียังติดต่อกันได้ตลอด ซึ่งสามีจะเป็นฝ่ายโทร. มา และนายจ้างบอกว่าทุกวันพุธต้องไปส่งผัก สถานการณ์วันนี้ก็ยิงกันน้อยลง โดยนายจ้างให้ไข่มา 1 แผง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 4 ซอง แบ่งกันกินกับเพื่อน

          จุดที่สามีอยู่คือเมือง Yakhini ห่างจากฉนวนกาซา 5 กม. เป็นพื้นที่สีแดง มีเพื่อนแรงงาน 5 คนอยู่ที่นั่นจาก จ.อุดรธานี ชัยภูมิ และเชียงราย ทั้งหมดพักในแคมป์คนงานที่แยกกันคนละห้องคล้ายตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนนายจ้างอยู่ในบังเกอร์

          ตนยอมรับว่าร้อนใจ เนื่องจากสามีอยู่ในพื้นที่สีแดง และตนก็ได้ติดต่อไปยังสถานทูตไทยในเมืองเทลอาวีฟ เพื่อลงทะเบียนขอความช่วยเหลือสามี ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ขอชื่อ นามสกุล และพิกัดของสามี ได้รับคำตอบว่าสถานที่ที่สามีของตนอยู่นั้นไม่ใช่พื้นที่เร่งด่วน ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน เพราะตรงนั้นห่างจากฉนวนกาซา 5 กม. ตอนที่ตนคุยกับสามี เขาก็บอกว่าอยากกลับประเทศไทย ไม่อยากอยู่เพราะไม่ปลอดภัย แต่ไม่รู้จะได้กลับเมื่อไร หากกลับก็คงไม่มาทำงานที่นี่แล้ว คงทำงานที่อื่นแทน

          ด้านนายวิทยาเปิดใจว่า วันแรกที่ยิงกันนั้นตนเกือบเอาชีวิตไม่รอด กลุ่มฮามาสเข้ามาบุกยิงไปทั่ว แต่ทหารเข้ามาช่วยเหลือทันพอดี และมีการโต้กลับจนกลุ่มฮามาสโดนยิง 4-5 คน ในด้านความปลอดภัยนั้นตนถือว่าปลอดภัยประมาณหนึ่ง มีทหารอิสราเอลตระเวน แต่เริ่มขาดแคลนอาหาร มีแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไข่ 1 แผง น้ำดื่ม แบ่งกันกิน 5 คน และแต่ละคนไม่ได้หลบในบังเกอร์ เราได้มีการแจ้งสถานทูต สถานทูตก็แจ้งว่าจะดำเนินการให้ แต่เราออกไปไหนไม่ได้ ไม่มีรถวิ่งนอกจากรถทหาร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แรงงานไทยในอิสราเอล พูดเอง เหตุไม่อยากกลับไทย ความแตกต่างที่ไทยให้ไม่ได้ อยู่ต่อแม้จะกลัว ! อัปเดตล่าสุด 16 ตุลาคม 2566 เวลา 18:14:41 80,568 อ่าน
TOP
x close